xs
xsm
sm
md
lg

เช็คเด้งพุ่งทั่วประเทศธุรกรรมหดแบงก์งดจ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ปฏิเสธการจ่ายเช็ค ผสมโรงเช็คเด้งในระบบพุ่งช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดี พบเช็คเด้งเพิ่มขึ้นทั้งพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด ธปท.เผย ในระบบมีปริมาณและมูลค่าทั้งสิ้น 6 ล้านฉบับ มูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท หดตัวทั้งปริมาณและมูลค่า

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้เผยแพร่ข้อมูลการเรียกเก็บเงินตามเช็คล่าสุดเดือนก.ค.58 พบว่า ในระบบมีปริมาณเช็คทั้งสิ้น 6 ล้านฉบับ คิดเป็นมูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลง 2.1%จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากธนาคารระมัดระวังในการจ่ายเช็คมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้สถาบันการเงินผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงิน (เช็คคืน) อีกทั้งเช็คคืนไม่มีเงิน (เช็คเด้ง) เพิ่มขึ้น สะท้อนสัดส่วนมูลค่าเช็คคืนรวมและเช็คเด้งต่อเช็คเรียกเก็บเพิ่มขึ้นจาก 0.54% และ0.27% ขยับอยู่ที่ 0.55% และ0.30% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีปริมาณเช็คทั้งสิ้น 4.07 ล้านฉบับ มูลค่า 2.82 ล้านล้านบาท ปริมาณและมูลค่าลดลงอยู่ที่ 3.2% และ2.3%จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่วนเช็คคืนมีปริมาณทั้งสิ้น 5.31 หมื่นฉบับ คิดเป็นมูลค่า 1.19 หมื่นล้านบาท โดยมีสัดส่วนมูลค่าเช็คคืนต่อเช็คเรียกเก็บลดลงจาก 0.43% เหลือ 0.42%ขณะที่เช็คเด้งมีปริมาณ 3.64 หมื่นฉบับ มูลค่า 6.14 พันล้านบาท โดยมีสัดส่วนเช็คเด้งต่อเช็คเรียกเก็บเพิ่มขึ้นจาก 0.18% เป็น 0.22% ในเดือนนี้

เช็คต่างจังหวัด มีปริมาณและมูลค่าทั้งสิ้น 9.46 แสนฉบับ 2.76 แสนล้านบาท ปริมาณและมูลค่าลดลงเช่นกัน 2.1% และ2.5% ตามลำดับ ในส่วนปริมาณเช็คคืนและเช็คเด้งมีจำนวน 1.64 หมื่นฉบับ และ 1.12 หมื่นฉบับ คิดเป็นมูลค่า 2.89 พันล้านบาท และ1.55 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยสัดส่วนมูลค่าเช็คคืนรวมและเช็คเด้งต่อเช็คเรียกเก็บจาก 0.91% และ 0.54% ขยับอยู่ที่ 1.04% และ 0.56% ตามลำดับ ในเดือนนี้

ด้านเช็คเรียกเก็บข้ามจังหวัดกลับมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3.0% และ5.2% จากปัจจุบันเช็คพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งสิ้น 9.37 แสนฉบับ มูลค่า 8.56 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันสัดส่วนมูลค่าเช็คคืนรวมและเช็คเด้งต่อเช็คเรียกเก็บลดลงจาก 3.06% และ2.32% เหลือ 3.04% และ2.24% ในเดือนนี้ ตามลำดับ จากปัจจุบันมีเช็คคืนรวม 3.06 หมื่นฉบับ มูลค่า 2.60 พันล้านบาท และเช็คเด้ง 2.43 หมื่นฉบับ มูลค่า 1.92 พันล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น