ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล
อาจารย์ประจาสาขาวิชาเอกวิทยาการคอมพิวเตอร์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://as.nida.ac.th
อาจารย์ประจาสาขาวิชาเอกวิทยาการคอมพิวเตอร์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://as.nida.ac.th
ประเด็นเรื่องมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในสนามบินกำลังเป็นหัวข้อที่ถูกจับตามองอยู่ในประเทศไทยขณะนี้เลยนะคะ ไหนจะเรื่องการไม่ผ่านมาตรฐานของ ICAO (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ), ไหนจะเรื่องการที่มีอาวุธปืนหลุดรอดการสแกนกระเป๋าสัมภาระออกจากประเทศไปได้ แถมยังมีเรื่องที่ทางสนามบินต้องคอยระมัดระวังตรวจสอบผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัส MERS อีกด้วย ในยุคไอทีอย่างนี้แน่นอนว่าเทคโนโลยีย่อมเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยลดภาระหรือแม้แต่เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบรักษาความปลอดภัยในสนามบินได้ วันนี้ผู้เขียนเลยจะชวนคุณผู้อ่านมารู้จักกับเทคโนโลยีสแกนเนอร์ต่าง ๆ ที่มีใช้อยู่ในสนามบินทั่วโลกรวมทั้งที่ไทยกันค่ะ
เริ่มจากการสแกนกระเป๋าสัมภาระที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ตอนนี้เลยนะคะ โดยส่วนใหญ่แล้วการสแกนกระเป๋าจะใช้ เทคนิคการส่งรังสีเอกซ์ (X-ray) ออกไปสแกน ด้วยความที่รังสีนี้มีพลังงานสูงกว่าแสงสว่างตามปกตินี่เองค่ะ ทำให้มันสามารถเดินทางผ่านชั้นนอกของกระเป๋าเข้าไปถึงของที่อยู่ภายในได้ โดยเมื่อรังสีเอกซ์เดินทางไปกระทบกับวัตถุที่มีความหนาแน่นต่างๆ เช่น น้ำ โลหะ เสื้อผ้า ฯลฯ ก็จะส่งผลให้รังสีเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งค่าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้เองที่วิศวกรสามารถนำไปวิเคราะห์แล้วสร้างภาพผลลัพธ์ที่บอกได้ว่ารังสีเอกซ์ที่ส่งออกไปเดินทางไปกระทบกับของที่มีความหนาแน่นเท่าไหร่ในบริเวณไหนของกระเป๋าบ้าง ซึ่งพอดูรูปร่างของสิ่งของจากภาพความหนาแน่นที่ได้คร่าวๆ แล้วเราก็พอจะเดากันได้ใช่ไหมคะว่าอะไรน่าจะเป็นอะไรกันบ้าง
จุดอ่อนของเครื่องสแกนกระเป๋าสัมภาระแบบที่เราเห็นกันประจำตอนรอแถวสแกนของที่จะนำติดตัวขึ้นเครื่องไป ก็คือ ภาพที่เห็นมักเป็นภาพมุมเดียว สมมติถ้าเราลืมมีดสักเล่มเสียบใส่ไว้ในช่องด้านข้างของกระเป๋าเป้ เมื่อเครื่องสแกนมองกระเป๋าเป้นั้นจากมุมด้านบนก็จะเห็นแค่บริเวณสันมีดปรากฏเป็นเส้นบางๆ ในภาพ ไม่เห็นเป็นรูปร่างของมีดออกมาทำให้เจ้าหน้าที่ที่ดูภาพอยู่อาจพลาดการตรวจมีดเล่มนี้ไป แต่ถ้าเป็น เครื่องสแกนแบบที่ใช้เทคโนโลยี CT (Computed Tomography) จะมีการสแกนด้วยรังสีเอกซ์จากหลาย ๆ มุมมอง ทำให้สามารถสร้างแบบจำลองสามมิติของความหนาแน่นของทั้งกระเป๋าและของที่อยู่ภายในออกมาได้ คราวนี้การจะแอบซุกมีดให้รอดพ้นการมองเห็นของเจ้าหน้าที่ไปได้ก็คงยากขึ้นอีกพอสมควรค่ะ ข้อเสียของเครื่องสแกนแบบ CT นอกจากเรื่องของราคาที่แพงมากแล้วยังใช้เวลาเพื่อสแกนและประมวลผลมากกว่า แต่สำหรับเครื่อง CTX 9400 DSi ที่ใช้สำหรับสแกนกระเป๋าที่โหลดลงใต้ท้องเครื่องในสนามบินสุวรรณภูมินั้นได้ชื่อว่าเป็นเครื่องรุ่นท็อปที่ใช้เทคนิคการสแกนแบบ CT ร่วมกับวิธีพิเศษที่วิเคราะห์ภาพความหนาแน่นที่ได้เพื่อค้นหาวัตถุระเบิดโดยเฉพาะ การค้นหาดินปืนก็ทำได้กับดินปืนปริมาณตั้งแต่ 300 มิลลิกรัมเป็นต้นไป ซึ่งเครื่องรุ่นนี้มีความเร็วในการสแกนกระเป๋าได้ถึง 542 ใบต่อ 1 ชั่วโมงหรือใช้เวลาประมาณ 6.64 วินาทีต่อการสแกนกระเป๋าหนึ่งใบเท่านั้นค่ะ
ผ่านด่านสแกนกระเป๋าไปแล้ว ถัดมาก็คือด่านการสแกนคนค่ะ เครื่องสแกนในสนามบินประเภทที่ให้คนเดินเข้าไปหรือให้คนเดินผ่านนั้น จริง ๆ แล้วแยกออกได้เป็น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งมีไว้ตรวจจับโลหะอย่างเดียว (Metal Detector) โดยสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งจะทำปฏิกิริยากับโลหะ ซึ่งเครื่องแบบนี้ล่ะค่ะ คือ เครื่องที่ใช้กันอยู่ในสนามบินบ้านเรา ส่วนเครื่องอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ในไทยแต่มีใช้อยู่มากในสหรัฐอเมริกาเป็น เครื่องสแกนทั้งร่างกาย (Whole Body Imager / Advanced Imaging Technology) ที่จะค้นหาว่ามีวัตถุต้องสงสัยอยู่ที่ตำแหน่งใดในร่างกายหรือไม่ ซึ่งเครื่องประเภทนี้อาศัยการปล่อยรังสีหรือพลังงานบางอย่างที่สามารถทะลุผ่านวัตถุบางเบาอย่างเสื้อผ้าได้ ทำให้สามารถเข้าไปสแกนแบบแนบชิดถึงใต้ร่มผ้าเราได้เลยค่ะ เนื่องจากภาพสแกนที่ได้นี้ออกแนวคล้ายภาพนู้ดขาวดำอยู่สักหน่อยซึ่งไปสะกิดประเด็นเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ถูกสแกนเข้า จึงมีการกำหนดให้ใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์ที่จะไม่แสดงภาพ(เหมือนจะ) นู้ดของผู้ถูกสแกนแต่เป็นภาพการ์ตูนที่บอกเพียงว่าพบวัตถุต้องสงสัยอยู่บริเวณใดของร่างกาย เครื่องชนิดที่สองที่เป็นการสแกนทั้งร่างกายนี้ ถูกออกแบบมาให้ได้ผลเสมือนกับการตรวจแบบดั้งเดิมที่ผู้ตรวจใช้มือตบเบาๆ ตามเสื้อผ้าของผู้ถูกตรวจเพื่อหาสิ่งแปลกปลอม สามารถตรวจพบได้ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก ระเบิดเคมี อาวุธที่ไม่ใช่โลหะ รวมถึงโลหะต่างๆ ด้วย ปัญหาใหญ่ของเจ้าเครื่องนี้ก็คือเรื่องของประสิทธิภาพเวลาทำงานจริงค่ะ โดยมีข่าวว่ามีคนสามารถนำอาวุธ ระเบิด โลหะ และอื่นๆ ผ่านการสแกนของเครื่องนี้ไปได้อยู่เนืองๆ นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลถึงอันตรายต่อสุขภาพของผู้ถูกสแกนในระยะยาวด้วย
อ่านถึงตรงนี้คุณผู้อ่านอาจมีคำถามว่า แล้วกรณีที่อาวุธหรือระเบิดถูกผ่าตัดซ่อนไว้ใต้ผิวหนังหรือซ่อนไว้ในอวัยวะภายในร่างกายล่ะ? ในกรณีนี้ถ้าของนั้นเป็นโลหะก็ยังพอจะตรวจพบโดยเครื่องจับโลหะได้อยู่บ้างนะคะ แต่นอกจากนี้ก็เกินความสามารถที่เครื่องทั้งสองชนิดจะตรวจพบได้ค่ะ หรือถ้าจะเอาเครื่องสแกนรังสีเอกซ์แบบที่แพทย์ใช้มาทำงานตรงนี้ แม้จะสามารถตรวจพบได้แต่ปริมาณรังสีเอกซ์ก็มากกว่าเครื่องตรวจแบบทั้งตัวถึงกว่า 20-85 เท่าซึ่งคงไม่เหมาะแน่ค่ะสำหรับการนำมาสแกนผู้โดยสารในสนามบิน เทคโนโลยีทางเลือกอื่นสำหรับสแกนหาสิ่งแปลกปลอมทั้งที่อยู่ภายนอกและภายในร่างกายคนได้ที่มีความปลอดภัยเพียงพอจะใช้ในระบบอย่างสนามบินนั้น ตอนนี้มีหลายบริษัทในต่างประเทศกำลังพัฒนาอยู่ค่ะ แต่กว่าจะออกมาใช้ในระดับสแกนผู้โดยสารในสนามบินจริงได้อย่างเป็นทางการคงต้องผ่านอีกหลายด่าน โดยเฉพาะด่านใหญ่เรื่องความกังวลของผู้โดยสารเกี่ยวกับปริมาณรังสีเอกซ์และผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
จะเห็นนะคะว่าเทคโนโลยีก็ใช่ว่าจะทำได้ทุกอย่างเสมอไป แต่ละเทคโนโลยีล้วนมีจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง ในช่วงระหว่างที่เทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถตอบโจทย์เราได้ดีพอ อย่างน้อยวิธีคลาสสิกดั้งเดิมอย่างการใช้คนช่วยตรวจ ใช้คนช่วยสังเกตพฤติกรรมหรือสิ่งของที่ผิดปกติ และ การใช้สุนัขตำรวจดมกลิ่นก็เป็นวิธีที่สามารถนำมาใช้เสริมได้อยู่เสมอค่ะ