“สอดแนมการเมือง”
โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
“วิคเตอร์ ฮูโก” นักคิด กวี นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส พูดว่า..
“..มีสิ่งหนึ่งซึ่ง แสนยานุภาพมากกว่ากองทัพใดในโลก และสิ่งนั้น คือ ความคิดอันน่าชื่นชม ที่มีในช่วงเวลาหนึ่ง”
สิ่งที่ “ฮูโก” พูดถึงนี้..เกิดขึ้นมากมายบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะในห้วงทศวรรษปี 60-70 บนท้องถนนชาติมหาอำนาจอเมริกา เกิดปรากฎการณ์ “ฮูโก” อันทรงพลังอย่างต่อเนื่อง
เพราะเป็นช่วงที่ชาวอเมริกันเกิด ความคิด-ที่ก่อเกิด-คำถาม ว่า
ชาติอเมริกาไปทำสงครามในเวียดนามทำไม? หนุ่มสาวชาวมะกันไปตายที่เวียดนามเพื่ออะไร? และเพื่อใคร?
“คำถาม” เหล่านั้น-ไร้ “คำตอบ” หรือได้ “คำตอบ” ที่ไร้เหตุผลจากรัฐบาลมะกันยุคนั้น
“คำถาม”ไร้ “คำตอบ” นี้ ยังถูก “บ๊อบ ดิแลน” (Bob Dylan) จุดพลุเปรี้ยงปร้างขึ้นไปค้างอยู่บนฟากฟ้าอเมริกาและโลก ด้วยบทเพลงไพเราะที่มีเนื้อหาปรัชญาอันยิ่งใหญ่ จนเป็นเสมือน “เพลงชาติของนักสู้ต่อต้านสงคราม” นั่นคือ
“Blowin in the Wind” หรือ “ลอยไปในสายลม”
ดิแลน ตั้ง “คำถาม” ไว้มากมายในบทเพลง ได้อย่างคมคายและลึกซึ้ง เช่น
คนเราจะเมิน-แกล้งไม่เห็นได้สักกี่ครั้ง? คนเราจะต้องมีหูสักกี่ใบ-จึงจะได้ยินเสียงครวญคร่ำร่ำไห้? จะต้องมีซากศพอีกสักเท่าไหร่-จึงจะรู้ว่าจำนวนคนตายนั้นเกินคณานับ?
ดิแลน ถามไว้ในบทเพลงว่า คุณเคยสงสัยอย่างนั้นหรือเปล่า?
“คำตอบ” น่ะหรือ.. ดิแลนได้บอกไว้ในบทเพลงแล้วว่า
“The answer, my friend, is blowin’ in the wind"…คำตอบนะสหาย… “มันลอยไปในสายลม”
บทเพลงอันยิ่งใหญ่อมตะนี้ ได้จุดไฟในใจศิลปินชาวอเมริกันให้ลุกโชน จนเกิดเพลงต่อต้านสงครามออกมา อีกมากมายนับพันนับหมื่นเพลง พร้อมๆไปกับการชุมนุมเดินขบวน กดดันให้รัฐบาลมะกันในห้วงประธานาธิบดี จอห์นสัน ต่อเนื่องจนถึงยุคประธานาธิบดี นิกสัน ให้ถอนกองทัพมะกันออกจากประเทศเวียดนามโดยเร็วที่สุด
ที่สำคัญ วัฒนธรรมชาติอเมริกัน ได้ค่อยๆแปรเปลี่ยนเข้าสู่ยุค “แสวงหา” หรือเกิดมวลชนกลุ่ม “ฮิปปี้” หรือ “บุปผาชน” ระบาดไปทั่วสังคมมะกัน
ชาว “ฮิปปี้” ได้ถูกทางการมะกันให้ร้ายป้ายสี ด้วยการเลือกหยิบจุดอ่อนเล็กๆ มาขยายความอย่างผิดๆในวงกว้างว่า “ฮิปปี้” เป็นกลุ่มชนที่ไม่รักชาติ เป็นพวกไร้จุดหมายในชีวิต ที่เอาแต่มั่วเพลง-มั่วเสพยา-มั่วเซ็กซ์ “ฮิปปี้” จึงมีคำขวัญว่า Make Love not War – ทำรักไม่ทำสงคราม
“ฮิปปี้” ถูกรัฐบาลมะกันในยุคนั้น ยัดข้อหาแบบดื้อๆ ว่าเป็นพวก “ขบถ” ต่อรัฐบาล
ทั้งๆ ที่เนื้อหาหลัก-เป้าหมายที่ชัดเจนมั่นคงของชาว “ฮิปปี้” คือพวกเขารักในเสรีภาพเป็นชีวิตจิตใจ พวกเขาต่อต้านสงคราม พวกเขาเรียกร้องให้เกิดสันติภาพ พวกเขาบางส่วนไม่ยอมเป็นทหาร เพื่อไปรบไปตายอย่างไร้ค่าถึงเวียดนาม เพราะมิใช่การปกป้องชาติมะกัน หากแต่เป็นสงครามที่ส่งหนุ่มสาวมะกัน ให้ไปตายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ผู้นำชาติ และทุนสามานย์ผูกขาดไม่กี่คนเท่านั้นเอง
ครั้งนั้น..ผู้หนีทหารส่วนใหญ่เป็นคนมีการศึกษา จนถึงกับมีข้อมูลระบุว่า นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นเลิศอย่าง Yale หนีทหารด้วยวิธีต่างๆ มากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆในสหรัฐ
แม้แต่แชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวี่เวทในตำนาน แคสเซียส เคลย์ (Cassius Clay) ที่ได้รับหมายเกณฑ์เป็นทหาร โดยทางการได้ระบุว่า ที่ทำงานอาลีจะห่างจากสมรภูมิหลายร้อยไมล์ ทว่าอาลีตอบโต้กลับว่า “ผมไม่มีเรื่องราวอะไรกับพวกเวียดกง” แถมอาลียังเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น “มูฮัมหมัด อาลี” เพื่อเลี่ยงการเป็นทหารมะกัน โดยอ้างว่าการเข้าสู่สงครามขัดต่อบทบัญญัติของศาสนา
7 พฤษภาคม 2510 อาลีถูกดำเนินคดีที่ฮุสตัน สุดท้ายอาลีโดนผู้พิพากษา โจ อิงแกรม ตัดสินให้ได้รับโทษสูงสุด คือ จำคุก 5 ปี และปรับเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
จอห์น เลนนอน (John Lennon) เป็นหนึ่งในศิลปินที่มีบทเพลงต่อต้านสงคราม ได้รับการตอบรับอย่างสูงในยุคนั้น เช่น “Give Peace a Chance” ที่เลนนอนส่งสารถึงชาวโลก “ให้โอกาสกับสันติภาพบ้าง”
ท่อนหนึ่งในบทเพลงนี้ เลนนอน ได้เสียดสีว่า
Ev’rybody’s talkin’ ‘bout Revolution, Evolution , Masturbation, Flagelltion, Regulation, Integrations, Mediations, United Nations, Congratulations.. All we are saying is give peace a chance. พวกเอ็งจะปฏิวัติ จะวิวัฒนาการ จะชักว่าว จะนั่งสมาธิ อะไรก็แล้วแต่ ก็ว่ากันไปเถอะ พวกผมแค่ขอโอกาสสันติภาพบ้างได้ไหม
ส่วน “Happy X’mas (War is Over)” นั้น เป็นเพลงเฉลิมฉลองคริสต์มาส ที่ เลนนอน ต่อต้านสงครามผ่านเสียงเพลงในเทศกาลสำคัญ หลัง เลนนอน ได้ลงข้อความบนบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ในสิบเอ็ดเมืองใหญ่ของโลก ทั้ง นิวยอร์ก โตเกียว โรม เอเธนส์ อัมสเตอร์ดัม ลอนดอน ปารีส โตรอนโต มีข้อความว่า
“สงครามยุติแล้ว (หากพวกคุณต้องการเช่นนั้น) สุขสันต์เทศกาลคริสต์มาสจาก จอห์น และ โยโกะ”
“War is Over (If you want it) Happy Christmas from John and Yoko”
เพลง Imagine หรือ จินตนาการ เป็นบทเพลงที่มีเนื้อหาพูดถึง มวลมนุษยชาติได้อย่างงดงามลึกซึ้ง จนเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั้งโลก เพลงนี้มักถูกใช้ในการรณรงค์เรียกร้องหาสันติภาพ แม้แต่ในการประชุมสหประชาชาติ ในบางคราที่มีความขัดแย้งกัน ยังเคยพักการประชุมชั่วขณะ เพื่อเปิดเพลงนี้ให้ผู้เข้าประชุมได้สงบใจ
จิระนันท์ พิตรปรีชา แปลเพลง อิมเมจิน ของ จอห์น เลนนอน ไว้ว่า
...Imagine there’s no heaven, it’s easy if you try หากไม่มีสรวงสวรรค์..ฝันง่ายๆ.. No hell below us นรกร้ายเบื้องล่างก็ว่างหาย.. Above us only sky เงยขึ้นเห็นฟ้าโปร่งโล่งสบาย.. Imagine all the people ลองนึกภาพ..คนทั้งหลาย.. Living for today อยู่ร่วมกัน..เพื่อวันนี้.. Imagine there’s no country ลบเส้นแบ่งแห่งรัฐชาติ..ลองวาดฝัน.. It isn’t hard to do เพียงเท่านั้นเรื่องร้ายๆ ก็คลายคลี่.. Nothing to kill or die for ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องรีบเอาชีพพลี.. And no religion too และไม่มีเส้นทางต่างศรัทธา..
Imagine all the people ลองนึกภาพ ผองชนคนทั้งหลาย.. Living life in peace สุขสบายสันติธรรมค้ำคุณค่า.. You may say I’m a dreamer เธอจะหยันว่าฉันเพ้อไม่ลืมตา.. But I’m not the only one แต่ก็มีมากกว่าฉันที่ฝันเป็น.. I hope someday you join us ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งเธอจึงเห็น.. And the world will be as one มาร่วมเป็นหนึ่งเดียวสร้างโลกใหม่..
Imagine no possessions โลกที่ไร้การครอบครองของผู้ใด.. I wonder if you can ลองคิดดูได้ไหม อยากให้ลอง.. No need or greed or hunger จะสิ้นทุกข์ทรมานการกดขี่.. A brotherhood of man เมื่อโลกนี้พี่น้องกัน ชนทั้งผอง..
Imagine all the people ลองวาดฝันวันใหม่ได้ปรองดอง.. Sharing all the world..ร่วมแบ่งปันครรลองโลกของเรา.. You may say I’m a dreamer เธอจะหยันว่ายังเพ้อละเมอฝัน.. But I’m not the only one แต่มิใช่เพียงแค่ฉันฝันเก่าเก่า.. I hope someday you join us จะรอเธอมาร่วมแรงช่วยแบ่งเบา.. And the world will live as one เพื่อโลกเราสุขสมานศานติครอง
ที่สำคัญ “เลนนอน” มิได้ร้องหาสันติภาพแค่ในบทเพลงเท่านั้น แต่เขาควงภรรยาชาวญี่ปุ่น “โยโกะ” เข้าร่วมประท้วงต่อต้านสงครามอย่างสันติอีกด้วย
เพลง “Don’t look back in anger” ของวงร็อกยอดฮิตอย่างโอเอซิส-Oasis ยังมีข้อความประโยคหนึ่ง พูดถึงการต่อสู้ของ เลนนอน-โยโกะ ในครั้งนั้นว่า So I start the revolution from my bed
ห้วงนั้น เลนนอน-โยโกะ ได้เปลี่ยนจากสนามรบบนท้องถนน มาทำ “สงครามต่อต้านสงคราม-บนเตียง”นาน 7 วัน 7 คืน เพื่อกดดันรัฐบาลมะกันจนเป็นข่าวดังระเบิดไปทั้งโลก!