xs
xsm
sm
md
lg

หม่อมอุ๋ยเชื่อมูดี้ส์ไม่ลดเครดิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"มูดี้ส์" เข้าพบรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจของไทย สอบถามสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไทย "หม่อมอุ๋ย" ชี้แจงแนวนโนบายเศรษฐกิจเน้นแผนงานระยะยาว เน้นการส่งเสริมประเภทอุตสาหกรรมใหม่ มั่นใจมูดี้ส์เข้าใจประเทศไทย ไม่มีการลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 เมย.) เวลา 09.00 น. คณะเจ้าหน้าที่ บริษัท Moody's Investors Service เข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยคณะเจ้าหน้าที่ บริษัท Moody's Investors Service สอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจโดยรวมของไทย
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการตามแผนโรดแมป ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนก็จะสามารถเลือกตั้งได้ตามที่ตั้งไว้ ส่วนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่าน การส่งออกของไทยอยู่ในด้านลบ เนื่องจากปัญหาค่าแรง รัฐบาลจึงได้มีมาตรการใหม่ โดยเน้นการส่งเสริมประเภทอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เครื่องมือแพทย์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ไบโอพลาสติก ส่วนประกอบเครื่องบิน เป็นต้น ซึ่งไทยสามารถรองรับเทคโนโลยีในด้านนี้ได้ เพื่อช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย
การเปลี่ยนประเภทอุตสาหกรรมดังกล่าว รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้มีการออกประกาศไปแล้วตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมา รวมทั้งมีการจัด road show ในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี
"ในความเป็นจริง ประเทศอาเซียนมีการรวมตัวกันมานานกว่า 10 ปีแล้ว เพียงแต่เรายังมีประเด็น ข้อกำหนดต่างๆที่เรายังต้องทำร่วมกัน เพื่อให้อาเซียนเดินหน้าร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้
ภายหลังการหารือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า มูดี้ส์สอบถามเก็บข้อมูลสำหรับการจัดอันดับความน่าเชื่อของไทย โดยตนได้อธิบายถึงแผนการปรับเปลี่ยนประเทศระยะยาว รัฐบาลชุดนี้จึงได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกให้ภาคเอกชนยกระดับเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเริ่มจากแผนส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่มีการประกาศใช้ตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งได้มีการยกเลิกการส่งเสริมอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน หันมาส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงแทน อาทิ เครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 3 ปี
นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters) เพื่อที่จะเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศเช่นเดียวกับสิงคโปร์ ขณะนี้มีบริษัทที่ยื่นเสนอจดทะเบียนแล้ว 15 ราย เป็นบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย
ส่วนความคืบหน้าในการเตรียมเป็นดิจิตอล อีโคโนมี ว่า การจัดตั้งบรอดแบนด์แห่งชาติ มีความคืบหน้าไปมาก บริษัทเอกชนที่ถือครองสายไฟเบอร์ออฟติกมีความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยขั้นตอนต่อไปมีการจ้างบริษัทเอกชนต่างประเทศที่มีประสบการณ์ในการวางระบบบรอดแบนด์ในระดับประเทศมาทำงาน โดยจะเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือน
"การเข้าพบของมูดีส์ฯ ในครั้งนี้ ทำให้มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ในประเทศไทยมากขึ้น และจะไม่มีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ยืนยัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น