จากคนใจบาปโหดเหี้ยม ก่อคดีอุฉกรรจ์มาแล้วนับไม่ถ้วน ทั้งข้อหาพยายามฆ่า จี้ ปล้น และค้ายา ติดสถานพินิจเด็กมาแล้วถึง 2 ครั้ง นอนห้องขังมาแล้วกว่า 6 ปี จนท้ายที่สุด ชีวิตที่เหลือเกือบถูกศาลพิพากษาให้ต้องลงเอยอยู่ในคุก เพื่อชดใช้เวรกรรมที่เคยก่อ
ประสบการณ์ระทึกใจทั้งหมดนั้นเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่สอนให้เด็กหนุ่มเลือดปักษ์ใต้ ได้เรียนรู้ถึงความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต และตระหนักได้ว่า กิเลสอย่าง “รัก โลภ โกรธ หลง” มักเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตกอยู่ในพื้นฐานครอบครัวที่ร้าวฉาน จนต้องหันหน้าเข้าสู่ทางธรรม อันเป็นวิถีที่ชาวพุทธปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่าง “การหลุดพ้น”
เป้าหมาย.. ที่ทำให้เขายอมสละได้ทุกสิ่ง ทั้งชื่อเสียง บ้าน เงินทอง หรือแม้กระทั่ง “ครอบครัว” และย่อหน้าต่อจากนี้คือคำสอนจากใจของ พระอาจารย์จำเนียร จารุธัมโม วัย 59 ปี แห่งวัดเขาบางนอน (วารีบรรพต) จังหวัดระนอง กับชีวิตวัยหนุ่มบนเส้นทางอันธพาล สู่ร่มกาสาวพัสตร์
ชีวิตวัยเยาว์ของหลวงลุงเป็นอย่างไร
“ตั้งแต่อายุ 12 อาตมาก็หนีออกจากบ้านแล้ว มีแค่เสื้อผ้าชุดเดียวกับเงินเพียง 10บาท 50 สตางค์ ตอนนั้นคิดอยู่อย่างเดียวว่าไม่อยากอยู่บ้านหลังนั้นแล้ว เพราะทางบ้านไม่ยอมส่งเสียให้เรียน โยมพ่อก็ติดเหล้าเมายา ติดผู้หญิงห้องอาหาร ทำร้ายคนในบ้านทุกวัน เล่าแล้วมันก็เหมือนละครนะ เด็กคนหนึ่งหนีออกจากบ้าน พาชีวิตพเนจรไปเรื่อยๆ ค่ำไหนนอนนั่น แต่โชคยังดีพอไปถึงจังหวัดชุมพรก็มีคนรับเข้าทำงาน อาตมาไปเป็นเด็กเก็บของในคณะหนังตะลุง หนูนุ้ย เป็นคณะเร่ที่ออกเดินสายตามต่างจังหวัด ทำกับเขาอยู่ได้ 2 ปี
จนพี่ในคณะคนหนึ่งชวนไปทำอู่รถด้วยกันที่จังหวัดพัทลุง แนะนำว่าได้เงินดี ไอ้เราก็ไปสิ ลำพังอาชีพเด็กเก็บของแบบนี้ได้วันละเพียงบาทห้าสิบ แค่มีกินไม่ให้อดไปวันๆ เท่านั้น แต่ชีวิตพลัดถิ่นมันไม่มีพรมแดงปูรอ มารู้ตัวอีกทีว่าการใช้ชีวิตในอู่รถทำให้เราติดกระท่อม ติดยาม้างอมแงม และพอติดหนักเข้า จากที่เคยเป็นผู้เสพก็เลยต้องมาเป็นผู้ขายเพื่อให้มีเงินซื้อมาสูบ จนอาตมาถูกจับเข้าสถานพินิจเด็กถึง 2 ครั้ง”
พอชีวิตก้าวเข้าวัยหนุ่ม ทราบมาว่าหลวงลุงเคยก่อวีรกรรมไว้มากมาย อยากให้ช่วยเล่าถึงประสบการณ์ในตอนนั้น
“คนเราถ้าได้หลงเข้าวงจรยาเสพติด ก็ต้องหลงผิดทำอย่างอื่นต่อไป หลังถูกปล่อยตัวจากสถานพินิจ อาตมาได้มาอยู่กับเพื่อนคนหนึ่งที่รู้จักกันในคุก ซึ่งคนนี้ก็ทั้งติดยา ทั้งขี้ขโมย อาตมาได้วิชาโจรจากมันมามาก ตั้งแต่วิธีลักรถ ปล้น จี้ แรกๆ อาตมาก็ลงมือกับมันด้วย แต่ระยะหลังๆ ตำรวจก็เริ่มชุม คนก็เริ่มระวังตัวกันมากขึ้น ทีนี้ก็เลยต้องเปลี่ยนจากขโมยรถที่จอดไว้ตามหน้าบ้าน ไปปล้นรถแทน จำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่อาตมาเลิกทำ เพราะเหยื่อเขาสู้ พอเห็นท่าไม่ดี
อาตมาจึงใช้มีดแทงเจ้าของรถ อาการเป็นตายไม่รู้ ตอนนั้นรู้แต่ว่าเราต้องหนี อาตมากับเพื่อนเลยแยกกันไปคนละทาง เพื่อนหนีไปอยู่ในสวน ส่วนอาตมาก็เอาเงินเก็บที่มีอยู่ 9 พัน หนีขึ้นไปอยู่กรุงเทพฯ เพิ่งมารู้ทีหลังว่าเพื่อนคนนี้ถูกยิงตายหลังจากอาตมาหนีไปกรุงเทพฯ ได้สองเดือน ซึ่งคนที่ยิงก็เป็นลูกชายของคนที่อาตมาทำร้ายวันนั้น แล้วพอไปอยู่กรุงเทพฯ ก็ยังไม่วาย ไปมีเรื่องกับคู่อริต่างสถาบัน อาตมายิงเขา แล้วก็หนีกลับมาอยู่ระนอง คือคิดง่ายๆ ว่าจะรอดเหมือนทุกที แต่ตำรวจกลับตามตัวจนเจอ จึงโดนจับและจำคุก 9 ปี แต่ลดโทษเหลือ 6 ปี”
แล้วทำไมชีวิตถึงหันเหมาทางพระธรรมได้
“มันมีมากกว่านั้นโยม ยอมรับว่าพอได้ออกจากเรือนจำ อาตมาก็ยังคิดไม่ได้หรอก ถึงจะเลิกเป็นโจรและเลิกยา แต่อาตมาก็ดันมาติดเหล้าติดพนัน ยังรับของเถื่อนมาขาย จนโยมพ่อไม่พอใจ ไปทำร้ายโยมแม่บ่อยๆ โทษที่ไม่สั่งสอนลูก จนวันหนึ่งอาตมาสงสารแม่ รู้สึกทนไม่ไหว จึงตัดสินใจจะฆ่าพ่อของตัวเองเสีย แต่แกไม่ตาย กระสุนเข้าเส้นประสาท แกเป็นอัมพาตครึ่งตัว ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนในหมู่บ้านต่างรู้ดี แต่เรื่องไม่เคยไปถึงหูตำรวจ เพราะคนในครอบครัวของอาตมากราบขอไว้ ตั้งแต่ตอนนั้นอาตมาจึงสำนึกได้ด้วยตัวเองว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหยุด ทิ้งชีวิตเก่าๆ ของเราด้วยการบวช บวชเพื่อชดใช้กรรมที่ทำกับบุพการี บวชเพื่อซับน้ำตาให้คนเป็นพ่อเป็นแม่”
ผลของการกระทำครั้งนั้น ทำให้ชีวิตในผ้าเหลืองมีอุปสรรคกับหลวงลุงอย่างไร
“เวรกรรมมันตามกันทันในชาตินี้ บางวัดก็ไม่รับบวชอาตมา แต่โชคยังดีได้หลวงตาที่วัดบางนอนนี่แหละยอมบวชให้เพราะเห็นว่าเรามีความตั้งใจจริง จำได้ว่าวันบวชไม่มีคนมาร่วมงานเลย นอกจากโยมแม่ ก็มีแค่สับประเหร่อ เจ้าอาวาส กับหมาในวัดรับรู้ อีกอย่างช่วงออกเดินบิณฑบาตเช้าก็เดินบาตรเปล่าทุกวัน คนเขาปิดประตูบ้านหนีก็มี ทำไม่เห็นก็มี บางทีก็รอให้อาตมาเดินผ่านไปก่อน ถึงออกมารอถวายปัจจัยทานกับพระอีกรูป แรกๆ ไอ้เราก็นึกน้อยใจนะ คิดว่าทำไมจะต้องมาเดินแบบนี้ทุกวัน ฝนตกแดดออกก็ต้องมา ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็นเราเป็นพระ”
เมื่อต้องเผชิญกับเรื่องแบบนี้ แล้วอะไรทำให้หลวงลุงถึงยังคงบวชเป็นพระ
“อาตมาเห็นน้ำตาของแม่ทุกเช้า มันเป็นน้ำตาที่แสดงถึงความดีใจ และทำให้อาตมายังมีกำลังใจต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลาย ตั้งแต่วันแรกที่สวมผ้ากาสาวพัสตร์ จนถึงวันนี้ก็ 14 ปี แต่ไม่เคยมีวันไหนเลยที่โยมแม่จะไม่มารอใส่บาตร ไม่ว่าฝนตก หรือแดดออกท่านก็ยังมา แล้วแบบนี้อาตมาจะเลิกล้มความตั้งใจไปง่ายๆ กับอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างไร”
การบวชให้อะไรกับชีวิต บวชแล้วทำให้ได้เรียนรู้ถึงอะไรบ้าง
“ผลตอบแทนจากการบวชมันขึ้นอยู่กับเจตนาของคนบวชนะโยม อย่างอาตมาบวชเพราะต้องการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่เคยก่อกรรมทำเข็ญในอดีต บวชเพื่อให้ผ้าเหลืองช่วยเหนี่ยวรั้งกายและจิตใจไม่ให้เกิดตัณหา โทสะ จนเที่ยวไปสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น และก็ช่วยอาตมาได้จริงๆ เพราะอย่าลืมว่าการบวชเป็นอุบายวิธีที่พระพุทธเจ้าสร้างขึ้นเพื่อให้คนละจากบาป ทำให้เราต้องมีศีล อยู่ในพื้นที่จำกัด โอกาสพบหน้าคนก็น้อยลง เมื่อน้อยลงก็น้อยความ น้อยปัญหา ถ้าวันนั้นอาตมาไม่บวช ตอนนี้อาจต้องนั่งอยู่ในเรือนจำที่ไหนสักแห่ง หรืออาจเสียชีวิตไปแล้วก็ได้”
บทบาทหน้าที่ของการได้รับตำแหน่งพระวินยาธิการหรือตำรวจพระจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง
“ก็ทำหมดแหละโยม ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย เหนื่อยกว่าเก่าด้วย จากที่ต้องทำงานกลางแดด กวาดลานวัด ทาสีกำแพงโบสถ์ จนตัวถูกแดดเผาจนขึ้นรูปอังสะ ยังต้องคอยช่วยเหลือด้านการปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัด คอยดูแลตรวจตราความสงบเรียบร้อยด้านการปฏิบัติวินัยของพระภิกษุสามเณร หรือพระที่เข้ามาในจังหวัดไม่ให้ทำผิดกฎระเบียบของสงฆ์”
ในวันนี้หลวงลุงคิดว่าจะบวชตลอดไปหรือเปล่า
“อาตมาบวชมา 14 ปี เวลาขนาดนี้ ถ้ามองไปข้างหน้า จะรู้สึกว่ามันยาวนานเหลือเกิน แต่พอได้มองไปข้างหลัง กลับรู้สึกว่ามันเร็วจนบางครั้งก็คิดว่า เราเพิ่งปลงผมบวชไปเมื่อไม่นานนี้เอง เรื่องของอนาคตอาตมาไม่รู้ แต่ตอนนี้อาตมายังไม่มีความคิดจะสึก เพราะยังอยากเรียนรู้การมีชีวิตอยู่อย่างไม่เบียดเบียน ยังอยากเผยแพร่ทางสงบให้กับชาวพุทธต่อไป ให้เขารู้ว่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเราตายไป สิ่งที่เราทำกับคนอื่นเท่านั้นที่ยังอยู่ และที่สำคัญอาตมาจะสึกก็ต่อเมื่อ สามารถออกไปใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไปได้โดยไม่รู้สึกละอายกับกรรมที่เคยก่อ ซึ่งวันนั้นอาจจะเป็นวันเดียวกับที่อาตมามรณภาพแล้วก็ได้”
ถ้าตอนนี้มีใครสักคนหลงทำผิดเหมือนครั้งที่หลวงลุงยังเป็น 'หนุ่มสาว' หลวงลุงอยากจะตักเตือนเขาว่าอย่างไร
“ไม่มีใครผิดเสมอไป แต่ก็ไม่มีใครถูกตลอดกาล จะเป็นคนดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าที่ผ่านมาเคยทำอะไร แต่ขึ้นอยู่ที่ว่า เมื่อไหร่จะเริ่มลงมือปรับปรุงเเก้ไขมากกว่า โยมสังเกตไหม ต้องฟ้ามืดเท่านั้นถึงจะเห็นดาว ชีวิตคนก็เหมือนกัน บางทีอาจต้องผ่านชั่วเป็นร้อยพันจึงค้นพบทางออกของชีวิต"
"อาตมาอยากฝากถึงคนที่เคยหลงผิดว่าอย่าเพิ่งท้อใจ ชีวิตนี้มันสั้น แต่คงไม่สั้นเกินจะเริ่มต้นใหม่ และที่อยากฝากถึงมากที่สุดก็คือคนในสังคม อาตมาอยากให้ทุกคนตระหนักถึงการให้อภัยซึ่งกันและกัน เพราะถ้าวันนั้นไม่มีวัดไหนยอมรับอาตมาเป็นภิกษุ วันนี้ชีวิตคนหนึ่งคนคงผุพังไม่เป็นท่า และคิดว่ายังมีผู้หลงผิดอีกเยอะที่อยากเปลี่ยนชีวิตตัวเอง แต่เขาไม่ได้รับโอกาสเหมือนอาตมา เพราะสังคมไม่หยิบยื่น มันน่าใจหายนะที่เรากำลังตกอยู่ในยุคที่ถูกสอนให้เชื่อว่าความคิดของคนส่วนใหญ่ถูกต้อง จนเรายึดติดกับความคิดของคนส่วนมาก และคาดหวังว่าเมื่อสังคมยอมรับแล้ว เราจะเป็นคนดี มันจึงกลายเป็นว่า เราใคร่หาการยอมรับ มากกว่าต้องการจะเป็นคนดี”