xs
xsm
sm
md
lg

ศ.ดร.กำพล อดุลวิทย์ ผู้นำซื่อสัตย์ที่น่าเรียนรู้

เผยแพร่:   โดย: ดร.ประยูร อัครบวร

ในชีวิตคนเรา การได้มีโอกาสพบ คบหา ได้เรียนรู้จากบุคคลที่เป็นทั้งคนดี คนเก่ง คนกล้า มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ถือว่าเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยามที่สังคมป่วย ภูมิต้านทานต่ำ ความดีไม่สามารถตอบปัญหาปากท้องของคนส่วนใหญ่ได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นผู้บริหารองค์การที่มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก เป็นผู้ที่ต้องธำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งหายากยิ่งในยามนี้ บทความนี้ขอยกตัวอย่าง ศ.ดร.กำพล อดุลวิทย์ อดีตอธิการบดี อดีตนายกสภามหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ที่มีมุมน่าศึกษาเรียนรู้ถึงภาวการณ์เป็นผู้นำ การแก้ความขัดแย้ง การจัดการดังนี้

1. ความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ เมื่อเป็นนักวิชาการ ต้องมาตรวจสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างกรณีที่ดิน สปก.4-01ในจังหวัดภูเก็ต ที่มีการอภิปราย ไม่ไว้วางใจรัฐบาล ดร.กำพล ในฐานะประธานตรวจสอบก็ได้แต่งตั้งคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีแห่งเดียวในประเทศไทยเป็นหัวหน้าคณะการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่ที่เป็นหัวข้อปัญหา ซึ่งข้อเท็จจริงที่คนไทยไม่ค่อยรู้กันก็คือว่า ในที่ดิน 1 ไร่ ถ้ามีไม้ที่เกิดในป่าธรรมชาติและมีเส้นรอบวงยาว 30 นิ้วขึ้นไปให้ตีความได้เลยว่านั่นคือ “ป่า” เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ครอบครัวนักการเมืองระดับชาติ จนรัฐบาลต้องยุบสภาในที่สุด ซึ่งแน่นอนคนที่เสียผลประโยชน์ย่อมไม่พอใจ ดร.กำพล เป็นธรรมดา แต่ก็เป็นบทพิสูจน์ว่ามหาวิทยาลัยที่มีผู้นำดี ย่อมเป็นที่พึ่งของสังคมได้

2.ไม่กลัวการข่มขู่คุกคาม อย่างเรื่องที่ดินที่นักการเมืองกลุ่มอิทธิพล พยายามเข้าครอบที่ดินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่วิทยาเขตศรีราชาโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งใช้วิธีการแบบนักเลงอันธพาลมีการข่มขู่อาจารย์ที่อยู่ในวิทยาเขตและถึงขั้นปล่อยข่าวให้อธิการบดีระวังอุบัติเหตุ ถ้าต้องไปแจ้งความกับตำรวจก็ต้องไปแจ้งกันเกือบทุกวัน ดร.กำพล จัดการโดยอาศัยเพื่อนที่เป็นนายทหารซึ่งกลุ่มอิทธิพลที่ว่าแน่ ต้องแพ้ทาง เรื่องที่ดินของวิทยาเขตศรีราชาจึงยุติ

3.ไม่หวั่นไหวไปตามกระแส เรื่องแก้ปัญหารถติด อย่างกรณีที่ทางด่วนดอนเมืองต้องการสร้างทางขึ้นจากถนนงามวงศ์วาน ซึ่งต้องตัดที่ดินมหาวิทยาลัยออกไปไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ โดยมีการอ้างว่าเพื่อช่วยระบายรถติดจากคนที่เดินทางมาจากด้านตะวันตก(นนทบุรี คลองประปา ฯ) เรื่องนี้ ดร.กำพลสู้ด้วยการตั้งคำถามว่าทำไมต้องให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้เสียสละ ทั้งที่ดินฝั่งตรงกันข้ามยังเป็นที่ว่าง ทำไมไม่ใช้ เพราะการขยายถนนงามวงศ์วานมหาวิทยาลัยเกษตรฯก็ยอมให้ตัดเนื้อที่ไปกว่า 30 ไร่แล้ว และที่สำคัญการสร้างทางด่วนก็ทำการศึกษามาตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีการระบุถึงการขอใช้เนื้อที่ของมหาวิทยาลัย เรื่องนี้ยุติด้วยบริษัททางด่วนถอยแต่ต่อมาได้ขยายอายุสัมปทาน

4.แก้ความขัดแย้งด้วยความเป็นกลาง เรื่องนี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อมีกลุ่มอาจารย์แยกเป็นฝักฝ่ายจนไม่สามารถสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยได้ ทางทบวงมหาวิทยาลัยได้ขอร้องให้ ไปช่วยแก้ไขปัญหาโดยไปรักษาการอธิการบดี ซึ่ง ดร.กำพลไปคนเดียว ไม่สร้างทีมหรือสร้างกลุ่มเข้าไปบริหาร แต่ดึงตัวแทนของกลุ่มอาจารย์ต่างๆที่ขัดแย้งกันมาร่วมบริหาร ทำให้เกิดความเข้าใจ ที่ไปคนเดียวเพราะไม่มีความคิดที่จะไปสร้างอำนาจบริหารใหม่ ดึงทุกฝ่ายเพราะไม่ได้ฟังความฝ่ายเดียว ขจัดความขัดแย้งที่ไม่เกิดประโยชน์ ปฏิบัติกับทุกฝ่ายด้วยความเสมอภาคโดยไม่มีอคติ จึงทำให้เกิดการยอมรับ ได้รับความร่วมมือซึ่งในที่สุดของการบริหารอยู่ 1 ปีทำให้สถานการณ์ขัดแย้งในมหาวิทยาลัยแม่โจ้คลี่คลายแล้ว ก็ถอนตัวออกมา

5.แก้ปัญหาด้วยเมตตาธรรม อย่างเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนมหาวิทยาลัยทักษิณจะมาสร้างที่จังหวัดพัทลุง ดร.กำพลเสนอแนะให้หาทางประนีประนอมโดยรับชาวบ้านหรือลูกหลานมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและที่ดินที่ทำกินอยู่นั้นต้องมาอยู่ในโครงการปลูกทดลองของมหาวิทยาลัย ซึ่งการปัญหาแบบประนีประนอมหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Win-Win นี้ก็ขจัดความขัดแย้งลงได้

6. การจัดการซื้ออุปกรณ์ที่ธนาคารโลกชื่นชม ซึ่งการจัดซื้อเครื่องมือทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์หลังวิกฤติการณ์ฟองสบู่ ประเทศเทศไทยต้องกู้ธนาคารโลก แต่การจัดซื้อมีปัญหา ที่หาข้อยุติไม่ลงตัวถึงขั้นประธานจัดซื้อในขณะนั้นลาออก รศ. ดร.วันชัย ศิริชนะปลัดทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้เชิญ ดร.กำพลมาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งวิธีการที่ใช้ให้ไปสู่ความสำเร็จก็คือ

6.1 ซื้ออุปกรณ์ตามความต้องการของผู้ใช้ โดยให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัยเขียนความต้องการมาที่ส่วนกลาง ซึ่งในกรณีที่อุปกรณ์แบบเดียวกันหรือคล้ายกันให้เอาแบบที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เลือก

6.2 แต่งประธานสภาคณบดีของฝ่ายวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นผู้วางคุณสมบัติในการประมูล

การจัดซื้ออุปกรณ์ครั้งนี้ เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นไปด้วยประสิทธิภาพที่ธนาคารโลกชื่นชม ว่าดีที่สุดที่โครงการหนึ่งที่เคยมีมา

จาก 6 ประเด็นข้างต้น ในทุกประเด็น ถ้าเป็นนักการค้าสีเทาย่อมเห็นว่าเป็นช่องทางการหาเงินได้ทั้งนั้น แต่ด้วยความเป็นคนดี คนเก่ง คนกล้า มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับกลุ่มอิทธิพลการเมือง ไม่ลดตัวไปรับสินบน และที่สำคัญไม่ขายศักดิ์ศรีนักวิชาการ ชีวิตบั่นปลาย ดร.กำพล ยังใช้ความรู้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย นายกสภามหาวิทยาลัยสยาม ทั้งใช้ชีวิตแบบพอเพียง อุทิศตัวมาช่วยโครงการหลวง จนทำงานไม่ไหวด้วยภัยจากโรคมะเร็ง

แม้วันนี้ร่างกาย ศ.ดร.กำพล อดุลวิทย์ ได้ลาโลกไปแล้ว แต่ชื่อเสียง คุณความดี ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินยังคงอยู่ ทั้งสื่อให้รู้ว่า “ความดีที่คนเราพูดถึงมักจะถูกมองว่าเป็นนามธรรม แต่การกระทำดีที่ปรากฏชัดนั้นย่อมเป็นรูปธรรมในหัวใจคนเสมอ”

ดร.ประยูร อัครบวร/24 ก.ค. 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น