รักษาการ เลขาฯ สผ. ย้ำ “โรงไฟฟ้ากระบี่” ประมูลแล้ว ก็สร้างไม่ได้ เหตุยังไม่ผ่านการพิจารณารายงานEIA ย้ำ “สผ.”จะไม่พิจารณารายงานอีไอเอ แม้กฟผ.จะไม่ถอนรายงานกลับคืนไปก็ตาม เตรียมตรวจสอบขั้นตอน “รับฟังความคิดเห็นจัดทำอีไอเอ”ครบถ้วนหรือไม่ เผย “กลุ่มคัดค้าน”เรียกร้อง 3 กิจการร่วมค้าผู้ยื่นประมูลถอนตัว ชี้จะเป็นผลดีต่อประวัติการลงทุนของบริษัท 'ณรงค์ชัย'ยันเดินหน้าโรงไฟฟ้าต่อ เผยยังคาดหวังว่าเปิดสำรวจปิโตรฯรอบ 21 ได้ทันก.ย.นี้แต่ต้องรอให้"สนช." ประกาศ ผ่านกม.ปิโตรเลียม 2 ฉบับก่อน ด้านกรมเชื้อเพลิงพลังงาน จ่อปรับเงื่อนไขยื่นสำรวจใหม่จากกำหนด 3 แปลงให้ใช้ระบบPSC เป็นเปิดกว้างทั้ง 29 แปลงให้เอกชนเลือกใช้PSC หรือสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส
วานนี้(10 ส.ค.) มีรายงานว่า นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้ตรวจการการกระทรวง รักษาการเลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สผ.ยังไม่พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ)ของโครงการส่วนขยายโรงไฟฟ้ากระบี่ และโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้วของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)จนกว่า คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐตัวแทนจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ และภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะพิจารณารายงานดังกล่าวแล้วเสร็จ
“แม้ กฟผ.จะเดินหน้าขั้นตอนการประมูลการก่อนสร้างแล้ว ก็จะยังไม่สามารถดำเนินการเดินหน้าการก่อสร้างได้หากอีไอเอยังไม่ผ่าน ทั้งนี้ สผ.จะไม่พิจารณารายงานดังกล่าว แม้ กฟผ.จะไม่ถอนรายงานกลับคืนไปก็ตาม”
นางรวีวรรณ กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีกลุ่มคัดค้านระบุว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำอีไอเอ ขั้นตอนดังกล่าวได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม( ทส.)มีรายละเอียดที่ข้ามขั้นตอนไม่ได้ เช่น ต้องมีการระบุรายชื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมีการซักถามความเห็นเพิ่มเติมโดย สผ.จะตรวจสอบว่าขั้นตอนนี้ดำเนินการครบถ้วนหรือไม่
ทั้งนี้ที่พบว่าโครงการได้ก่อสร้างผ่านพื้นที่ป่าชายเลน การดำเนินการจะต้องมีความสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ต้องขออนุญาติการใช้พื้นที่และให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้อนุมัติจึงจะดำเนินการได้
มีรายงานว่า ที่ผ่านมามีการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่าง นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่เห็นว่า ไม่ควรมีการเปิดประมูลเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้า กรณีนี้ถ้าเปิดประมูลไปแล้ว ก็ต้องยกเลิก เพราะเปิดซองไปแล้วได้ผู้ชนะมา ก็ยังทำอะไรไม่ได้ ก่อสร้างอะไรก็ไม่ได้ เพราะรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ยังไม่ผ่าน ยิ่งกรณีที่จะมีการสร้างอุโมงค์มุดพื้นที่ป่าชายเลน ระยะทางถึง 9 กิโลเมตร
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังจะไม่อนุญาตโครงการนี้ต่อ กฟผ. เนื่องจากพบว่า การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มีการวัดพิกัดกันเฉพาะในแผนที่ แต่ไม่มีรายละเอียดในพื้นที่ จึงมีจุดอ่อนจำนวนมาก ซึ่งพบว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้ติงไปหลายข้อ
ขณะที่บทสรุปของการหรือในครั้งนั้น สรุปว่า กฟผ. ควรรีบมาถอนอีเอชไอเอ ออกจากการพิจารณาของคชก. เพื่อแสดงความจริงใจ
'ณรงค์ชัย'ประกาศยังเดินหน้าต่อ
วันเดียวกัน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ยังคงเดินหน้าไปตามกระบวนการปกติ และล่าสุดทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ได้ดำเนินการเปิดให้เอกชนยื่นประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวไปแล้ว
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีการล็อคสเปกให้กับกิจการร่วมค้าบริษัท อัลสตอม เพาเวอร์ ซิสเต็ม บริษัท อัลสตอม(ประเทศไทย) จำกัด และบ.มารูเบนี จำกัด ที่เป็น 1 ใน 2 กลุ่มที่ยื่นประมูลนั้น “ไม่ทราบจริงๆ คงจะต้องไปถามคนเขียน”
มีรายงานด้วยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ผู้ใช้ชื่อว่า Tara Buakamsri ได้รณรงค์ผ่านเวปไซค์ www.change.org/เรียกร้องให้ นาย Didier Farez ผู้บริหาร The President of ALSTOM (Thailand)นาย Sheldon Young ผู้บริหาร ALSTOM (Thailand) และนาย Christine Rahard-Burnat ผู้บริหาร Corporate Communication, Alstom HQ ทั้งหมดเป็นกิจการ บริษัท Alstom ถอนประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยมีใจความว่า นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มีความพยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตติดตั้ง 870 เมกะวัตต์และท่าเรือขนถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศที่จังหวัดกระบี่ ความพยายามล่าสุดของ กฟผ. คือ เปิดเชิญชวนให้เอกชนยื่นข้อเสนอขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้า
ในเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา บริษัทอัลสตอม (ประเทศไทย) โดยนายดิดิเอร์ ฟาเรส ระบุว่า บริษัทอัลสตอมจะเข้าแข่งขันประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ โดยอ้างถึงเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้าของตน
การเปิดประมูลโครงการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่กระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการมีความฉ้อฉล ไม่เป็นที่ยอมรับของชุมชนท้องถิ่น สร้างความขัดแย้ง ละเมิดสิทธิชุมชน และละเลยความสำคัญของระบบนิเวศปากแม่น้ำกระบี่ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Wetland of International Importance) ตลอดจนระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอันเป็นฐานสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในแถบทะเลอันดามัน
การเปิดประมูลเกิดขึ้น ในขณะที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่โดยนำเข้าถ่านหินมาจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือแอฟริกาใต้ กระบี่สามารถเป็นจังหวัดพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเต็มร้อยได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเป็นระบบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
การเปิดประมูลเกิดขึ้นโดยอ้างความจำเป็นด้านความมั่นคงทางพลังงานจากถ่านหินสกปรก ในขณะที่ทิศทางพลังงานของโลกมุ่งไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืน และบริษัทอัลสตอมในฐานะบริษัทอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าเองก็รับรู้แนวโน้มดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี
การไม่เข้าร่วมการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ของบริษัทอัลสตอม(Alstom) จะเป็นผลดีต่อประวัติการลงทุนของบริษัทเอง แทนที่ อัลสตอม(Alstom) จะกลายเป็นบริษัทที่เสื่อมเสียจากการมีส่วนทำลายสรวงสวรรค์แห่งอันดามันให้ย่อยยับลง.
ลุ้นเปิดสำรวจปิโตรฯก.ย.
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ยอมรับว่ายังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 เนื่องจากจะต้องรอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เห็นชอบประกาศร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ.2514และร่างพ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียมเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามยังคาดหวังว่าการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 จะทันในปีงบประมาณ 2558 หรือภายในก.ย.นี้
" กระทรวงพลังงานเราพร้อมอยู่ทุกวันที่จะเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ แต่ก็อยู่ที่สนช.จะออกกฏหมายเมื่อใด ซึ่งที่ผ่านมาก็ให้มีการเพิ่มกติกาการเปิดสัมปทานเพิ่มไปแล้วเราก็ทำตามข้อเสนอ"รมว.พลังงานกล่าว
ทั้งนี้ ต้องการให้ประชาชนตระหนักว่า การค้นพบแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยไม่ได้ง่ายเลย กรณีล่าสุดการผลิตก๊าซฯในพื้นที่แหล่งดงมูล 5 (DM5) ที่เป็นการยื่นขอสัมปทานรอบที่ 18 สามารถผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติได้ประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือประมาณ 640 ตันต่อวันซึ่งก่อนหน้ามีการเปิดให้สำรวจฯก็ไม่พบจนกระทั่งล่าสุดซึ่งจะเห็นว่ากว่าจะสำรวจและค้นพบใช้เวลายาวนานมาก ดังนั้นการค้นพบแหล่งดงมูลคงไม่ได้ทำให้ความสนใจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 เป็นที่สนใจมากนักในแหล่งพื้นที่อีสานแต่อย่างใด
***เปิดกว้าง 29 แปลงเลือกระบบPSCหรือสัมปทาน
นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯกำลังพิจารณาแนวทางการเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งจะเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจในพื้นที่ 29 แปลงโดยเป็นพื้นที่ในทะเลอ่าวไทย 6 แปลงที่เหลือเป็นพื้นที่บนบกด้วยการเปิดกว้างให้เอกชนเป็นผู้เสนอว่าจะใช้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัสหรือ ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) จากเดิมก่อนหน้าที่ได้มีการหารือกันและตกลงที่จะเปิดให้ใช้ระบบ PSC เฉพาะแปลงที่มีศักยภาพ 3 แปลงในอ่าวไทยคือ แปลงหมายเลข G3/57 G5/57 และ G6/57
" เพื่อให้เกิดข้อครหาว่าทำไมถึงเปิดให้เฉพาะแปลงที่มีศักยภาพในการใช้ระบบ PSC จากเดิมที่เราระบุไว้แค่ 3 แปลงในอ่าวไทยก็จะเปิดให้เป็น 2 ระบบให้เลือกมาเลยว่าจะเอาแบบไหนระหว่างระบบสัมปทานกับPSC "นางพวงทิพย์กล่าว
อย่างไรก็ตามการเปิดสำรวจฯจะทันภายในก.ย.นี้หรือไม่ก็คงอยู่ที่สนช.จะประกาศผ่านร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและพ.ร.บ.ภาษีฯปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาร่างทั้ง 2 ฉบับทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งมาให้กรมฯยื่นยันร่างฉบับแก้ไขเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ทางกรมฯก็ได้ยืนยันไปแล้ว
ล่าสุดทางสำนักงานเลขารัฐมนตรีก็ได้ส่งคำถามมาให้กรมฯซึ่งก็ได้ชี้แจงไปแล้วประมาณ 3 ประเด็น ดังนั้นหลังจากนี้ก็จะต้องผ่านสนช.ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาก่อนที่จะยกร่างให้สนช.พิจารณากฏหมายต่อไปซึ่งก็คาดว่าจะต้องใช้เวลา 1-2 เดือน