xs
xsm
sm
md
lg

แจสกระอัก BBLเกี่ยงปล่อยกู้ ไม่จ่ายคลื่น900เสี่ยงเจ๊ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



strong>ผู้จัดการรายวัน 360 - แจสยังตัน แบงก์กรุงเทพเกี่ยงหลักประกันต่ำเกิน ไม่สามารถอนุมัติวงเงินกู้ได้ตามที่ต้องการ จำเป็นต้องให้แบงก์พาณิชย์อื่นเข้ามาร่วมปล่อยกู้ ยันต้องคิดแผนธุรกิจใหม่ ด้าน 'เศรษฐพงค์' ชี้กสทช.พร้อมประมูลคลื่น 900 ใหม่ แต่รายที่เบี้ยวไม่จ่ายค่าประมูลเจอมาตรการด้านกฎหมายเข้มข้น

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่ากรณีที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHzในช่วงความถี่ที่ 1 (895 - 905 MHz/940 - 950 MHz) ที่ราคา 75,654 ล้านบาท กับ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชัน จำกัด (ทียูซี) ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHzในช่วงความถี่ที่ 2 (905 - 915 MHz/950 - 960 MHz) ที่ราคา76,298 ล้านบาท จะต้องมาชำระเงินค่าประมูลงวดแรก 8,040 ล้านบาทพร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันทางการเงิน เพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือ (แบงก์การันตี) ภายใน 90 วันหลังจากได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูลหรือภายในวันที่ 21 มี.ค.2559 นั้นเนื่องจากการประมูล 4G เป็นประโยชน์ของรัฐไปแล้ว ผู้ชนะการประมูลจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขการประมูล ซึ่งหากผู้ที่ชนะการประมูลไม่สามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระได้จะส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และจะต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขการประมูล

ทั้งนี้ การประมูล 4G ความถี่ 900 MHz เป็นที่คาดหวังของคนไทยมากเมื่อได้รับทราบผลประมูล หากผู้ชนะการประมูลไม่มาชำระค่าประมูลจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายทุกช่องทางทั้งด้านสังคมและทางธุรกิจ รวมทั้งบริษัทที่ชนะการประมูลจะเกิดความเสียหายหนักในทุกด้าน ขณะเดียวกันจะส่งผลกระทบต่อใบอนุญาตให้บริการโทรคมนาคมภายใต้ กสทช.ประเภทอื่นๆ ตามมาเช่นกัน

ส่วนแนวทางของ กสทช.หลังจากนี้ หากผู้ชนะการประมูลไม่ชำระเงินดังกล่าว ก็จะต้องทำการเปิดประมูลใหม่โดยจะนำราคาของผู้ชนะการประมูลครั้งล่าสุดมาเป็นราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 75,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกันในกรรมการกทค. ขณะเดียวกันหากเริ่มราคาการประมูลที่ราคาต่ำกว่า 75,000 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูลที่ไม่มาชำระจะต้องรับผิดชอบชำระส่วนต่างที่หายไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขการประมูลที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม ตามกฏหมายแล้วการตั้งราคาและเงื่อนไขการประมูล คุ้มครองให้ กสทช. มีอำนาจในการตั้งราคา ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดเห็นว่าไม่ยุติธรรมสำหรับราคาเริ่มต้นการประมูลที่จะเกิดขึ้นนั้น ก็สามารถฟ้องตัวกฎหมายได้ แต่ไม่สามารถฟ้องร้องบุคคลได้ เนื่องจาก กสทช.ไม่ได้มีอำนาจในการบังคับผู้เข้าร่วมประมูลให้เข้าร่วมประมูล ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลในแต่ละครั้ง ก็เป็นการประมูลครั้งนั้นไม่ขึ้นอยู่กับการประมูลครั้งอื่น ไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดคิดว่าเสียสิทธิที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้

ด้านนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงาน กสทช.อยู่ระหว่างจัดทำร่างเพื่อให้ กทค.ลงมติเห็นชอบเพื่อจัดทำราคาเริ่มต้นการประมูล 4G ที่ 75,000 ล้านบาท ซึ่งกรรมการแต่ละคนยังไม่ได้มีมติ แต่โดยส่วนตัวได้เสนอความเห็นในเรื่องราคาเริ่มต้นการประมูลโดยคิดจากราคา ความต้องการของตลาด ซึ่งจะมาจากความต้องการของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ทั้ง 4 รายที่ได้หยุดเคาะราคาที่ประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยหากนำราคาที่ แจส มาเป็นราคาเริ่มต้นการประมูลจะมีความสุ่มเสี่ยงมาก เพราะอาจเป็นราคาที่สูงจนทำให้โอเปอเรเตอร์ไม่มีความต้องการคลื่น 900 MHz ได้

สำหรับผลกระทบหากไม่มีการชำระค่าประมูล 4G นั้น จะส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งหาก กสทช.จะต้องจัดการประมูลใหม่ แต่ทำให้การประมูลใหม่นั้นได้มูลค่าคลื่นความถี่ที่ต่ำกว่าการประมูลในครั้งแรก สิ่งที่ กสทช.จะต้องดำเนินการคือ การฟ้องร้องต่อผู้ชนะการประมูลที่ไม่มาจ่ายค่าประมูลเพื่อชำระส่วนต่างที่รัฐสูญเสียไป รวมไปถึงค่าจัดการประมูลเช่นกัน

นอกจากนี้หากจะต้องมีการจัดการประมูล และเกิดความล่าช้า จะยิ่งทำให้มูลค่าคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตกไป ขณะที่การนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ไปเปิดประมูลในปีเดียวกับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 2600 MHz ยิ่งจะส่งผลให้ราคาคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตกลงอย่างแน่นอน

'เราต้องทำการประมูลให้เร็วขึ้น ซึ่งหากทำการประมูลล่าช้าจะทำให้เราไม่สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายทางการประมูลได้ และทำให้ราคาคลื่น 900 MHz ยิ่งราคาตกไป เพราะความต้องการทางการตลาดมีคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ที่ กสทช.จะเปิดประมูลทำให้มีคลื่นความถี่ให้เลือกมากกว่า'

***แบงก์เกี่ยงเหตุหลักประกัน JAS ต่ำเกิน

แหล่งข่าวธนาคารพาณิชย์กล่าวยอมรับว่า ธนาคารกรุงเทพหรือธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นยังไม่มีการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อตามวงเงินที่ JAS ต้องการ คือวงเงินมากกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นวงเงินที่สูง อย่างธนาคารกรุงเทพเมื่อรวมกับสินเชื่อรายใหญ่อื่นทำให้ติดเพดานที่แบงก์ชาติกำหนด จึงไม่สามารถปล่อยกู้ได้ 7.5 หมื่นล้านบาทเพียงแบงก์เดียว จำเป็นต้องให้แบงก์พาณิชย์อื่นเข้ามาร่วมปล่อยกู้หรือซินดิเคทโลน ที่สำคัญมูลค่าของ JAS ในขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมเงินกู้

'JAS ต้องหาหลักประกันมาเพิ่ม เพราะเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ กำหนดหลักประกันขั้นต่ำอยู่ที่ 80% และถ้าให้ดี JAS ก็ต้องไปคิดแผนธุรกิจมาใหม่ด้วย'

ณ สิ้นปี 2558 ฐานะการเงินของ JAS โดยรวมไม่มีปัญหา ยิ่งมองไปที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ ดีอีเรโช อยู่ที่ 0.15 เท่า ถือว่าต่ำมากและมีความสามารถกู้ได้ แต่ถ้ามองไปที่หลักประกันหลังจากขายสินทรัพย์ 3BBของบริษัทลูกแล้ว JAS ยังมีมูลค่าไม่เพียงพอในการขอกู้ตามวงเงินดังกล่าว

*** ชี้ทางสว่างแจส

พ.อ.เศรษฐพงค์ ได้ให้ความคิดเห็นกรณีผู้เล่นรายใหม่อยากเข้าตลาด 4G ว่า กลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ในยุค 4G นั้นแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง โดยในอดีตเป็นการให้บริการด้วยเสียงและ ดาต้า ด้วยกลยุทธ์สงครามราคา ซึ่งปัจจุบันตลาดมีการแข่งขันของผู้เล่นทั้ง 3รายเดิมอย่างเข้มข้น กลยุทธ์ที่จะเข้าสู่ตลาดสำหรับผู้เล่นรายใหม่ที่จะเป็นรายที่ 4นั้นอาจจะต้องมีการวิเคราะห์สภาพตลาดให้ดี กลยุทธ์การใช้สงครามราคาเพียงอย่างเดียวเหมือนกับผู้เล่นรายที่ 3ที่ใช้ แล้วประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดได้เหมือนในอดีตอาจทำไม่ได้แล้วด้วยสภาพปัจจุบัน

สภาพตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันนั้นมีการพัฒนาไปอย่างมาก จำนวนการเข้าถึงการใช้งานของประชาชนมีมากเกิน100% กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าจำนวนการเชื่อมต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่มีมากกว่าจำนวนประชากรในประเทศไทยแล้ว ประชาชนใช้สื่อโซเชียลหรือใช้บริการจากผู้ให้บริการ OTT (Over-The-Top) เป็นอย่างมาก เช่น เฟซบุ๊ก, ยูทิวบ์,ไลน์ จนประเทศไทยได้รับการบันทึกว่ามีผู้ใช้บริการไลน์มากเป็นอันดับ 2ของโลก มีประชากรเฟซบุ๊กมากเป็นอันดับ 3ของโลก มีการเข้าดูยูทิวบ์มากเป็นอันดับ 2ของเอเชีย

ด้วยสภาพข้อเท็จจริงเหล่านี้การเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายที่ 4จึงต้องมีการใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่างมากกว่ากลยุทธ์สงครามราคา เพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้น การเข้าสู่ตลาดและสร้าง Digital Disruption ในตลาดโทรคมนาคมด้วยสิ่งใหม่ๆ ทั้งในเรื่องบริการคลาวด์ , การนำข้อมูลในโครข่ายมาสร้างงานวิเคราะห์ บิ๊กดาต้า เพื่อสร้างประโยชน์ในทุกอุตสาหกรรม, การสร้างบริการในด้านอื่นเช่นบริการธนาคาร, บริการประกันภัย, บริการ SME, บริการด้านสุขภาพ บนเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยของตนเองเพื่ออำนวยความสะดวกและมีต้นทุนต่ำให้แก่ประชาชน

ถึงแม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณความถี่ในมือเพื่อสร้างการให้บริการ 4G LTE แต่ก็สามารถเติมเต็มลดช่องว่างกับรายเดิมได้โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ เช่น LTE-Uหรือแนวทางการพัฒนา LTE บนคลื่นความถี่ Unlicensed Band ได้ทั้งไม่ว่าจะเป็นการทำ LAA - Licensed Assisted Access (การนำเอาความถี่ Licensed และ Unlicensed มารวมกันให้บริกการ 4G LTE) หรือการทำ LWA-LTE WiFi Link Aggregation เป็นการนำความเร็วของทั้งโครงข่าย LTE และ WiFi มารวมกันเพื่อเพิ่มความเร็วในการให้บริการกับลูกค้า รวมทั้งการพิจารณา muLTEFire การสร้างกลยุทธ์ในการลงโครงข่าย LTE ให้ง่ายเหมือนการสร้าง WiFi Hotspot อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีเหล่านี้อาจเป็นเรื่องใหม่ แต่การนำเอามาวางแผนกลยุทธ์ในการดำเนินการในอนาคตก็จะสามารถลดช่องว่างความเสียเปรียบด้านคลื่นความถี่ได้

ส่วนที่สำคัญที่สุดของการวางแผนดำเนินกลยุทธ์ของรายที่ 4เพื่อเข้าสู่ตลาดที่มีการแข่งขันดุเดือดเข้มข้นของผู้ให้บริการ 3รายเดิม คือ จะต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะดำเนินการได้และก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่เป็นผู้บริโภค ที่ผู้ให้บริการ 3รายเดิมไม่เคยทำได้มาก่อนหรือถ้ามีการให้บริการเดิมแล้วยังมีข้อจำกัดอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น