xs
xsm
sm
md
lg

"ไพบูลย์"แนะสปช.จัดเวทีคุย3ฝ่าย นิรโทษฯผู้ชุมนุม3ม็อบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (7 ธ.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เสนอแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรม 4 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 20 คน เสนอกฎหมายนิรโทษฯ ซึ่งสามารถทำได้ เพราะไม่ใช่กฎหมายการเงิน 2 . เสนอมาที่รัฐบาลให้รัฐบาลเสนอเป็น ร่าง พ.ร.บ. 3. เสนอ คสช. เพื่อให้ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 และ 4. หากเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ก็ออกเป็นพระราชกำหนด ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาลที่สามารถทำได้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ว่าตนเห็นว่าข้อเสนอนี้ เป็นเพียงกระบวนการ ซึ่งหากมีการตกผลึกของสังคมร่วมกัน จะใช้วิธีไหน 1 ใน 4 ก็ได้ทั้งนั้น แต่ปัญหาก็คือ จะให้สังคมเห็นร่วมกันได้อย่างไร เพราะในอดีตที่เราเดินหน้านิรโทษกรรมกันมานั้น ทำผิดขั้นตอน ซึ่งตนเห็นว่าการนิรโทษกรรม ควรเริ่มจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่เป็นทั้งผู้เสียหาย เป็นเหยื่อในเหตุการณ์การชุมนุมทั้ง 3 การชุมนุมทางการเมือง เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่ม นปช. และกลุ่ม กปปส. โดยจัดให้มีการพูดคุยกันและแสดงความเห็นร่วมกันเฉพาะประชาชนใน 3 กลุ่ม ที่สูญเสียทรัพย์สิน และบาดเจ็บ รวมทั้งต้องคดีในการไปร่วมชุมนุม และตกเป็นเหยื่อต้องได้รับการเยียวยาทางสังคม
" เวทีที่จะจัดขึ้นครั้งนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ควรจะเป็นเจ้าภาพ โดยตั้งคณะกรรมาธิการจัดรับฟังความเห็นของประชาชนทั้ง 3 กลุ่ม โดยเบื้องต้นผมจะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าหารือ ประธาน สปช. ด้วย" นายไพบูลย์กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า เราต้องฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบ หลังจากที่ทั้ง 3 กลุ่มพูดคุยกัน จึงจะบอกได้ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป การออกพระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด โดยให้สนช. 20 คน เสนอกฎหมายเองนั้น เป็นสิ่งที่อันตรายมาก เรื่องนี้ต้องให้ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบพูดคุยกันก่อน อยู่ๆไม่รับฟังความเห็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แล้วมาแก้ปัญหา เชื่อว่าทำไม่ได้ เพราะใครจะออกกฎหมายนิรโทษฯ ก็มีปัญหาทั้งนั้น และตนคัดค้านกับการไม่ให้พรรคการเมือง หรือแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดเวทีพูดคุยของทั้ง 3 กลุ่มในครั้งนี้ หลังจากนั้น พอความเห็นของประชาชนตกผลึก ผู้มีอำนาจจะใช้วิธีไหนออกกฎหมายนิรโทษก็ทำได้ไม่มีปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น