xs
xsm
sm
md
lg

20 ข้อไม่น่าจดจำสำหรับ TPP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพเอพี
ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ


1.Trans-Pacific Partnership (TPP) เริ่มต้นในปี 2006 จากความร่วมมือของ 4 ประเทศ (บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์) ภายใต้ชื่อ Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement (TPSEP หรือ P4: Pacific-4) หลังจากนั้นจึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เปรู, สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ทำให้ปัจจุบัน TPP มีสมาชิก 12 ประเทศ

2.บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม คือ 4 ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ที่เป็นสมาชิก TPP และ มีเพียง สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโกเท่านั้นที่ไม่ได้เป็นคู่เจรจาการค้า หรือ ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย

3.TPP ลงนามข้อตกลงเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่า TPP จะมีผลบังคับใช้ทันที เนื่องจากขั้นตอนปกติสำหรับการทำข้อตกลงทางการค้าคือ ต้องให้ประเทศคู่เจรจาลงนามเพื่อรับรองสิ่งที่ตกลงกันไว้ จากนั้นแต่ละประเทศต้องนำผลการเจรจาได้ลงนามไปผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภา และ/หรือ คณะรัฐมนตรี หากเห็นชอบ ประเทศสมาชิกจึงจะให้สัตยาบัน จากนั้นข้อตกลงการค้าถึงจะมีผลบังคับใช้ และการบังคับใช้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีในทุกมาตรา เช่น การลดภาษีศุลกากรจนเป็นร้อยละ 0 ยังต้องกินเวลาอีกหลายปี ดังนั้นผลกระทบระยะสั้นต่อประเทศไทยในช่วง 6 เดือน - 1.5 ปี ยังไม่เกิดขึ้น

4.แต่ในระยะยาว TPP จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การเจรจาการค้าเสรีในอนาคตมีองค์ประกอบที่ซับซ้อน และครอบคลุมในทุกเรื่อง ทุกมิติ มิใช่แค่การเปิดเสรีการค้าสินค้าอีกต่อไปและนี่คือสิ่งที่ทุกคนหวาดระแวงเกี่ยวกับ TPP

5.สหรัฐอเมริกาเข้ามาเล่นเกม TPP ในปี 2007/2008 สมัย Gorge W. Bush เนื่องจากเห็นว่า P-4 คือข้อตกลงทางการค้าที่เปิดเสรีในภาคบริการทางการเงินที่สหรัฐมีความเข้มแข็ง และเป็นทางออกที่ดีเพราะในขณะนั้นระบบสถาบันการเงินสหรัฐกำลังปั่นป่วนจาก Sub-Prime Crisis ดังนั้นหากสถาบันการเงินสหรัฐสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ได้อย่างเสรี นี่คือทางรอด

6.ในตอนแรก Obama ไม่เห็นด้วย และชะลอจนถึงหยุดการเจรจา TPP ของทีมสหรัฐเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2008 แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน Obama กลายเป็นหนึ่งในผู้เร่งสนับสนุนให้สหรัฐต้องเดินหน้าเจรจาโดยใช้ระบบ Fast-track ที่เปลี่ยนแปลงกฎจากเดิมที่การกำหนดกรอบการเจรจาการค้าสำหรับหน่วยงาน Trade Promotion Authority (TPA) ที่จะเป็นผู้แทนสหรัฐไปเจรจาการค้าต้องได้รับมติเห็นชอบจากการพิจารณาโดยละเอียดทั้งจากรัฐสภาและวุฒิสภา เป็นการออกกฎหมายใหม่ที่เรียกว่า The Bipartisan Congressional Trade Priorities and Accountability Act of 2015 หรือมีชื่อเล่นว่า TPA Fast-Track Legislation โดยรัฐบาล Obama กำหนดกรอบเวลาให้กระบวนการผ่านเรื่องทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นลงภายใน 90 วัน และไม่ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้เพราะสมาชิกทั้งรัฐสภาและวุฒิสภาต่างก็ไม่ได้มีใครที่ได้เห็นร่างข้อตกลง TPP ฉบับเต็มแม้แต่คนเดียว และผลที่ได้ก็คือ Obama ได้รับ “enhanced power to negotiate major trade agreements with Asia and Europe.”

7.ในการโหวตครั้งนี้วุฒิสมาชิกให้ผ่าน TPA Fast-Track ด้วยคะแนนเสียง 62 ต่อ 38 โดย 31 เสียงที่คว่ำร่างนี้เป็นวุฒิสมาชิกจากพรรค Democrat พรรคเดียวกันกับ Obama

8.นักสังเกตการณ์หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าที่ Obama ต้องรีบร้อนในการเจรจาก็เพราะ เขาต้องการให้ TPP มีการลงนามและมีผลบังคับใช้ได้ภายในสมัยของเขา Obama จะได้สามารถเคลมได้ว่านี่คือผลงานของรัฐบาลของเขา เนื่องจากObama กำลังจะหมดวาระในสมัยที่ 2 ของการเป็นประธานาธิบดี แต่เขายังไม่มีผลงานที่โดดเด่นเลยแม้แต่เรื่องเดียวที่จะทำให้คนจดจำเขาได้ในฐานะประธานาธิบดีของประเทศ (เดิมเคยหวังเรื่องการเจรจากับประเทศอิหร่าน ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร) ดังนั้นการประกาศว่าสหรัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีมูลค่ากว่า 40% ของมูลค่าผลผลิตของทั้งโลก คือความหวังของ Obama ที่จะให้ใครๆ จดจำเขา

9.วุฒิสมาชิก Ron Wyden จากพรรค Democrat โจมตีกระบวนการเร่งออกกฎหมายในครั้งนี้ว่า The majority of Congress is being kept in the dark as to the substance of the TPP negotiations, while representatives of U.S. corporations—like Halliburton, Chevron, PHRMA, Comcast, and the Motion Picture Association of America—are being consulted and made privy to details of the agreement. [...] More than two months after receiving the proper security credentials, my staff is still barred from viewing the details of the proposals that USTR is advancing. We hear that the process by which TPP is being negotiated has been a model of transparency. I disagree with that statement. (ที่มา: Congressional Record, Vol. 158, Page S3517 (23 May 2012) และเมื่อพิจารณาจากชื่อบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพิจารณาข้อตกลง TPP เราเห็นแต่บริษัทที่มีชื่อเสียงทางลบในเรื่องการตักตวงผลประโยชน์ด้านพลังงาน บริษัทที่ผูกขาดและทำให้ราคายาและเวชภัณฑ์สูงเกินความเป็นจริง ในขณะที่ตัวแทนจากประชาชน (สมาชิกรัฐสภาสหรัฐ) กลับไม่มีโอกาสได้เห็นร่างการเจรจา

10.ในขณะที่วุฒิสมาชิกอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง Bernie Sanders สรุปว่า TPP ไม่ใช่ Good Deal สำหรับคนอเมริกันหรอก เพราะถ้ามันดีจริง นักการเมืองสหรัฐไม่ปิดเป็นความลับหรอก เรื่องที่ดีๆ พวกเขายิ่งต้องเร่งโฆษณา แต่ TPP ไม่ใช่เรื่องแบบนั้น Let’s be clear: the TPP is much more than a “free trade” agreement. It is part of a global race to the bottom to boost the profits of large corporations and Wall Street by outsourcing jobs; undercutting worker rights; dismantling labor, environmental, health, food safety and financial laws; and allowing corporations to challenge our laws in international tribunals rather than our own court system. If TPP was such a good deal for America, the administration should have the courage to show the American people exactly what is in this deal, instead of keeping the content of the TPP a secret (ที่มา: www.sanders.senate.gov/download/the-trans-pacific-trade-tpp-agreement-must-be-defeated?inline=file)

11.Obama ออกมากล่าวภายหลังการลงนามในข้อตกลง TPP ว่า นี่คือความสำเร็จ เพราะ TPP คือสิ่งที่ทำให้สหรัฐสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ สามารถรับประกันได้ว่าคุณภาพชีวิต สภาพการทำงาน คุณภาพสินค้าและบริการ สิ่งแวดล้อมที่ดี การเคารพเรื่องสิทธิต่างๆ จะอยู่ในกำมือของพวกเรา ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยมหาอำนาจจีน (คือ Obama เขาคงไม่ชอบจีนจริงๆ แหล่ะ ถึงขั้นขนาดยกเรื่องประสบความสำเร็จของตนเองยังต้องแขวะประเทศจีนเลย) แต่ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าในข้อ 9 ข้อ 10 และ ข้อ 11 ต้องมีซักคนหรือสองคนที่โกหกคนอเมริกันอยู่แน่ๆ

12.TPP มีการกำหนดให้รัฐสมาชิกต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในลักษณธ TRIPs++ นั่นคือการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากกว่าระดับมาตรฐานที่ตกลงกันไว้ใน WTO โดย TPP อนุญาตให้ประเทศสามารถขยายเวลาในการคุ้มครองลิกขสิทธิ์ได้ สามารถยกเลิกสิทธิการใช้ผลงานในรูปแบบ Fair Use ได้ ประเทศสมาชิกสามารถคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศที่มีการละเมิด IP ได้แม้ว่าการละเมิดนั้นจะไม่ได้ทำไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า สามารถฟ้องร้องบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตได้หากลูกค้าของบริษัทละเมิด IP ซึ่งนั่นหมายถึงการสนับสนุนให้บริษัทต้องทำการมอนิเตอร์การใช้งานอินตอร์เน็ตของลูกค้าทุกรายเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น (ที่มา: https://www.eff.org/issues/tpp) บอกลา Single Gateway ไปได้เลยครับ เพราะนี่คือตัวพ่อของการจำกัดสิทธิเสรีภาพบนโลกไซเบอร์

13.เดือนมิถุนายน 2015 วารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับโลก New England Journal of Medicine ตีพิมพ์ผลกระทบของ TPP ว่าข้อตกลงนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่ายาแพงขึ้นอย่างมหาศาล และนั่นหมายถึงชีวิตคนจำนวนนับล้านที่จะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ และนั่นคือผลเสียระดับชีวิตของมนุษย์อันเกิดขึ้นจาก TPP ทั้งนี้เพราะ TPP ทำให้บริษัทยาข้ามชาติสามารถผูกขาดสูตรยาได้อย่างต่อเนื่องยาวนานมากยิ่งขึ้น และภายใต้ Extending Data Exclusivity Provisions ทำให้สูตรยาเหล่านี้ไม่ได้รับการเปิดเผย ทำให้ผู้ผลิตยารายอื่นๆ ที่มีความสามารถในการผลิตต้องรอนานมากยิ่งขึ้น และไม่มีสูตรยาที่เปิดเผยสำหรับผลิตยาตัวนั้นๆ ในราคาที่ถูกลงในรูปแบบ Generic Version (ที่มา: www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMp1506158)

14.ข้อตกลง TPP ยังกล่าวถึง Evergreening ที่อนุญาตให้บริษัทยาสามารถยืดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยาออกไปได้อีกเรื่อยๆ หากมีการค้นพบวิธีการใช้ยาตัวเดิมด้วยวิธีการแบบใหม่ๆ ในการรักษาโรค

15.ประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน Medecins Sans Frontieres (Doctors Without Borders) ออกมาคัดค้านในเรื่องที่ผมเขียนในข้อที่ 13 และ 14 เพราะจะทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศต่างๆ มีการให้บริการทางสุขภาพที่เลวลง

16.TPP คือข้อตกลงที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลถึง 2 คนออกมาเตือนภัย คนแรกคือ Joseph Stiglitz ที่บอกว่า TPP จะส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เขาใช้คำว่า Grave Risk คือความเสี่ยงระดับสูงถึงขั้นชีวิต และพิจารณาว่า TPP จะส่งผลดีเฉพาะกับคนร่ำรวยเท่านั้น (ที่มา: http://opinionator.blogs.nytimes.com/2014/03/15/on-the-wrong-side-of-globalization/) ในขณะที่ Paul Krugman กล่าวว่า ผมจะรู้สึกโล่งใจอย่างมากหากข้อตกลง TPP ถูกยกเลิกไป (ที่มา: www.nytimes.com/2014/02/28/opinion/krugman-no-big-deal.html)

17.สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่นๆ Economic Policy Institute และ Center for Economic and Policy Research ในสหรัฐเอง วิเคราะห์ว่า TPP จะทำให้แรงงานสหรัฐสูญเสียงานของตนเองไป และทำให้ค่าแรงลดลง วุฒิสมาชิก Bernie Sanders กล่าวว่า TPP จะทำให้ครอบครัวคนทำงานต้องพบกับความหายนะ แต่กลับสร้างความมั่งคั่งให้บริษัทขนาดใหญ่ องค์กรสหภาพแรงงานของสหรัฐออกมาเตือนว่า TPP จะทำรายได้มหาศาลให้กับบริษัทขนาดใหญ่ โดยรายได้เหล่านี้มาจากความสูญเสียของแรงงานที่ทำการผลิตสินค้าและแรงงานในภาคบริการ ในขณะที่อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของสหรัฐ Robert Reich วิเคราะห์ว่า TPP คือเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้บริษัทขนาดใหญ่และสถาบันการเงินใน Wall Street มีเครื่องมือในการยกเลิกกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ที่จะทำให้พวกเขาได้กำไรที่ลดลง (ที่มา: www.alternet.org/robert-reich-largest-most-disastrous-trade-deal-youve-never-heard)

18.TPP จะอนุญาตให้เกิดโจรสลัดทางชีวภาพ (Bio-piracy) เพราะมันคือข้อตกลงที่จะทำให้บริษัทข้ามชาติต่างๆที่มีทุนทรัพย์ มีนักวิจัย สามารถนำเอาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ไปจดทะเบียน สร้างความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในสิ่งซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน เพื่อนำไปสร้างความเป็นสินค้าที่พวกเขาสามารถผูกขาด และไม่อนุญาตให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้

19.เช่นเดียวกับบริษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่ที่จะได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเมล็ดพันธุ์พืชที่พวกเขาปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นมา ซึ่งนั่นหมายถึงเกษตรกรรายย่อยที่เก็บเม็ดพืชที่ได้จากการทำการเกษตรในฤดูกาลที่แล้วต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย เพียงเพราะที่ฉลากข้างซองเมล็ดพันธุ์บอกว่าเมล็ดพันธุ์นี้สามารถเพราะปลูกได้เพียง 1 crop เท่านั้น การเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกในฤดูกาลที่แล้วจึงเป็นการละเมิด

20.อย่างที่ผมบอกไว้ในข้อ 2 ครับว่ามีเพียง สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโกเท่านั้นที่ไม่ได้เป็นคู่เจรจาการค้า หรือ ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย ส่วนอีก 8 ประเทศ TPP เรามีข้อตกลงทางการค้าด้วยแล้วทั้งสิ้น คำถามคือ แล้วเราต้องเร่งไปขอเป็นสมาชิก TPP ด้วยหรือไม่ เพราะถ้าเราต้องการเข้าเป็นสมาชิก TPP ในเวลานี้ (จริงๆ TPP ปิดรับสมาชิกไปแล้วตั้งแต่ปี 2012) เราต้องไปง้องอนทีละประเทศสมาชิก TPP จนครบ 12 ประเทศให้ช่วยรับรองให้ไทยสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าทั้ง 12 ประเทศ TPP จะเรียกร้องขอสิ่งต่างๆ ตลอดจนสิทธิพิเศษต่างๆ จากไทยเพื่อให้เราได้เป็นสมาชิก TPP อย่างแน่นอน

สำหรับตัวผมเอง คงต้องขอยืมคำพูดของ Paul Krugman ครับว่า ผมโล่งใจอย่างมากที่ไทยเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ TPP
กำลังโหลดความคิดเห็น