xs
xsm
sm
md
lg

ความคืบหน้า ต่อกรณีที่องค์การอนามัยโลกจัดให้การใช้โทรศัพท์มือถืออาจจะก่อมะเร็งในสมอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4 ปีกว่าที่แล้ว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ที่สำนักงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สังกัดอยู่ภายใต้องค์การอนามัยโลก ได้จัดให้คลื่นสนามแม่เหล็กวิทยุที่มาจากโทรศัพท์มือถือ อาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง อยู่ในกลุ่ม 2 B โดยเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งสมองชนิด Glioma

แม้ว่าน้ำหนักของการให้สนามแม่เหล็กคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency electromagnetic fields) จากโทรศัพท์มือถือจะอยู่ในกลุ่ม 2 B ซึ่งสะท้อนถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่มีเพียงพอ ซึ่งมีหลักฐานด้อยกว่ากลุ่ม 2 A (กลุ่มที่มีความเป็นไปได้ที่จะก่อสารก่อมะเร็งในมนุษย์) และหลักฐานต่ำกว่ากลุ่ม 1 (เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์)ก็ตาม แต่การระบุว่าโทรศัพท์มือถืออาจจะเป็นสารก่อมะเร็งนั้นมีความสำคัญ เพราะมีผลกระทบในวงกว้างที่มีคนใช้โทรศัพท์มือถือในเวลานั้นกว่า 5 พันล้านคนทั่วโลก

ในครั้งนั้นสำนักงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง ได้ระบุในรายงานที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ในด้านมะเร็งที่ชื่อ The Lancet Oncology เมือเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ว่าเมื่อมีสัญญาณที่แรงโทรศัพท์มือถือรุ่น 3 จี มีพลังงานจากคลื่นวิทยุต่ำกว่าระบบจีเอสเอ็มประมาณ 100 เท่าตัว เช่นเดียวกับกำลังส่งของบลูทูธนั้นต่ำกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือประมาณ 100 เท่าตัว

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะพิจารณาเรื่องสนามแม่เหล็กคลื่นความถี่วิทยุก็คือระยะทางของแหล่งกำเนิดคลื่นความถี่วิทยุกับร่างกายและระดับของกำลังส่งของคลื่น นอกจากจะขึ้นอยู่กับลักษณะคุณสมบัติของคลื่นในหลายมิติแล้ว ยังขึ้นอยู่กับลักษณะกายวิภาคของร่างกายด้วยไม่ว่าจะเป็นความสูง น้ำหนัก ท่าทาง ฯลฯ

ด้วยเหตุผลนี้ในรายงานดังกล่าวจึงได้ระบุถึงการใช้โทรศัพท์มือถือมาแนบหูเพื่อพูดคุยนั้น จะส่งผลทำให้สมองดูดซับพลังงานจากคลื่นวิทยุในระดับที่สูง และถ้าเด็กใช้โทรศัพท์มือถือจะได้รับพลังงานจากคลื่นความถี่วิทยุเข้าไปในสมองสูงกว่าผู้ใหญ่ถึง 2 เท่าตัว และเข้าไปในไขกระดูกในกะโหลกได้สูงกว่าผู้ใหญ่ถึง 10 เท่าตัว

อุปกรณ์หูฟังจะช่วยสมองลดการสัมผัสจากคลื่นความถี่ได้ 10% เมื่อเทียบกับการใช้โทรศัพท์มือแนบหู แต่อวัยวะอื่นๆก็อาจจะเพิ่มการสัมผัสจากคลื่นความถี่ได้มากขึ้นได้

ความจริงแล้วผลการศึกษาหลายชิ้นของหลายประเทศ เช่น เยอรมัน เดนมาร์ก อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ ให้ผลตรงกันว่าการใช้โทรศัพท์มือถือไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งสมอง

แต่เหตุที่สำนักงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง ขององค์การอนามัยโลก ต้องมาจัดหมวดสนามแม่เหล็กคลื่นความถี่วิทยุว่าอาจจะเป็นก่อมะเร็งได้ก็เพราะงานวิจัยดังกล่าวในหลายประเทศกลับมีจุดอ่อนอยู่หลายประการ แต่สำนักงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็งกลับเลือกให้น้ำหนักผลการศึกษาครั้งใหญ่ของกลุ่มอินเตอร์โฟนที่ตีพิมพ์ในวารสารระบาดวิทยานานาชาติ (International Journal of Epidemiology) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553

กลุ่มอินเตอร์โฟนได้ทำการรวบรวมผลการศึกษาและสัมภาษณ์กรณีการควบคุมที่มีผู้ป่วยมะเร็งสมองชนิด Glioma จำนวน 2,708 คน และ มะเร็งสมองชนิด Meningioma จำนวน 2,409 คน ซึ่งทำงานร่วมกันจาก 13 ประเทศ แม้จะได้ผลโดยภาพรวมว่าการใช้โทรศัพท์มือถือไม่ได้มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งทั้งสองชนิด แต่กลุ่มอินเตอร์โฟนเองกลับพบว่าเมื่อใช้โทรศัพท์สะสมเป็นจำนวน 1,640 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 ปี ติดต่อกัน (30 นาทีต่อวัน ติดต่อกัน 10 ปี) จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งที่สมองชนิด Glioma สูงเพิ่มขึ้น 40% และ มะเร็งสมองชนิด Meningioma สูงเพิ่มขึ้น 15% และส่วนใหญ่ก็จะพบมะเร็งสมองในด้านที่ใช้โทรศัพท์มากกว่าด้วย

งานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คืองานวิจัยหลายชิ้นจากคณะวิจัยภายใต้การนำของ ดร.เลนนาร์ท ฮาร์ดเดล จากมหาวิทยาลัยเออระบรู ประเทศสวีเดน ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาระบาดวิทยาเมื่อปี พ.ศ. 2550 ในหัวข้อ Long-term use of cellular phones and brain tumours: increased risk associated with use for 10 years. พบว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มความเสี่ยงเนื้องอกชนิด Glioma การใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มความเสี่ยงเป็นเนื้องอกเส้นประสาท (Acoustic neuroma) สูงเพิ่มขึ้น เนื้องอกในสมองที่ปรากฏมักจะเกิดขึ้นในข้างที่ใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้โทรศัพท์มือถือวันละ 1 ชั่วโมง จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลังจากใช้ไปแล้ว 10 ปี หรือมากกว่านั้น

ยังได้ปรากฏในรายงานของ ดร.เลนนาร์ท ฮาร์ดเดล แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วการใช้โทรศัพท์มือถือจะมีความเสี่ยงเนื้องอกสมองสูงเพิ่มขึ้น 40% แต่สำหรับเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีความเสี่ยงเนื้องอกในสมองมากกว่าค่าเฉลี่ย คือสูงถึง 520%

แม้จะมีงานวิจัยของคณะชาวสวีเดนที่นำโดย ดร.เลนนาร์ท ฮาร์ดเดล อยู่หลายชิ้นตามผลการศึกษาข้างต้น แต่สำนักงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง ขององค์การอนามัยโลก ก็ได้ตัดสินใจเลือกอ้างอิงผลการศึกษาของคณะวิจัยที่นำโดย ดร.เลนนาร์ท ฮาร์ดเดล เฉพาะที่ตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยวกับมะเร็งนานาชาติชื่อ International Journal of Oncology เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในหัวข้อ Pooled analysis of case-control studies on malignant brain and the use of mobile and cordless phones including living and diseased subjects. ซึ่งศึกษารวมไปถึงกลุ่มประชากรที่เป็นโรคมะเร็งสมองชนิด Glioma จำนวน 1,148 ราย และกลุ่มควบคุมจำนวน 2,438 ราย

ผลการสำรวจพบว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเกินกว่า 1 ปี มีความเสี่ยงโรคมะเร็งสมองชนิด Glioma เพิ่มขึ้น 30% และเมื่อใช้ไปสะสมไปประมาณ 2,000 ชั่วโมง ความเสี่ยงจะสูงเพิ่มขึ้น 320% และด้านที่ใช้โทรศัพท์จะมีความเสี่ยงมากกว่าด้านที่ไม่ได้ใช้ และรายงานดังกล่าวยังคล้ายคลึงกับการใช้โทรศัพท์พื้นฐานชนิดไร้สายด้วย

สำนักงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง ขององค์การอนามัยโลกได้กล่าวถึงการตั้งข้อสงสัยว่าผลการศึกษาที่ได้หยิบยกมาวิเคราะห์นั้นอาจจะมีอคติ แต่คณะทำงานของสำนักงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็งสรุปว่าการค้นพบดังกล่าวไม่ควรจะละเลยหรือมองข้ามด้วยเหตุอ้างว่ามีอคติเพียงอย่างเดียว และการแปลความถึงสาเหตุของโรคมะเร็งกับการสัมผัสกับคลื่นความถี่วิทยุหรือสนามแม่เหล็กคลื่นความถี่วิทยุนั้นเป็นไปได้ ซึ่งคล้ายคลึงกับผลการศึกษาที่ญี่ปุ่นซึ่งพบหลักฐานการเพิ่มความเสี่ยงเนื้องอกเส้นประสาท (Acoustic neuroma) มีความสัมพันธ์กับด้านที่ใช้โทรศัพท์มือถือ

ภายหลังจากที่สำนักงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง ขององค์การอนามัยโลก ได้ประกาศจัดหมวดให้ได้จัดให้คลื่นสนามแม่เหล็กวิทยุที่มาจากโทรศัพท์มือถือ อาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง อยู่ในกลุ่ม 2 B ก็ได้ปรากฏว่าก็ได้มีความพยายามจากหลายประเทศเผยแพร่งานวิชาการโต้แย้งกับข้อสรุปดังกล่าวมาตลอด 4 ปีกว่าแล้วในทิศทางว่าการใช้โทรศัพท์มือถือไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งสมอง หรือบ้างก็สรุปว่าไม่ได้เพิ่มความเสี่ยมะเร็งสมองในผู้ใหญ่ รวมไปถึงอ้างว่าเทคโนโลยีคลื่นที่ใช้โทรศัพท์มือถือได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว แต่งานวิจัยบางชิ้นที่เผยแพร่ออกมาก็กลับพบการให้ทุนวิจัยจากบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมด้วย ซึ่งก็ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถโน้มน้าวใจทำให้องค์การอนามัยโลกเปลี่ยนใจได้แต่ประการใด

เพื่อความปลอดภัย จึงใช้โทรศัพท์มือถือให้น้อยลง ห่างจากศีรษะให้มากขึ้น และเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรจะใช้โทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็น



กำลังโหลดความคิดเห็น