xs
xsm
sm
md
lg

รับเหมาย่อยร้อง'นายก'ถูกเบี้ยวค่างานเคเบิลสายน้ำเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รับเหมารายย่อยยื่นหนังสือร้องเรียน"นายกฯ-อาคม-ประธานบอร์ดรฟม.และผู้ว่าฯรฟม." ขอความเป็นธรรมเหตุถูกผู้รับเหมาสัญญา 3 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ค้างจ่ายค่างานรื้อย้ายและก่อสร้างท่อร้อยสายโทรศัพท์-เคเบิลใต้ดิน รวมเป็นเงินกว่า 78 ล. เผยนโยบายรัฐทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ งานอยู้ในกลุ่มรับเหมารายใหญ่ส่วนธุรกิจรายย่อยต้องล้มละลาย วอนช่วยดูแล

นายพัลลภ สุนทรชาติ ผู้ประสานธุรกิจ บริษัท สายใยแผ่นดิน จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ,นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม,พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด)การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการฯ รฟม. เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมกรณีผู้ว่าจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วง หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ

โดยบริษัท สายใยแผ่นดินได้รับการว่าจ้างจากกิจการร่วมค้า เอสเอช-ยูเอ็น (SH-UN JV) ผู้รับจ้างในสัญญาที่ 3งานโยธา(ยกระดับ) ช่วงเตาปูน-ท่าพระ (ระยะทาง 11.04 กิโลเมตร) มูลค่าสัญญา 10,846,076,250.41 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ให้ดำเนินการรื้อย้ายและก่อสร้างท่อร้อยสายโทรศัพท์-เคเบิลใต้ดินและระบบสื่อสารใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่ถูกรื้อย้าย วงเงินจ้างแบบเหมารวม (Lump sum) 280 ล้านบาท โดยลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554โดยบริษัทได้รับการติดต่อจากผู้บริหารบริษัท ยูนิค คอนสตรัคชั่น แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในกิจการร่วมค้า SH-UN ในการรับงานดังกล่าว

ทั้งนี้ ข้อตกลงในสัญญาจากผู้บริหารบริษัท ยูนิค คือ 1. บริษัทได้รับเช็คเงินแอ๊ดวานซ์จำนวน 10 ล้านบาทและหักคืน 20%เมื่อตั้งเบิกทุกงวด (ตามสัญญาข้อ 4.1 ) 2.ให้การสนับสนุนเครื่องจักรโดยไม่คิดเงิน 3.ตั้งเบิกเงินออกภายใน 15 วัน (ตามสัญญาข้อ 4.2) 4. ค่าคณะกรรมการตรวจรับทีโอที จำนวน 3 ล้านบาท เป็นภาระของ กิจการร่วมค้า SH-UN 5. ค่าผู้ควบคุมงานของทีโอที ทรู AIS และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 ล้านบาท เป็นภาระของบริษัท สายใยแผ่นดิน 6. ค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ กิจการร่วมค้าSH-UNเป็นผู้จัดหาให้และหักเงินเมื่อตั้งเบิก (ตามสัญญาข้อ 3.1 ) 7. ค่าสายโทรศัพท์ทองแดงจำนวน 99,723,403 บาท (ตามBOQที่ออกแบบไว้) กิจการร่วมค้า SH-UNออกเงินให้

โดยบริษัทฯ ได้เข้าดำเนินการตามสัญญาจ้างทันทีหลังลงนาม โดยการเบิกค่างานงวดที่ 1-8 ไม่มีปัญหา
เมื่อเซ็นสัญญาไปเกือบ 1 ปี ผู้บริหารบริษัท ยูนิคฯ ได้ติดต่อของานโซน1 และโซน 3 คืน เนื่องจากเกรงบริษัทฯทำงานไม่ทัน ซึ่งเป็นการบอกกล่าวด้วยวาจา โดยบริษัทฯไม่ได้ขัดข้องใดๆ ทั้งนี้เพื่อให้งานแล้วเสร็จเร็วขึ้นโดยตัดงานสายเคเบิลอากาศ 10,827,000 บาทไปด้วย ซึ่งทำให้เริ่มมีปัญหา เช่น การส่งมอบพื้นที่ล่าช้า เบิกจ่ายเงินล่าช้าสั่งทำงานโดยไม่ออกใบสั่งงาน ทำให้การเบิกค่างวดที่ 9 มีปัญหา ส่วนงวดที่ 10-16 กลับมาปกติ และงวดที่ 17 บริษัท ยูนิคฯ สั่งให้ทำงานด่วน เป็นงานนอกสัญญาเพิ่มเติมจากแบบ โดยงานแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556 บริษัทฯได้รับเงินค่างานเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 และงวดที่ 18 เป็นงานอุบัติเหตุ ที่บริษัท ยูนิคฯ สั่งทำด่วนจำนวน 8งานเสร็จเดือน สิงหาคม-พฤศจิกายน 2555 แต่ได้รับเงินค่างานหลังจากนั้น15 เดือน ต่อมาบริษัท ยูนิคฯ ได้สั่งให้บริษัท สายใยแผ่นดินหยุดงานด้วยวาจาโดยไม่มีหนังสือหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกัน 4 ครั้งใน 8 เดือน (21 ส.ค.57-8 เม.ย.58) แต่จนถึงปัจจุบันบริษัท ยูนิคฯ ยังไม่จ่ายค่างานให้บริษัทเป็นเงินรวม 78,156265.06 บาท

นายพัลลภกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ตนเองและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ต้องขายทรัพย์สินที่มีและกู้เงินนอกระบบมาจ่ายค่าของ ค่าแรง เพื่อทำงานให้เสร็จ ธุรกิจล้มละลาย และยิ่งรัฐบาลมีนโยบายให้มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศ แต่ผู้รับเหมาขนาดใหญ่ในโครงการของรฟม.
กลับไม่จ่ายเงินให้กับผู้รับเหมารายย่อย เป็นการกระทำที่สวนทางกับนโยบายรัฐบาลทำให้ผู้มีรายได้น้อยต้องเดือดร้อน จึงต้องร้องเรียนขอความเป็นธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น