xs
xsm
sm
md
lg

'สอนเด็กไทย..โตไปไม่โกง' ครูหนู-จิรอร เจ้าของ รร.นานาชาติไอวี่บราวน์!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คำกล่าวที่ว่า 'เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า' คงเป็นเช่นนั้นเสมอมา หากความบอบบางไร้เดียงสาของเด็กในวันนี้ถูกแต่งแต้มด้วยสีเทาดำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหมองหม่น ทว่า บุคคลเดียวที่มีบทบาทสำคัญรองจากสถาบันครอบครัวแล้ว คือครูผู้ประสิทธิ์ ประศาสตร์วิชา ผู้เติมแต่งสีสันของการเรียนรู้ให้มีความงดงามตามช่วงเวลาของชีวิต

ครูหนู-จิรอร อัสรัตน์ เจ้าของโรงเรียนนานาชาติไอวี่บราวน์ ผู้คิดค้นการสอน 'Inno-education' การนำผลงานวิจัยมาใช้คู่กับการฝึกฝนในห้องเรียนให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด ความเป็นครูผู้มีหัวคิดก้าวไกลและไม่เคยจำกัดความสามารถของตัวเองอยู่ในกรอบใดกรอบหนึ่ง ทำให้การสอนที่ว่ามานี้มีนอกจากเป็นผู้ให้ความรู้แล้ว ยังมีการปลูกฝังในเรื่องของคุณธรรม-จริยธรรมให้เด็กตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ในอนาคต..

โรงเรียนอินเตอร์ที่มีความเป็นไทย !?

“มีความรู้สึกว่าอยากจะสร้างสิ่งแวดล้อมโรงเรียนที่สมบูรณ์แบบเท่าที่เราจะทำได้ โดยที่ให้เด็กไทยเก่งภาษาอังกฤษด้วย แต่มีความเป็นไทยอยู่ด้วย และเป็นที่ๆ เด็กมีความสุขเหมือนอยู่บ้านหลังที่สอง ซึ่งคนทุกคนพูดกันแบบนั้น แต่สุดท้ายแล้วโรงเรียนไม่เคยเป็นแบบนั้นสักที” คุณหนู-จิรอร อัสรัตน์ เอ่ยถึงจุดเริ่มต้นการสร้างโรงเรียนในฝัน การที่เธอเคยเล่าเรียนในโรงเรียนที่มีความแตกต่างกันทั้งโรงเรียนไทยโรงเรียนอินเตอร์ในไทย และโรงเรียนประจำที่ต่างประเทศนั้น ทำให้เธอค้นพบสิ่งที่ดีและไม่ดีจากระบบโรงเรียนที่เคยมีประสบการณ์มา
ว่าไปแล้วอาจเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนความคิดของเด็กต่อการไปโรงเรียนในยามเช้า กลายเป็นเรื่องปกติที่เรามักเห็นว่าเด็กๆ ไม่ค่อยอยากไปโรงเรียนและมีนิสัยงอแงตามประสาเด็ก ทว่า ครูหนูจึงปิ๊งไอเดียบางอย่าง และอยากเปลี่ยนแปลงความรู้สึกการมาโรงเรียนของเด็กเหล่านั้น ด้วยการสร้างโรงเรียนที่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของพวกเขา


 
“มันเป็นที่ๆ เด็กไม่ค่อยอยากมาโรงเรียน เวลาเรานึกถึงโรงเรียนก็ไม่ค่อยอยากมาโรงเรียนเลย เราเลยอยากให้เป็นบ้านหลังที่สองที่ให้เขารู้สึกรักที่จะมา รักที่จะเรียนรู้ แล้วครูก็มีจิตใจห่วงใยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กในโรงเรียน ไม่ใช่แค่การเรียนรู้อย่างเดียว ความรู้สึกมันมาจากประสบการณ์ของตัวเอง จึงเลือกที่จะเรียนเรื่องพวกนี้และมาเปิดโรงเรียน”

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน สำหรับการเรียนโรงเรียนในไทยนั้น คือการเรียนการสอนที่มีความเข้มงวดในเรื่องของ กริยา-มารยาท ความนอบน้อมเคารพต่อผู้ใหญ่และเรื่องของระเบียบวินัย ซึ่งครูหนูเองก็เห็นด้วยกับสิ่งดีๆ เหล่านั้นที่โรงเรียนไทยหยิบยื่นให้เด็กและปลูกฝังเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่ยังเล็ก

“ถ้าเรียนโรงเรียนอินเตอร์มาตลอดชีวิตก็คงไม่เห็นเลยว่า โรงเรียนไทยมีสิ่งที่ดีอยู่เยอะมาก เช่นวินัย โรงเรียนไทยสอนวินัยและมารยาท ความเคารพผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่โรงเรียนฝรั่งไม่มีเลย อันนั้นชอบมากและถึงแม้โรงเรียนนี้จะเรียกว่าเป็นอินเตอร์ก็ตาม แต่เรื่องความเป็นไทยยังมีอยู่ ระบบของโรงเรียนอินเตอร์ที่ชอบคือ เวลานั่งทานอาหารที่มีเด็กหลายๆ ชาติอยู่ด้วยกัน เราก็มีความรู้สึกว่าไม่ดูถูกซึ่งกันและกัน”

  ความหลากหลายทางเชื้อชาติของการเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ไม่ได้สร้างปัญหาใดๆ ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกัน สิ่งสำคัญคือการใส่ใจรายละเอียดของครูผู้สอนที่จะทำให้เด็กแต่ละคนไม่เกิดการต่อต้านหรือแบ่งแยกสีผิวกันและกัน นี่คือมุมมองของโรงเรียนแห่งนี้

“ตัวอย่างเรื่องดินสอสีในเรื่องของสีผิว ต้องมีสีทุกสีที่จะแสดงถึงสิ่งที่เด็กเขาเห็น และเขาก็วาดออกมาได้จากจินตนาการเขา หรือสีผมของตุ๊กตาให้มีสีดำ สีน้ำตาล สีทองบ้าง ไม่ใช่แค่สีทองแบบที่เราเห็น มันสอนให้เราเห็นว่าคนอีกชาติหนึ่งที่พูดไม่เหมือนกับเรา แต่เขาก็มีคุณค่าในรูปแบบของเขา ซึ่งบางทีเราอาจจะมองข้าม ถ้าเราไม่ได้สัมผัสคนหลายๆ ชาติมาตั้งแต่เด็กๆ ”

 
'Inno-education' งานวิจัยคู่การฝึกฝน!

  “งานวิจัยเขาบอกว่าถ้าเป็นจุดๆ เด็กก็จะหยุดตามจุดทุกครั้ง แต่เป้าหมายของการสอนเขียนลายมือ คือ เราต้องการให้มีการลากเส้นที่ลื่นไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ เรากำลังฝึกกล้ามเนื้อมือด้วยการลากเส้น ไม่ใช่หยุดตามจุด” 
"เขาเลยบอกว่ากี่ร้อยปีแล้วทุกคนก็ยังเขียนจุดๆ ตามหนังสือ ไม่เคยเอางานวิจัยมาออกแบบหนังสือใหม่เลยสำหรับการสอนเขียนลายมือ การสอนเขียนลายมือสมัยใหม่คือการไม่มีจุดแล้ว มันก็จะเร็วขึ้น” ครูหนูยกตัวอย่างให้ฟังถึงการเรียนการสอนที่ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ในปัจจุบัน ผลของงานวิจัยต่างๆ ทำให้ครูหนูนำมาประยุกต์ใช้กับการสอนในแต่ละครั้งด้วยเช่นกัน

การนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้กับเรื่องการสอนในโรงเรียนนั้น จึงกลายเป็นที่มาของการสอนแบบ Inno-Education ถือเป็นจุดเด่นของการสอนที่ทำให้เด็กมีการพัฒนาไปในทางที่ถูกต้องนั่นเอง “ย้อนกลับมาที่ Inno-Education ซึ่งต้องบอกก่อนว่ามันไม่ใช่หลักสูตร ถ้าเราเห็นบางคนที่ไม่ค่อยนำผลวิจัยมาประยุกต์ใช้ เค้าก็จะเป็นผู้ปฏิบัติ นับวันสอนไปเรื่อยๆ ไม่ได้อ่านงานวิจัยว่าอะไรที่ช่วยในการเรียนรู้ของเด็ก นักการศึกษาอีกกลุ่มนึงที่ทำแต่งานวิจัย แต่ไม่เคยประยุกซ์ใช้ในห้องเรียน และเขาก็ไม่เคยสอนในห้องเรียนเหมือนกัน”

 
หากถามถึงนิยามความเป็นตัวเองในแบบฉบับของครูหนูว่าเป็นคุณครูสไตล์ไหน คงเดาได้ไม่ยากเพราะด้วยนิสัยการช่างสังเกตและการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเด็กนักเรียนให้กลายเป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคต จึงทำให้การสอนของที่นี่ตอบโจทย์ความเป็นตัวเองของเธอมากที่สุด

“หนูเป็นครูที่สอนครู หนูเป็นคนที่คิดนอกกรอบพอสมควรมาตลอด มันเป็นสไตล์ของตัวเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น Inno-education มันก็จะไปตามนิสัยของเรา คือ ชอบประยุกต์ใช้ของต่างๆ ที่เรียนมา ชอบจับนั่นมาผสมนี่ แล้วมาพิสูจน์ว่ามันเวิร์คจริงๆ หรือเปล่า”

นอกจากนี้ครูหนูยังขยายความให้ทีมข่าวฟังอีกว่า การสอบเพื่อวัดผลตัวเด็กนั้นอาจเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่ความจริงแล้วการทดสอบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผลของมันคือการวัดผลตัวผู้สอนเสียมากกว่า นี่คือมุมมองของครูหนูที่ต้องบอกเลยว่าทีมงานเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัย

“คอนเสปต์ของการสอน โรงเรียนส่วนใหญ่จะออกข้อสอบให้เด็กสอบ มักจะคิดว่าเป็นการวัดผลเด็ก โรงเรียนนี้ไม่คิดอย่างนั้นเลย เพราะการสอบจริงๆ แล้วคือการวัดผลครู ถ้าหากครูสอนมีประสิทธิภาพจริงๆ เด็กก็ต้องทำได้หมด เพราะฉะนั้นการพลิกความคิดบางอย่าง มันทำให้ครูมีพลังที่จะสอนให้ดีขึ้น คืออะไรเล็กๆ น้อยๆ แค่นั้นเอง มันช่วยได้เยอะ”

ภูมิคุ้มกันสร้างได้ตั้งแต่เด็ก!

“เราสังเกตได้ว่า นิสัยของเด็กแต่ละคนจะกลายเป็นเด็กที่ชอบแกล้งคนหรือไม่ หรือจะกลายเป็นเด็กที่โดนแกล้งหรือเปล่า มันจะเกิดขึ้นจากสนามเด็กเล่นนี่แหละ เพราะตอนนั้นจะไม่มีผู้ใหญ่มาคุมแล้ว” ครูหนูเอ่ยขึ้นพร้อมยกตัวอย่างสถานการณ์ของเด็กแต่ละคนเวลาอยู่ในสนามเด็กเล่น คำถามคือไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรของสนามเด็กเล่นจะมีส่วนให้เด็กแต่ละคนซึมซับนิสัยที่ทั้งดีและไม่ดีได้จากตรงนั้น

“ถ้าเขาเห็นตัวอย่างใครพูดไม่ดี หรือพูดอะไรที่ทำให้เด็กอีกคนเสียใจ เขาไม่มีใครมาสอนก็จะทำไปเรื่อยๆ ทุกปีๆ เราถึงได้เจอตอนมัธยมว่าจะมีเด็กที่เขินอายหน่อย กับเด็กที่กล้าแสดงออกทั้งทางที่ดีและไม่ดีบ้าง มันจะเห็นชัดขึ้นตอนโต” เธอขยายความต่อให้มองเห็นและเข้าใจในสถานการณ์ที่อาจส่งผลต่อลักษณะอุปนิสัยของเด็กแต่ละคนเมื่อพวกเขาเติบโต

นี่จึงเป็นความต้องการของคนเป็นครูที่ต้องการให้สถาบันโรงเรียนมีส่วนช่วยในการปลูกฝังให้เด็กแต่ละคนพร้อมเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงในอนาคต นอกจากนี้ครูหนูยังอธิบายต่อไปว่า สังคมปัจจุบันมักมีตัวอย่างความเห็นแก่ตัวให้เห็นในทุกรูปแบบอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือการปลูกฝังให้เด็กนักเรียนไม่มองเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติ


 
“ในสังคมที่เราเห็นเวลาเข้าคิวแล้วมาคนตัดคิว มันอยู่ในนิสัยที่จะต้องเป็นเบอร์หนึ่ง ที่จะต้องเอาชนะ เราเลยสอนเด็กว่าถ้าเราจะเอาชนะเป็นเบอร์หนึ่ง เราต้องรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร เหมือนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคม

  เราก็ไม่ต้องการแบบนั้นในโรงเรียน เราต้องการให้เด็กเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หัดรอเป็น สมมุตมีของเล่นแค่ชิ้นเดียว ให้เขาหัดรอ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนแรกที่ได้เล่นของเล่นชิ้นนั้น เรื่องพวกนี้เราพยายามสอนในโรงเรียนมาก เราต้องการให้เขาโตมาแล้วเป็นคนที่ดี”

นั่นจึงกลายเป็นเหตุผลที่ว่าเด็กจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของครอบครัวเสมอไป สภาพแวดล้อมในโรงเรียนมีส่วนสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมสิ่งมีชีวิตตัวน้อยให้มีความแข็งแกร่งได้ในสังคมต่อไป 
“โรงเรียนเป็นสังคมแรกของเด็ก ถ้าเราจะปลูกฝังอะไรก็เริ่มจากโรงเรียน ให้เขาเป็นคนดี ให้เขาไม่ดูถูกคน ให้เขาไม่ทำทุจริตต่างๆ ก็คือในโรงเรียนทั้งนั้น มากกว่าพ่อแม่อีกนะ แม้พ่อแม่จะมีส่วนสัก 50-50% ก็ตาม แต่ถ้าเกิดพ่อแม่สอนอย่างหนึ่ง แต่ตัวอย่างในโรงเรียนอีกอย่างหนึ่งก็ไม่ได้มีประโยชน์”

การให้ของขวัญ = จุดเริ่มต้นการทุจริต !?

“มันคือธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ครูไทยอย่างเดียว ครูฝรั่งก็เป็น มันมีหลักของการได้รับสิ่งของ ธรรมชาติของคนที่ได้รับของขวัญ จะเป็นใครก็ตามระดับการศึกษาใดก็ตาม ทำอาชีพอะไรก็ตาม ใครก็ตามที่ได้รับของขวัญเราจะรู้สึกว่าเราติดบุญคุณแล้ว” ครูหนูอธิบายให้ฟังหลังจบคำถามที่ว่าจะสอนเด็กไทยให้โตไปไม่โกงได้อย่างไร ฟังดูแล้วอาจยากที่จะตอบได้ทั้งหมด ทว่า ครูหนูให้คำตอบทีมงานผ่านสถานการณ์เล็กๆ ที่เชื่อเลยว่าเกิดขึ้นในสังคมไทยในทุกๆ วงการ

“ใครก็ตามที่ได้รับของขวัญเราจะรู้สึกว่าเราติดบุญคุณแล้ว เพราะฉะนั้นการได้รับของขวัญมันจะรู้สึกว่าเราจะต้องให้กลับในวิธีใดวิธีหนึ่ง เราเลยไม่ให้เป็นตัวอย่างเด็กในอนาคตด้วยว่าต้องให้ของขวัญ มันก็จะเริ่มน้อยลงแล้ว นั่นคือจุดแรกของการลดการทำทุจริต”

 
เรียกได้ว่าเป็นความเคยชินที่เห็นจนเป็นเรื่องปกติ การให้ของขวัญกับใครไม่ว่าเป็นการให้ด้วยน้ำใจ หรือการให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทนก็ตาม กลายเป็นวัฒนธรรมไทยที่พบเห็นเสมอมา ซึ่งสำหรับการให้ของขวัญในรั้วโรงเรียนนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้หากผู้ปกครองมีน้ำใจให้ครูผู้สอนด้วยใจจริง การกำหนดเงื่อนไขการให้ของขวัญในวันสำคัญเท่านั้น จึงเป็นวิธีทางแก้ปัญหาได้ดีที่สุด

“วัฒนธรรมไทยเราจะให้ของขวัญกับครู คนให้บริการอะไรก็ตาม เช่น หมอ เวลาเราจะผ่าตัดก็ให้ของขวัญไว้ก่อนแล้ว คือเราเข้าใจในวัฒนธรรมการมีน้ำใจของคนในสังคมเรา แต่ว่าเราก็ต้องมีจุดยืนที่ว่า ผู้ปกครองบางคนให้ของขวัญเพราะเขาอยากที่จะให้ครูดูแลลูกเขาอย่างเป็นพิเศษ มันก็ต้องแยกแยะให้ถูกว่าให้ของขวัญเพื่อวันพิเศษ เช่น วันปีใหม่ วันครู วันสุดท้ายของการเรียน”

ความจริงที่ว่า เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้หากเกิดขึ้นซ้ำๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ อาจไม่ดีแน่หากเด็กมีการจดจำการกระทำที่ก้ำกึ่งระหว่างการมีน้ำใจกับความให้เพื่อหวังสิ่งอื่นด้วยเช่นนี้ ครูหนูขยายความต่อว่าในทางที่ดีนั้น หากผู้ปกครองต้องการแสดงคำขอบคุณให้ครูผู้สอนจริงๆ ควรเขียนเป็นจดหมายหรือให้สิ่งของอื่นที่มีประโยชน์ด้านการเรียนการสอนคงดีกว่า

“เราเลยกำหนดว่าเราจะให้ของขวัญกันในวันสำคัญเท่านั้นที่ครูจะได้รับของขวัญจากผู้ปกครอง ถ้าคุณต้องการให้โชว์ความรู้สึกดีๆ ที่ได้ช่วยนักเรียน ช่วยลูกเขาให้เข้าใจมากขึ้น เราก็ขอให้เขาเขียนเป็นจดหมายแทนให้ของ ตรงนี้มันเป็นการลดไม่ให้เด็กเห็นว่าการติดสินบนเป็นเรื่องธรรมดา

มันเป็นจุดเริ่มต้น เรียกว่ามันเป็นสีเทาๆ ระหว่างติดสินบนหรือให้เพราะมีน้ำใจ แต่มันเป็นสีเทาที่เราควบคุมได้ วันสำคัญก็ให้ของกันไม่มีปัญหา แต่วันอื่นๆ ก็ให้เขียนจดหมายของคุณครู เขียนเป็นการ์ดให้ก็ได้ หรือให้หนังสือนิทานเพื่อจะมาอ่านในห้องเรียน และเขียนโน๊ตขอบคุณครู”







กำลังโหลดความคิดเห็น