xs
xsm
sm
md
lg

ออกกฎหมายชะลอการฟ้องคดีอาญาเพื่อใคร?

เผยแพร่:   โดย: นายหิ่งห้อย

เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ........หรือ เป็นที่รู้จักกันว่า “กฎหมายชะลอการฟ้องคดีอาญา” เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน (กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ 1 มีนาคม 2559) พอสรุปเป็นใจความสำคัญว่า

“กฎหมายฉบับนี้เราใช้เวลากว่า 40 ปี ซึ่งมีความพยายามหลายครั้ง แต่ที่ล่าช้าส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งในส่วนราชการตำรวจ อัยการ ศาล ต่างไปทำกฎหมายมาคนละฉบับ แต่วันนี้เราร่วมมาเป็นอันเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้ให้มีการไกล่เกลี่ยชั้นตำรวจ โดยคู่กรณีต้องยินยอมทั้งคู่ เมื่อไปถึงอัยการก็จะสั่งชะลอฟ้องและดูความประพฤติ ถ้าความผิดนั้นไม่ใหญ่โต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือกระทำความผิดโดยประมาท ข้อหาอะไรก็ชะลอได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ทั้งหมดอัยการจะเป็นผู้พิจารณา นับว่าเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ กั้นคนล้นคุก ” นั้น

ผู้เขียนเห็นว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริงดังคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม ก็เชื่อว่ารัฐสภาในอดีตคงพิจารณาผ่านกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับไปนานแล้ว

แต่เหตุผลที่ยังไม่สามารถออกกฎหมายฉบับนี้ได้ ก็เพราะศาลยุติธรรมได้คัดค้านร่างกฎหมายชะลอการฟ้องคดีอาญาตลอดมาว่า การออกกฎหมายให้อัยการมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งชะลอการฟ้องผู้ต้องหาที่กระทำความผิดในคดีอาญา โดยปราศจากการตรวจสอบจากศาลยุติธรรมหรือองค์กรอื่นใดซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมนั้น จะเกิดความไม่โปร่งใสได้ง่าย และก่อให้เกิดการปฏิบัติต่อผู้เสียหายและผู้ต้องหาในการให้ความเป็นธรรมที่ไม่เท่าเทียมกัน

ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า “แต่วันนี้เราร่วมมาเป็นอันเดียวกัน” เสมือนหนึ่งว่า ศาลยุติธรรมได้เห็นชอบด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยแล้วนั้น ก็ไม่เป็นความจริง กรณีอาจเป็นเรื่องที่นายวิษณุ เครืองาม เข้าใจคลาดเคลื่อนเพราะได้รับข้อมูลผิดพลาดก็เป็นได้

และที่กล่าวอ้างว่า กฎหมายฉบับนี้มีประโยชน์เพราะเป็นการกั้นคนล้นคุกนั้น ก็ไม่ถูกต้องอีกเช่นกัน เนื่องจากว่า แม้ไม่มีมาตรการชะลอการฟ้อง แต่กรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่ามีเหตุผลสมควรที่จะให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาที่กระทำผิดได้กลับตนเป็นพลเมืองดี ก็สามารถแถลงพฤติการณ์แห่งคดีตามสำนวนการสอบสวนประกอบกับความเห็นของพนักงานอัยการให้ศาลทราบ เพื่อใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ทันที

แต่เมื่อพิจารณาจากอดีตที่ผ่านมา การที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยนั้น ไม่พบว่ามีการแถลงต่อศาลถึงเหตุผลที่จำเลยสมควรได้รับความปราณีเลย มีแต่จะขอให้ลงโทษสถานหนักเท่านั้น แต่ขณะนี้กลับมีแนวความคิดจะให้โอกาสแก่ผู้ต้องหากลับตนเป็นพลเมืองดีโดยไม่ต้องฟ้องศาล และเสนอร่างกฎหมายการชะลอการฟ้อง เพื่อให้อำนาจแก่พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจสั่งชะลอการฟ้อง โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ

ที่สำคัญก็คือ ภายใต้บังคับของร่างกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่มีฐานะทางสังคมต่างกัน ผู้ต้องหาที่มีฐานะดีหรือมีอิทธิพลอาจใช้ทรัพย์สินเงินทองซื้อหาความยุติธรรมได้ด้วยการชดใช้ค่าเสียหาย หรือบีบบังคับให้ผู้เสียหายจำต้องยินยอมตกลงไม่เอาความแก่ผู้ต้องหา เพื่อให้มีการสั่งยุติคดีอาญาด้วยการสั่งชะลอการฟ้อง ทำให้ผู้กระทำผิดคดีอาญาไม่ต้องถูกฟ้องและปราศจากมลทินได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

การนำมาตรการชะลอการฟ้องซึ่งให้อำนาจพนักงานอัยการสั่งชะลอการฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีที่มีหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงถึง 5 ปี และผู้กระทำโดยประมาทอันเป็นความผิดทางอาญานั้น ย่อมจะเกิดผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่มีการแบ่งแยกอำนาจและตรวจสอบอำนาจกันอย่างชัดเจนและโปร่งใส ระหว่างอำนาจฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการกับอำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดี

ส่วนที่มีการกล่าวอ้างกันว่า ประเทศในทวีปยุโรปและเอเชียหลายประเทศนำมาตรการชะลอการฟ้องมาใช้นั้น ก็ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าได้ผลดีและเป็นที่พึงพอใจของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่

แต่กลับมีตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นชัดเจน ในกรณีพนักงานอัยการใช้อำนาจสั่งชะลอการฟ้องนายโออุระ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกระทำความผิดทางอาญาข้อหาให้สินบนสมาชิกสภาไดเอทหลายคน เพื่อให้ผ่านร่างกฎหมายขยายการสะสมอาวุธ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนชาวญี่ปุ่นว่า พนักงานอัยการอยู่ภายใต้อำนาจของคณะรัฐมนตรี

อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในประเทศเยอรมันนีก็คือ กรณีที่พนักงานอัยการสั่งชะลอการฟ้องในคดียักยอกทรัพย์ของพรรคการเมืองซึ่ง นายเฮล์มุท โคล์ อดีตนายกรัฐมนตรี 16 ปี ของประเทศเยอรมันนี ตกเป็นผู้ต้องหา โดยพนักงานอัยการกำหนดเงื่อนไขให้นายเฮล์มุท โคล์ บริจาคเงินแก่องค์กรการกุศลจำนวนหนึ่งนั้น ก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายชะลอการฟ้องเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อประโยชน์แก่ผู้มีฐานะทางสังคมสูงหรือนักการเมือง

การที่จะนำมาตรการใด ๆ ที่ใช้อยู่ต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทยนั้น สมควรมีการศึกษาวิจัยถึงสภาพสังคม วัฒนธรรม นิสัยใจคอ ค่านิยม ประสิทธิภาพขององค์กรผู้ใช้อำนาจ ระบบกระบวนการยุติธรรม และระบบตรวจสอบการใช้อำนาจในประเทศนั้น ๆ ด้วยว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างจากสังคมไทยหรือไม่ เป็นต้นว่า ผู้พิพากษาและอัยการในประเทศเยอรมันต่างก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งหน้าที่กันได้ตลอดเวลา บางประเทศ ผู้พิพากษาและอัยการมาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ

มิใช่ว่าจะต้องลอกเลียนแบบต่างชาติเพื่อให้เห็นว่า ระบบกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นสากล เพราะมีการใช้มาตรการชะลอการฟ้องที่ให้อำนาจพนักงานอัยการเพิ่มขึ้นเหมือนกับประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส หรือประเทศญี่ปุ่น เท่านั้น

ในเมื่อระบบกระบวนการยุติธรรมไทยปัจจุบันซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการมีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาที่มีหลักฐานว่าได้กระทำความผิดทางอาญา โดยให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษาคดีต่อหน้าคู่ความโดยเปิดเผย ก็เป็นระบบที่มีการถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างโปร่งใสดีอยู่แล้ว

รัฐบาลจึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะนำมาตรการชะลอการฟ้องมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมของไทย

ผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรกระทำในขณะนี้ก็คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพภายในหน่วยกระบวนการยุติธรรม และหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในสังกัดของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมทั้ง เพิ่มประสิทธิภาพในการอบรมดูแลผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกให้สามารถกลับสู่สังคมได้โดยไม่ออกมาก่อความเดือดร้อนให้สังคมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

และรัฐบาลควรพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า มาตรการทางกระบวนการยุติธรรมที่จะนำมาใช้นั้น จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเสมอภาคและนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้จริง โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยิ่งขึ้นไปอีก

โดย......นายหิ่งห้อย

กำลังโหลดความคิดเห็น