xs
xsm
sm
md
lg

"ประวิตร"ไม่สนประมงขู่หยุดหาปลา ห่วงอาหารทะเลขาด-แพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ประวิตร"เสียงแข็ง ไม่สนคำขู่ 4 ก.ค. เรือประมงหยุดหาปลา ย้ำต้องทำตามกฎหมาย ชี้รัฐให้เวลาขึ้นทะเบียนมานานแล้ว แต่ไม่สนใจเอง ศปมผ. ตั้งคณะทำงานทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติ ภายใน 9 ก.ค.นี้ หวังแก้ปัญหาระยะยาว เผยบางจังหวัดเริ่มจอดเรือลอยลำ รอวันดีเดย์ ส่วนการค้าขายอาหารทะเล ยังไม่พบผิดปกติ แต่ห่วงหลังเรือจอด มีโอกาสขาดแคลนและราคาพุ่ง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงกรณีเรือประมงที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเริ่มหยุดทำการประมงว่า เราต้องทำตามกฎหมาย เพราะขณะนี้กฎหมายบังคับใช้แล้ว เรือที่ถูกกฎหมาย ก็ออกทำการประมงได้ตามปกติ ส่วนปัญหาที่ว่าขึ้นทะเบียนไม่ทัน ที่ผ่านมา กองทัพเรือก็จัดเรือทำศูนย์บริการวันสต็อปเซอร์วิสให้บริการช่วยเหลือทุกอย่าง แต่ถึงวันนี้ต้องทำตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้

“ที่ผ่านมา เราปล่อยให้เรือประมงทำผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2534 ต้องทำให้ถูกต้องตามหลักสากล เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ และเราก็ค่อยๆ แก้ปัญหา โดยทางรัฐบาลจะหารือเพื่อช่วยเหลือต่อไป ส่วนการทำประมงชายฝั่ง ไม่ได้ห้าม ยังทำได้ตามปกติ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีมาตรการปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่มี ถ้าเรือออกไปตามจำนวนที่จดทะเบียน โดยทางพล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ คำนวณแล้วว่า จำนวนเรือที่ขึ้นทะเบียนแล้วนั้น ไม่มีปัญหา สามารถทำการประมงได้ และเชื่อว่าสัตว์น้ำก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะขณะนี้ ปริมาณสัตว์ในทะเล ลดลง เหลืออยู่เพียง 20% ดังนั้น เราต้องเพิ่มปริมาณให้ได้

เมื่อถามว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เกรงว่าจะเสียแนวร่วมชาวประมงหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คิดว่าไม่เสีย เพราะถ้าคนเข้าใจในกฎหมาย และเข้าใจว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่มีทางเสียแนวร่วมแน่นอน อีกทั้งคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับที่รัฐบาล เชื่อว่าทุกอย่างไม่มีปัญหา ที่ผ่านมา รัฐบาลให้เวลาเรือประมงที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนมาหลายเดือน แต่เมื่อเขาไม่สนใจ ก็ต้องได้รับผลกระทบแบบนี้

***มั่นใจ4ก.ค.ไม่หยุดทำประมง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ชาวประมงประกาศหยุดทำการประมงในวันที่ 4 ก.ค. พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คิดว่าจะไม่หยุดทำการประมง เพราะเชื่อว่าเขาเห็นใจรัฐบาลและประชาชนในภาพรวม ตนไม่ได้ไปต่อรอง แต่เขาต้องเห็นใจประเทศชาติและประชาชนกว่า 60 ล้านคน ตอนนี้ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย ส่วนจะคลี่คลายอย่างไรค่อยมาว่ากัน อนาคตตอนนี้ ก็ยังไม่ทราบว่าเขาจะปลดใบเหลืองหรือจะโดนใบแดงหรือไม่ แต่ตอนนี้ขอให้เห็นแก่ภาพรวมของประเทศด้วย

***ตั้งคณะทำงานร่างแผนปฏิบัติการแห่งชาติ

ที่ห้องประชุมกองบัญชาการกองทัพเรือ วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นประธานในการประชุม ศปมผ. ครั้งที่ 9 เพื่อติดตามผลการดำเนินการของ ศปมผ. รวมถึงการชี้แจงผลการตรวจและข้อสังเกตของ คณะอียู ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่อียูให้ข้อสังเกต พร้อมกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จ

สำหรับผลการประชุม ศปมผ. มอบหมายให้สำนักงานเลขานุการ ศปมผ. จัดตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมวิเคราะห์ และจัดทำเป็นแผนให้เห็นว่าประเทศไทยสมควรที่จะมีจำนวนเรือประมง และชนิดเครื่องมือที่เหมาะสมอย่างไร เพื่อให้การทำประมงมีความยั่งยืนต่อไป รวมทั้งให้ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) นำข้อมูลจำนวนเรือประมงที่สำรวจได้ นำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อให้เห็นภาพรวม และใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดค่าผลการจับสัตว์น้ำสูงสุดที่ยั่งยืน และให้ ศรชล. โดยส่วนควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (พีไอพีโอ) ร่วมกับสมาคมการประมงต่างๆ ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของเรือที่ยังไม่ได้มารายงานในการสำรวจเรือประมงที่ผ่านมา เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 31 ก.ค.นี้

ขณะเดียวกัน ได้ให้คณะทำงาน จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติ ในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (เอ็นพีโอเอ-ไอยูยู) นำส่งร่างแผนให้สำนักงานเลขานุการ ศปมผ. ภายในวันที่ 9 ก.ค. เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป อีกทั้งให้คณะทำงานปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับ จัดทำกระบวนการและขั้นตอนตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้เห็นภาพรวมในการปฏิบัติ และนำเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป

***เรือผิดประเภททยอยนำจอดเทียบท่า

สำหรับบรรยากาศการทำประมงในจังหวัดต่างๆ พบว่า เรือประมงที่ทำถูกต้องตามกฎหมายยังคงออกหาปลาตามปกติ แต่เรือประมงที่ผิดกฎหมาย บางส่วนได้นำเรือเข้ามาจอดเทียบท่า

ที่ จ.ปัตตานี ผู้ประกอบการเรือประมงที่ถูกประกาศให้เป็นเรือผิดประเภท ทั้งประมงอวนลาก อวนรุน ยังคงทยอยนำเรือเข้าจอดเทียบท่าตั้งแต่ปากอ่าวแม่น้ำปัตตานีหลายร้อยลำ เพื่อดูท่าทีเจ้าหน้าที่ศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมนำป้ายผ้าข้อความสนับสนุนการรวมตัวกันหยุดทำการประมง กดดันให้รัฐบาลผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรการ ผ่านศูนย์ดำรงธรรมพร้อมกันกับอีก 22 จังหวัดชายทะเล หากยังคงไม่มีคำตอบหรือมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยจะไม่นำเรือออกทำการแบบไม่มีกำหนด และจะขายเรือแทนแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น พร้อมตำหนิที่รัฐบาลกำหนดราคาขายเรือที่ต้นทุนลำละหลายล้านบาท เหลือเพียง 3 แสนบาทว่าไม่เป็นธรรม

“เจ๊แขก” หนึ่งในผู้ประกอบการเรือประมง กล่าวว่า หากมีผู้สนใจซื้อเรือก็จะยอมขาย แต่จะมาซื้อตามราคาที่รัฐบาลกำหนดนั้นมันไม่ได้ เพราะตั้งราคาให้เพียงลำละ 3 แสนบาท แต่เรือที่ต่อมานั้นราคาลำละหลายล้านบาท ขายแค่ 3 แสนบาทยังไม่พอค่าใบจักรเรือเลย พวกเรารู้และเข้าใจกฎหมายที่ออกมาเป็นอย่างดี แต่ประชาชนทำมาหากินลักษณะแบบนี้มานานแล้ว ควรจะให้ออกทำการประมงได้แบบถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ควรการออกใบอนุญาตให้เฉพาะกับเรือที่จะมาขอใหม่เท่านั้น แค่นี้ก็จบ อย่างไรก็ตามพูดมากไปก็จะหาว่าพวกเราเข้าข้างตัวเอง

***เรือถูกกฎหมายยังออกทำประมงปกติ

นายวัชรินทร์ รักษ์ยอดจิตร ประมงจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ชาวประมงปัตตานีได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มาก เนื่องจากส่วนใหญ่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ล่าสุดทางผู้ประกอบการเรือประมงทยอยมาสอบถามข้อมูล และจัดทำเอกสารให้ถูกต้องตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

“จนถึงขณะนี้เรือประมงยังออกทำการตามปกติ ยกเว้นเรือที่มีปัญหาประมาณ 54 ลำ คือ ไม่มีอาชญาบัตร หรือใช้เครื่องมือผิดประเภท เขาก็ไม่กล้าออกเรืออยู่แล้ว ซึ่งปัตตานีมีเรือประมาณ 3,000 ลำ เป็นเรือประมงพาณิชย์ประมาณ 2,700 ลำ”

ส่วนข่าวที่ว่าชาวประมงจะชุมนุมในวันที่ 3 ก.ค. ได้สอบถามไปยังแกนนำชาวประมงแล้ว ความจริงไม่ได้เป็นการประท้วงหรือนัดปิดอ่าว แต่เป็นการรวมตัวเพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เพื่อแสดงให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบว่า ชาวประมงมีความเดือดร้อน ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถแสดงออกได้ ซึ่งทางจังหวัดได้ชี้แจงถึงขอบเขตของการชุมนุมแล้ว เพื่อไม่ให้ขัดกับมาตรา 44 เพราะกังวลว่าจะมีบุคคลที่ 3 มาก่อกวน

***เทียบท่าส่งแพปลาก่อนจอดลอยลำ

ที่ท่าเทียบเรือประมงใหม่ จ.สงขลา เรือลอบหมึกและเรือหาปลายังคงทยอยกลับเข้าฝั่ง นำสินค้าสัตว์ทะเลส่งแพปลา ก่อนที่จะจอดลอยลำหยุดทำการพร้อมกันวันที่ 4 ก.ค.ตามมติของชาวประมงจ.สงขลา ซึ่งส่วนใหญ่ต่างจอดอยู่ตามท่าเทียบเรือหลายร้อยลำแล้ว เพราะมีอาชญาบัตรไม่ตรงกับเครื่องมือประมง แต่เรือประมงที่มีอาชญาบัตรตรงกับเครื่องมือ และเอกสารถูกต้องครบถ้วน ยังคงออกทำการตามปกติ

***ชุมพรขู่จอดเรือหากรัฐไม่ผ่อนผัน

นายไตรฤกษ์ มือสันทัด นายกสมาคมชาวประมงปากน้ำตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมประมง 3 แห่ง ได้แก่ ปากน้ำหลังสวน ปากน้ำตะโก และปากน้ำชุมพร คาดว่าวันที่ 3 ก.ค. เรือที่ไม่มีอาชญาบัตรหลายร้อยลำจะจอดนิ่งอยู่ตามปากร่องน้ำในทุกพื้นที่ แต่ละลำจะขึ้นป้ายขอจดทะเบียนอาชญาบัตรในรูปแบบกรณีพิเศษจากรัฐบาล หากรัฐบาลไม่ยอมผ่อนปรนเงื่อนไขพิเศษ ก็เหมือนทำร้ายอาชีพประมงโดยสิ้นเชิง

"ชาวประมงพร้อมจะทำตากฎระเบียบ แต่ต้องเข้าใจชาวประมงที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่าง เพราะไม่ได้ทำประมงตลอดทั้งปี โดยเฉพาะจ.ชุมพร ทุกปีมีฤดูปิดอ่าวเพื่อให้ปลาวางไข่ถึง 3 เดือน ออกหาปลาไกลกว่าปกติ และยังเจอช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือลมว่าวอีก 3 เดือน ทำให้แต่ละปีหาเลี้ยงชีพได้ไม่เกิน 4 เดือน ยิ่งรัฐบาลไม่ยอมออกอาชญาบัตรให้ในเงื่อนไขแบบพิเศษ ก็ต้องจอดเรือทิ้งเหมือนตกงาน ที่สำคัญแรงงานต่างด้าวนับพันคนต้องตกงาน ถูกเจ้าของเรือนำส่งคืนให้แก่จัดหางานจังหวัด เพราะไม่สามารถแบกภาระเลี้ยงดูได้ ที่สำคัญ โรงน้ำแข็งขนาดใหญ่อีก 8 แห่ง ก็ต้องหยุดผลิตน้ำแข็งไปด้วยเพราะไม่มีเรือประมงซื้อ"

***สตูลผ่อนผันยื่นเอกสาร

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ ประมงจังหวัดสตูล ได้ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบเรือประมง ที่แพปลาณรงค์ชัย หมู่ 2 ต.ปากน้ำ อ.ละงู ยืนยันว่า ศูนย์ปัญหาแก้ไขประมงผิดกฎหมาย ได้มีการผ่อนปรนให้ยืดระยะเวลาข้อ 11 และข้อ 12 การทำใบประกาศนายท้ายเรือ และใบประกาศช่างเครื่องไปเป็นวันที่ 16 ก.ค.นี้ เพื่อให้โอกาสผู้ประกอบการทำเอกสาร โดยทางจังหวัดจะเปิดอบรมทำใบประกาศในวันที่ 8 และ 9 ก.ค. ที่ท่าเทียบเรือปากบารา อ.ละงู และท่าเทียบเรือตำมะลัง อ.เมือง

***หาดใหญ่ห่วงหลัง4ก.ค.อาหารทะเลขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจอาหารทะเลทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ในตลาดสดพลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบว่า ยังมีขายตามปกติทุกชนิด และยังไม่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แม้ว่าเรือประมงใน จ.สงขลา จะเริ่มทยอยหยุดออกทำการประมงมา 2-3 วันแล้วก็ตาม

โดยแม่ค้าจำหน่ายอาหารทะเลในตลาดสดพลาซ่า ระบุว่า ต้องรอดูสถานการณ์หลังวันที่ 4 ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันดีเดย์ที่เรือประมงใน จ.สงขลา จะหยุดพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งอาหารทะเลอาจจะขาดแคลน และราคาเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่น่าจะขาดตลาดทั้งหมด เนื่องจากสินค้าสัตว์ทะเลที่จำหน่ายอยู่ในตลาดหาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะสั่งมาจากฝั่งอันดามันเป็นหลัก

***เรือกัมพูชาไม่กล้าเอาปลามาขาย

จ.ตราด ที่ท่าเรือประมงกัลปังหา ท่าเรือชลาลัย และท่าเรือบ้านคลองมะขาม ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ เรือประมงขนาดใหญ่และเล็กจอดลอยลำอยู่กว่า 800 ลำ และเป็นที่น่าสังเกตว่า เรือประมงสัญชาติกัมพูชาที่เดินทางมาขายปลาที่ท่าเรือทั้งสามแห่ง ไม่นำสัตว์ทะเลมาขายยังฝั่งไทย ทั้งที่ทุกวันจะมีมากว่า 10 ลำก็ตาม เนื่องจากเกรงจะถูกทางการไทยจับกุมดำเนินคดี เพราะยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายไทย

ส่วนที่ท่าเรือหาดเล็ก ที่เรือประมงพื้นบ้านกัมพูชา จาก จ.เกาะกง นำปลามาขึ้นท่าและขายให้กับพ่อค้าไทยวันละกว่า 20 ลำ ปรากฏว่า 2-3 วันที่ผ่านมาไม่มีเรือประมงจากจ.เกาะกง เดินทางเข้ามา ส่งผลกระทบต่อพ่อค้าไม่สามารถหาสัตว์ทะเลไปส่งลูกค้าได้ตามที่ต้องการ

ส่วนที่ตลาดสดเทศบาลคลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ แผงขายสัตว์ทะเลที่ทุกวันจะมีสินค้ามาขายจำนวนมาก ปรากฏว่ามีเพียงที่ชาวประมงพื้นบ้านนำมาจำหน่ายเท่านั้น สำหรับร้านอาหารอาหารทะเลยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจาก 1-2 วันที่ผ่านมายังมีสินค้าเพียงพอปรุงอาหาร แต่หากเรือประมงไม่ออกทำประมงในเร็วๆ นี้ อาจจะต้องปิดร้าน

แม่ค้าตลาดสดเทศบาลเมืองตราด บอกว่า ยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นปลาเก่าที่สต๊อกไว้ ยังขายราคาปกติ อีกทั้งยังเป็นปลาเลี้ยงในกระชัง เช่น ปลากะพง

***นักวิชาการเชื่อไม่กระทบภาพรวม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีที่เรือประมงไม่ผ่านอาชญาบัติ และหยุดเดินเรือเมื่อวันที่ 1ก.ค.2558ว่า ปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพราะการหยุดเดินเรือที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นเรือขนาดเล็กและเรือขนาดกลาง แต่เรือลำใหญ่และเรือที่ไปหาปลาในระยะไกลๆ ไม่ได้เป็นการหยุดเดินเรือทั้งหมด ดังนั้นเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อราคาอาหารทะเลมากนักแม้ว่าราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้างในบางพื้นที่ก็ตาม เนื่องจากยังมีอาหารทะเลจำนวนมากมาจากการเลี้ยงเช่น กุ้ง ขณะที่บางส่วนก็นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น