สพ.ญ. ดวงกมล สุระเรืองชัย (สพ.บ.,วท.ม.)
ฝ่ายวิชาการ แผนกผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง
บริษัท เมเรียล (ประเทศไทย) จำกัด
ฝ่ายวิชาการ แผนกผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง
บริษัท เมเรียล (ประเทศไทย) จำกัด
โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขพบได้หลายชนิด พบได้ในทุกเพศทุกวัย และติดต่อได้จากการถูกเห็บกัด เห็บจะปล่อยเชื้อออกมาทางน้ำลายในระหว่างที่ดูดเลือดซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน หรือโรคพยาธิเม็ดเลือดบางชนิด อาจติดต่อได้จากการกินเห็บเข้าไปโดยบังเอิญเช่น สุนัขมีอาการคัน จึงใช้ปากกัดบริเวณที่มีอาการคัน
เห็บดูดเลือดและนำโรคได้ในทุกช่วงอายุของชีวิต ทั้งระยะตัวอ่อน ตัวกลางวัยและตัวเต็มวัย เมื่อวางไข่เสร็จแม่เห็บก็จะตาย เห็บจึงวางไข่ครั้งละมากๆ ซึ่งอาจมากถึงกว่าหนึ่งพันฟองในแต่ละครั้ง ซึ่งพยาธิเม็ดเลือดบางชนิดจะส่งผ่านจากแม่เห็บมายังไข่เห็บได้ด้วย เห็บรุ่นลูกจึงมีพยาธิเม็ดเลือดติดตัวมาแต่กำเนิด และพร้อมที่จะส่งผ่านเชื้อร้ายเหล่านี้ไปยังสุนัขได้ทันทีเมื่อขึ้นมากินเลือดสุนัข
หลายท่านอาจจะเคยสงสัยว่าเห็บกินเลือดอิ่มแล้วไปไหน เห็บที่กินเลือดจนเต็มที่แล้วจะลงมาจากตัวสัตว์ลงสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นพุ่มไม้ รอยแตกร้าวตามบ้าน เพื่อลอกคราบและพัฒนาเป็นเห็บในระยะถัดไป เห็บที่ลอกคราบแล้วหรือที่เราเรียกกันว่าตัวกลางวัย จะต้องขึ้นลงบนตัวสัตว์อีกเพื่อดูดกินเลือด โดยเห็บสุนัขจะขึ้นลงบนตัวสัตว์ทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อให้วงชีวิตสมบูรณ์ และพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยเพื่อรอวันผสมพันธุ์ต่อไป
การขึ้นลงบนตัวสัตว์เพื่อขึ้นมากินเลือดนี้ ทำให้การแพร่ระบาดของโรคพยาธิเม็ดเลือดติดต่อจากสัตว์ตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่งเกิดได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสัตว์ป่วยอาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ โดยความเสี่ยงของการติดเชื้อจะสูงขึ้น หลังจากเห็บยึดเกาะบนตัวสัตว์นานหลายชั่วโมง
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)