คำกล่าวที่ว่า “มีวันนี้ เพราะมีวันนั้น” ยังเป็นความจริงอยู่เสมอ ความจริงที่คอยกระตุกจิตสำนึกมิให้ลืมตัว
วันนั้น...คือรากเหง้าเหล่ากอของเรา คนลืมรากเหง้าเขาเรียกว่า “วัวลืมตีน” คือคนที่ได้ดีแล้วลืมตัว ชาวอีสานเหน็บแสบเข้าไปอีก “บักลืมชาติ” ไปกรุงเทพฯ ไม่ทันไร พอกลับบ้านพูดไทยง่าวๆ เว้าลาว (ไทยอีสาน) บ่เป็นแล้ว เห็นปลาร้าก็เบือนหน้าหนี เหม็นจัง กินได้ไง โถ...แม่ ดอจอรอ
● คน มมส
มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง จะมีนิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรต่างๆ จำนวนมาก จึงเกิดเมืองมหาวิทยาลัยขึ้น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือ มมส ก็เช่นกัน วันนี้-ยิ่งใหญ่ มโหฬาร อลังการ ขนาดไหนก็มาจาก วันนั้น-ซึ่งเป็นจุดเล็กๆ ทว่ามี “หมายมุ่งที่รุ่งโรจน์” นั่นคือ “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม” (Education is Growth)
มมส พัฒนามาจาก มศว
มศว หรือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนามาจากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2492 และต่อมาเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. 2497 และใน พ.ศ. 2517 เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วิทยาลัยวิชาการศึกษา และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีวิทยาเขตหลายแห่งด้วยกัน เช่น...
1. ประสานมิตร
2. ปทุมวัน
3. บางแสน (ต่อมาเป็น ม.บูรพา)
4. พิษณุโลก (ต่อมาเป็น ม.นเรศวร)
5. มหาสารคาม (ต่อมาเป็น ม.มหาสารคาม)
6. สงขลา (ต่อมาเป็น ม.ทักษิณ)
7. บางเขน
8. ประสานมิตร ปทุมวัน บางเขน ยุบรวมกันเป็นวิทยาเขตกลาง แล้วย้ายไปที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ในนามใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) แปลว่า...มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร
สำหรับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) มีวิทยาเขตอยู่ที่ จ.นครพนม (ปัจจุบันคือ ม.นครพนม) และที่จ.บึงกาฬ (กำลังขอการอนุมัติ) และมีศูนย์อีกมากมายเช่น ศูนย์พัฒนาการศึกษาอุดรธานี เป็นต้น
มมส มีคติพจน์ว่า “พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว-ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” ซึ่งก็อยู่ในกรอบของอัตลักษณ์นิสิต มศว 9 ประการ ได้แก่...
1. ใฝ่รู้ตลอดชีวิต
2. คิดเป็น ทำเป็น
3. หนักเอาเบาสู้
4. รู้กาลเทศะ
5. เปี่ยมจิตสำนึกสาธารณะ
6. มีทักษะสื่อสาร
7. อ่อนน้อมถ่อมตน
8. งามด้วยบุคลิก
9. พร้อมด้วยศาสตร์และศิลป์
อัตลักษณ์ 9 อย่างดังกล่าว ก็คือ “รากเหง้าเหล่ากอ” ของเรา พร้อมที่จะสอนตนเอง และคนอื่นได้เสมอ นั่นคือ “ความเป็นครู” ซึ่งเป็น “จุดก่อเกิด” อันเป็นรากแก้วของ มศว และ มมส
คำว่า “ครู” อย่ามองแคบๆ เพียงผู้มีอาชีพเป็นครู ควรมองให้กว้างไกลและลึกซึ้ง... “สิ่งทั้งมวลล้วนเป็นครู ถ้ารู้คิดพินิจธรรม”
คน มมส ก็ใช่ว่าจะมีเพียงนิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้คนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม และมีบทบาทกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แหล่งความเจริญรุ่งเรืองอันเป็นผลจากความรู้และคุณธรรม ผสมผสานกับภูมิปัญญาแห่งท้องถิ่นอีสาน อย่างนี้...คือคน มมส
● เทิดก่อวิชชา
คำว่า “วิชา” แปลว่าความรู้ที่ได้จากการฝึกฝนเล่าเรียน มาจากภาษาบาลีว่า วิชฺชา และภาษาสันสกฤตว่า วิทฺย
ผมชอบใช้คำว่า “วิชชา” เพราะมองได้หลายมิติ ทั้งวิชา และวิชชา
บางคนปฏิเสธวิชชา เห็นว่าสูงเกินไป ศาสนาเกินไป เขาจะใช้วิชาเพียงมิติเดียว
การให้ความรู้หลายๆ มิติ มันเสียหายตรงไหน?
วิชชา แปลว่า ความรู้แจ้ง หรือความรู้วิเศษ มีทั้งวิชชา 3 และวิชชา 8
วิชชา 3 ประกอบด้วย...
1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้ หรือระลึกชาติได้
2. จุตูปปาตญาณ คือญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม หรือเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เรียกอีกอย่างว่า ทิพพจักขุญาณ
3. อาสาวักขยญาณ คือญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หรือความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ หรือความตรัสรู้
ส่วนวิชชา 8 หาดูได้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
สถานศึกษาที่ดี จะเชิดชูยกย่อง บุคคลที่ก่อเกิดสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆ ขึ้นมา อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และถือว่าเป็นความเจริญงอกงามทางการศึกษา มมส จะพบเห็นสิ่งนี้อยู่เนืองๆ
● เรียนรู้ก้าวหน้า
การศึกษาหรือการเรียนรู้ ไม่มีอายุจบ เพราะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ครั้งหนึ่งเราเป็นครูและอีกครั้งหนึ่งเราเป็นนักเรียน ทุกวันนี้ ปู่ย่าตายายกลายเป็นนักเรียน ต้องวานให้ลูกหลานเป็นครูสอนเรื่องโลกไซเบอร์ หรืออินเทอร์เน็ตที่ทันกระแสโลกต่างๆ นานา ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปเกินกว่าจะก้าวทัน แต่มันก็มีสิ่งเก่าๆ ที่คนรุ่นปู่ย่าตายายทำไว้ให้เป็นหลักยึด เป็นตะเกียงส่องทางได้บ้าง หากไม่อยากติดกับหลงทางมากไปกว่านี้
การเรียนรู้ที่ก้าวหน้า ก็คือการศึกษาที่เจริญงอกงามนั่นเอง
งอกงามอะไรบ้าง?
ปู่ย่าตายาย (ปรัชญา มศว) บอกว่า ต้องงอกงามด้วยอารยวัฒิ 5 ประการ
อริยวัฑฒิ หรืออารยวัฒิ คือความเจริญอย่างประเสริฐ หรือหลักความเจริญของอารยชน มี 5 อย่าง ดังนี้...
1. ศรัทธา คือความเชื่อ ความมั่นใจในพระรัตนตรัย ในหลักแห่งความจริง ความดีงาม อันมีเหตุผล
2. ศีล คือความประพฤติดี มีวินัย เลี้ยงชีพสุจริต
3. สุตะ คือการเล่าเรียนสดับฟัง ศึกษาหาความรู้
4. จาคะ คือการเผื่อแผ่เสียสละ เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจช่วยเหลือ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟัง และร่วมมือ ไม่คับแคบ เอาแต่ตัว
5. ปัญญา คือความรอบรู้ รู้คิด รู้พิจารณา เข้าใจเหตุผล รู้จักโลก และชีวิตตามความเป็นจริง
ความเจริญงอกงาม ต้องงอกงามอย่างนี้ 5 อย่างตามที่กล่าวมา จึงจะได้ชื่อว่าผู้ประเสริฐหรืออารยชน
วันหนึ่ง, นิสิตกลุ่มหนึ่ง 4 คน ประกอบด้วย บี-พัชราวรรณ สุวรรณชาติ บิว-ภควรรณ สุ่มมาตย์ บุ้ง-ยุวดี เผยศิริ ฟ้า-ขนิษฐา บุญเติมนิติกุล จาก มมส มาพบที่บ้าน เพื่อเก็บข้อมูล จัดทำสารคดีส่งอาจารย์ ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ เธอทั้ง 4 คน เที่ยวดูสถานที่ และสัมภาษณ์ผู้คนหลายระดับต่างๆ นานา
ดูมาดเธอ ก็สมกับเป็นนักศึกษา สมกับจะเป็นบัณฑิตในอนาคต เพราะเธอมีแววเป็นนักปราชญ์ รู้จัก สุ.จิ.ปุ.ลิ. หรือฟัง คิด ถาม เขียน และอาภรณ์ประดับกายอันงดงามของเธอก็ครบสูตร มีกระเป๋าสะพายภายในกระเป๋า มีกล้อง เทปบันทึก ปากกา สมุดจดบันทึก คนทันสมัยหน่อย ก็มีสมาร์ทโฟน เกรดดีหน่อย เครื่องเดียวพอ
ชี้ให้เห็นว่า การเรียนการสอนทุกวันนี้ก้าวหน้า ครูอาจารย์มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รู้จักตั้งโจทย์ให้ผู้เรียนออกจากห้องเรียนหาคำตอบเอง แบบสัมผัสรับรู้ หรือมีประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง การเรียนการสอน ทำนองนี้ จึงตื่นเต้น เร้าใจ มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ที่สำคัญ ทำให้รู้จักตัวเอง และพึ่งตัวเองได้ ทำให้รู้จักคนอื่นและเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้
มิใช่จำกัดอยู่เฉพาะห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ กับครูอาจารย์ที่มีปริญญายาวเฟื้อย เป็นเดือนเป็นปี ตาสีตาสายายมียายมา ตามบ้านนอกคอกนา ก็ให้ความรู้ได้ ในสิ่งที่เขามีอยู่ คือรู้จริงและชำนาญ
ปราชญ์ ท่านหนึ่งกล่าวว่า... “การศึกษาไม่ได้สอนให้ท่านมีชีวิตอยู่อย่างบริบูรณ์ ไม่ได้สอนให้ท่านรักอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้สอนให้ท่านอยู่กับคุณงามความดี แต่ทว่าสอนให้ท่านแสวงหาประโยชน์จากผู้อื่นเพื่อตัวท่านเอง และเรามักจะคิดว่า ผู้ที่ฉลาดก็คือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาอาจจะเป็นคนที่กลับกลอกปลิ้นปล้อน แต่เราก็เรียกพวกเขาว่าเป็นคนฉลาด”
การศึกษาต้องกล้ารับฟังในสิ่งที่เขาวิพากษ์วิจารณ์เรา จริงหรือไม่ ถ้าจริงอย่างเขาว่า เราจะแก้ไขอย่างไร หรือไม่ต้องแก้อะไร อยู่เฉยๆ ทำเหมือนเดิม
ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ปัญญา และจะเอาแสงสว่างที่ไหนไปให้ประชาชน ที่กำลังหลงทางอยู่ในความมืดมนอนธการ
● มหาสาริน
มีพุทธวจนะในธรรมบทอยู่คู่หนึ่ง ดูเมื่อไหร่ก็เห็นจริงเมื่อนั้น...
- ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ เขามีความคิดผิดเสียแล้ว ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ
- ผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ และสิ่งที่ไร้สาระ ว่าไร้สาระ มีความคิดเห็นชอบย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ
พุทธวจนะคู่นี้ เป็นแว่นส่องคนได้ดีที่สุด ว่าเป็นคนประเภทไหน เห็นถูก หรือเห็นผิด มีสาระ หรือไร้สาระ
การคิด พูด ทำ ของคน ก็สะท้อนออกมาจากประเภทของคน จึงไม่แปลก หรือเป็นเรื่องธรรมดาที่คนระดับหัวหน้าผู้นำ หรือผู้ปกครองบ้านเมืองทำอะไรเปิ่นๆ ไร้สาระสิ้นดี ก็เพราะเขามีภูมิปัญญาเพียงแค่มิจฉาทิฐิเท่านั้น น่าสงสารจริงๆ ที่เขากลายเป็นที่ขบขันและถูกสาปแช่งซะเรื่อย
สาระ 4 หมายถึงแก่น หรือหลักธรรมที่เป็นแก่น หรือหัวใจธรรมมี 4 อย่างได้แก่...กองศีล กองสมาธิ กองปัญญา กองวิมุตติ (ถ้าเพิ่มอีกกอง คือกองวิมุตติญาณทัสสนะ เรียกว่า ธรรมขันธ์ 5)
มหา(ยิ่งใหญ่)+สาร(แก่น)+อิน(อารมณ์ร่วม) = มหาสาริน (มีอารมณ์ร่วมกับแก่นสาระอันยิ่งใหญ่) จะคิด จะทำ จะเขียนอะไรก็ตาม หากขาดไร้อินแล้ว ก็ยากที่จะบังเกิดผล
มหาสารินคือ เห็นสาระเป็นสาระ เห็นอสาระเป็นอสาระ เห็นถูกเป็นถูก เห็นผิดเป็นผิด เห็นดีเป็นดี เห็นชั่วเป็นชั่ว ฯลฯ
มหาสารินเกิดเมื่อไหร่ ก็ไปได้กว้างไกลและสุดๆ เมื่อนั้น นี่คือความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง เป็นคนก็เป็นคนโดยสมบูรณ์ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (มิใช่ประเภท “คำหรูชูป้าย” เท่านั้น)
“คน มมส
เทิดก่อวิชชา
เรียนรู้ก้าวหน้า
มหาสาริน”
ปัญญา เป็นดวงชวาลาในโลก แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญา ไม่มี คน มมส มีปัญญาเป็นอุดมการณ์ มีปัญญาเป็นเป้าหมาย มีปัญญาเป็นวิถีชีวิต ด้วยเหตุปัจจัยแห่งปัญญานี้เท่านั้น จึงจะเป็นอยู่เพื่อมหาชนคนทั้งปวงได้