ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา สุรเนาวรัตน์
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://as.nida.ac.th/th/
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://as.nida.ac.th/th/
ปัจจุบันนี้โทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนเราก็จะพบเห็นคนใช้โทรศัพท์มือถืออยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือในระหว่างรอรถ ระหว่างรอคิวที่โรงพยาบาลหรือหน่วยงานราชการ ระหว่างรับประทานอาหาร หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์มือถือในขณะที่เดินอยู่ก็ยังมี
ผู้เขียนคิดว่าสมาร์ทโฟนจัดเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ล้ำเลิศที่สุดอันหนึ่งที่มนุษย์ได้เคยคิดค้นขึ้นมา อย่างไรก็ตามการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและหน้าที่การงานได้ ให้เรามาลองพิจารณาข้อกฎหมายที่ว่าด้วยการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถ ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการพูดคุยด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงแต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการใช้งานโทรศัพท์มือถือในลักษณะอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การใช้โปรแกรมแชท หรือการถ่ายภาพตัวเอง (หรือที่นิยมเรียกว่าเซลฟี) เป็นต้น ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับกฎหมายข้อนี้หรือไม่ ควรมีกฎหมายข้อนี้จริง ๆ หรือไม่ ให้เรามาลองหาคำตอบกันดู ขั้นแรกผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านทำแบบทดสอบดังนี้คือ ไปดูคลิปวิดีโอที่ลิงค์ข้างล่างนี้ แล้วตอบคำถามว่าผู้เล่นที่ใส่เสื้อสีขาวทำการส่งผ่านลูกบอลให้แก่กันและกันเป็นจำนวนทั้งหมดกี่ครั้ง ขอให้ท่านผู้อ่านดูคลิปวิดีโอนี้จริง ๆ มิฉะนั้นท่านอาจจะพลาดประเด็นสำคัญที่จะกล่าวในลำดับถัดไป
จริง ๆ แล้วในคลิปวิดีโอนี้ก็มีเฉลยคำตอบให้อยู่แล้ว ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องคือ 16 ครั้ง คิดว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะตอบถูกกัน แต่ในระหว่างที่ดูคลิปวิดีโอนี้ ท่านผู้อ่านสังเกตเห็นคนที่ใส่ชุดลิงกอริลลาเดินเข้ามาปะปนกับผู้เล่นหรือไม่? ท่านผู้อ่านสังเกตเห็นไหมว่าผ้าม่านได้มีการเปลี่ยนสี? หรือสังเกตเห็นไหมว่าผู้เล่นที่ใส่เสื้อสีดำหนึ่งคนได้เดินออกไป? คนส่วนใหญ่จะไม่สังเกตเห็นถึงสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากกำลังโฟกัสอยู่กับการนับจำนวนครั้งในการส่งผ่านลูกบอลของคนเสื้อสีขาวอยู่ และนี่เองคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงต้องมีกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถ เพราะว่าในขณะที่เรากำลังโฟกัสหรือจดจ่ออยู่กับการใช้โทรศัพท์มือถืออยู่นั้น จะทำให้เรามองไม่เห็นสิ่งอื่น ๆ ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะปรากฏอยู่อย่างชัดเจนขนาดไหนก็ตาม เช่นเดียวกับลิงกอริลลาหรือสิ่งอื่น ๆ ที่เราไม่เห็นในคลิปวิดีโอนี้นั่นเอง เพราะว่าเรามัวแต่จดจ่ออยู่กับการนับจำนวนครั้งที่คนเสื้อสีขาวส่งผ่านลูกบอลให้แก่กันและกัน
ในปีที่แล้วก็มีอุบัติเหตุเนื่องมาจากการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถหลายรายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ที่ผู้เขียนรู้สึกสะเทือนใจมากที่สุดเห็นจะเป็นกรณีที่หญิงสาวชาวอเมริกันอายุเพียงสามสิบต้น ๆ เท่านั้นแต่ต้องมาเสียชีวิตเพราะมัวแต่ถ่ายรูปเซลฟีขณะขับรถจนทำให้ไปชนท้ายรถบรรทุกเข้า นอกจากอุบัติเหตุจากการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถแล้ว การใช้โทรศัพท์มือถือในขณะเดินอยู่นั้นก็สามารถก่อเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ๆ จากผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการใช้โทรศัพท์มือถือในขณะที่เดินอยู่นั้น มีจำนวนมากว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถเสียอีก ที่ประเทศอังกฤษก็ได้มีมาตรการในการลดความบาดเจ็บอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวนี้ด้วยการใส่นวมกันชนไว้ที่เสาไฟต่าง ๆ ตามทางเดินในกรุงลอนดอน ฟังดูแล้วอาจเหมือนเป็นเรื่องตลกแต่ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ท่านผู้อ่านคิดว่ามาตรการดังกล่าวนี้จำเป็นสำหรับประเทศไทยของเราไหม?
เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีข่าวพนักงานถูกไล่ออกเนื่องจากใช้อินเทอร์เน็ตและแชทในเวลางาน ท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับกรณีเช่นนี้ ถ้าเราใช้โทรศัพท์มือถือในขณะที่เราทำงาน ท่านผู้อ่านคิดว่าจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเราลดลงหรือไม่ ท่านผู้อ่านคิดว่ามนุษย์เราเก่งในการทำสิ่งต่าง ๆ หลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันมากกว่าทำทีละอย่างหรือไม่
เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ให้เรามาดูผลงานวิจัยของอาจารย์ Clifford Nass และคณะ จากมหาวิทยาลัย Stanford กันสักนิดนึง ท่านอาจารย์และคณะได้ทำการทดสอบคนสองกลุ่มตามตัวชี้วัดต่าง ๆ พบว่า กลุ่มคนที่ทำงานทีละอย่างให้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่ากลุ่มคนที่ทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กันในทุก ๆ ตัวชี้วัด ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่ทำงานทีละอย่างสามารถโฟกัสกับงานได้ดีกว่า สามารถทำงานเสร็จได้มากกว่า เป็นต้น
อย่างไรก็ตามผู้เขียนเคยได้ยินมาจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน neuroscience ว่า สมองของเราจะหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกดีรู้สึกพึงพอใจเวลาที่เราทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน ดังนั้นในความเห็นของผู้เขียนแล้ว คิดว่าคนที่ทำงานก็ควรทำงานเพียงอย่างเดียวอย่างจดจ่อสักช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นก็ให้รางวัลแก่สมองของเราด้วยการทำงานหลาย ๆ อย่างด้วยกันอย่างที่เราชื่นชอบ เช่น การแชทไปด้วยบ้าง การท่องอินเทอร์เน็ตไปด้วยบ้าง ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตามท่านผู้อ่านคิดว่าสัดส่วนระหว่างเวลาที่เราควรจะจดจ่ออยู่กับงานจริง ๆ กับเวลาที่เราให้รางวัลแก่สมองของเราด้วยการทำสิ่งอื่นควบคู่ไปด้วยนั้นควรจะเป็นเท่าไรดี?