อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
วันก่อนผมนั่งกินข้าวกลางวันกับศาสตราจารย์อาวุโสท่านหนึ่งซึ่งเคยเป็นอดีตคณบดีคณะดังในมหาวิทยาลัยของรัฐเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ท่านปรารภกับผมว่าขณะนี้อุดมศึกษาไทยกำลังเกิดสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งสำหรับวงวิชาการในต่างประเทศนั่นคือสิ่งที่เรียกว่า Inbreeding หรือภาวะเลือดชิดในวงการอุดมศึกษา
การแต่งงานหรือการมีเพศสัมพันธ์ในวงศ์วานว่านเครือนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่นำมาสู่ภาวะเลือดชิด คนที่แต่งงานในครอบครัวเดียวกัน มักเจ็บป่วยได้ง่าย อายุไม่ยืน มีลักษณะที่ด้อยลง หากเป็นสัตว์ก็มักจะมีลักษณะที่ไม่ดี เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์จะไม่ยอมให้เกิดภาวะเลือดชิดที่ว่าเพราะจะทำให้ได้พันธุ์ที่ไม่ดีและเจ็บป่วยได้ง่าย นานๆ ก็ต้องไปแสวงหาพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์จากที่ใกลๆ มาผสมข้ามคอกข้ามฟาร์มกันบ้าง ผมเคยฟังนักวิชาการกรมป่าไม้เล่าให้ฟังด้วยซ้ำว่าแม้ในปัจจุบันสัตว์ป่าก็มีพันธุกรรมที่แย่ลงเพราะเกิดภาวะเลือดชิด เนื่องจากความเจริญเข้ามามีถนนมากมายตัดเข้ามาในอุทยานแห่งชาติ ทำให้สัตว์ไม่สามารถอพยพข้ามไปมาเพื่อผสมพันธุ์กันได้สะดวกอย่างในอดีต ในบางสังคมหรือวัฒนธรรมนั้นการมีเพศสัมพันธุ์กันเองในหมู่วงศ์วานว่านเครือญาติพี่น้องนั้นเป็นสิ่งที่ต้องห้ามหรือผิดศีลธรรมจริยธรรมด้วยซ้ำไป เช่นในประเทศจีนนั้นมีวัฒนธรรมไม่ให้คนแซ่เดียวกันแต่งงานกันเอง เพราะมีความเชื่อว่าสืบไปสืบมาย่อมเป็นญาติพี่น้องกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ในสังคมไทยนั้นก็ไม่นิยมเลือดชิดเช่นกัน
ในต่างประเทศนั้นวงวิชาการนั้น ไม่ยอมให้เกิด inbreeding มหาวิทยาลัยชั้นนำจะไม่รับดุษฎีบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยในสาขาเดิมมาเป็นอาจารย์ในสถาบันเดิม สาขาเดิมเป็นอันขาด เพราะเกรงว่าจะ inbreeding และไม่เกิดความงอกงามทางวิชาการ
ผมมีเพื่อนที่เรียนมาจากที่ University of Illinois Urbana Champaign เล่าให้ฟังถึง ศาสตราจารย์ Friz Drasgow ซึ่งจบปริญญาเอกทางจิตวิทยาเชิงปริมาณ และเก่งมากมีผลงานวิชาการระดับโดดเด่นดีเลิศ กลับไม่สามารถเป็นอาจารย์ในสาขาวิชาเดิมได้ ต้องข้ามมาเป็นอาจารย์ทางด้านจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การแทน (แต่แน่นอนว่าความเก่งของ Friz Drasgow เมื่อข้ามมาอยู่อีกสาขาก็สามารถผลิตงานวิชาการชั้นเลิศได้อีกเช่นกัน) หากจะกลับมาเป็นอาจารย์ในสาขาวิชาเดิม สถาบันเดิมที่ตัวเองจบมา ต้องไปพิสูจน์ตัวเองโดยไปทำงานที่สถาบันอื่นๆ จนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดเสียก่อนจึงจะกลับมาสอนใน Alma Mater บ้านเดิม ถิ่นเดิมได้ เพื่อให้มีความงอกงามทางวิชาการก่อน ในบางสาขาวิชานั้นถึงกับยอมให้คนนอกสาขาไม่ได้จบปริญญาเอกเลยมาเรียนรู้เพื่อจะสอนในสาขาที่ตัวเองไม่ได้จบมาโดยตรงทำให้ศาสตร์เกิดความงอกงามทางวิชาการ ได้ความคิดและมุมมองที่แปลกใหม่
ที่ภาควิชาปรัชญา ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รับดุษฎีบัณฑิตจบใหม่ทางฟิสิกส์ทฤษฎี มาเป็นนักวิจัยทางด้านปรัชญา และให้เวลาในการบ่มเพาะความรู้ทางปรัชญาสำหรับดุษฎีบัณฑิตจบใหม่ทางฟิสิกส์คนนี้ถึงสามปี นักฟิสิกส์คนนี้ต่อมาเป็นนักปรัชญาวิทยาศาสตร์และญาณวิทยา (Epistemology) ชื่อดังก้องโลกชื่อ Thomas Kuhn ผู้เสนอแนวความคิดเรื่องการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ในหนังสือชื่อ โครงสร้างของการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ (The structure of scientific revolutions) ถ้าภาควิชาปรัชญาจะรับคนจบปริญญาเอกปรัชญาอย่างเดียวมาเป็นอาจารย์คงไม่เกิดความงอกงามทางวิชาการข้ามศาสตร์เช่นนี้
อีกคนหนึ่งคือ John Tukey ซึ่งผมได้ยินเรื่องราวบ่อยมาก เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาผมเมื่อตอนไปเรียนปริญญาเอกและ mentor เมื่อผมฝึกงานขณะเรียนปริญญาคือ Charles Lewis และ Howard Wainer ต่างก็เป็นลูกศิษย์ของ John Tukey จอห์น ตูกี้นั้นเป็นนักสถิติชื่อก้องโลก ที่ไม่ได้เรียนสถิติมาโดยตรง จบปริญญาตรีวิศวกรรมเคมี และปริญญาเอกทาง Topology ซึ่งเป็นสาขาวิชาหนึ่งทางคณิตศาสตร์ด้านเรขาคณิตที่เกิดจากการบิดและยืดรูปทรงต่างๆ แต่ไม่เปลี่ยนคุณสมบัติทางเรขาคณิตและมิติสัมพันธ์แต่อย่างใด Tukey นั้นเมื่อเข้ามาในวงการสถิติ ที่ Princeton University นั้นก็เขียนตำราทางสถิติที่อาศัยฐานความสามารถในการมองเป็นภาพ (Visualization) ขั้นเอกอุจากพื้นฐานเดิมทาง Topology นั่นเองมาเขียนหนังสือคลาสสิคระดับโลกที่นักสถิติแทบทุกคนต้องได้เรียนหรือได้ใช้งานมาแล้วทั้งนั้นชื่อ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงบุกเบิก (Exploratory data analysis) ซึ่งกราฟฟิคทางสถิติทางสถิติจำนวนมากที่เราใช้กันในปัจจุบันนั้นคิดค้นโดย John Tukey นี่เอง ข้อนี้จะเห็นได้ว่าในวงวิชาการต่างประเทศนอกจากจะรังเกียจภาวะเลือดชิดแล้วยังถึงขั้นนิยมข้ามเผ่าพันธุ์ข้ามสาขาวิชากันเลยทีเดียวเพื่อให้เกิดความงอกงามทางวิชาการ
ขณะนี้ผมลองเข้าไปในเว็บไซต์ของภาควิชาหลายๆ วิชา ในประเทศไทย กลับพบว่ามีภาวะเลือดชิดหรือ inbreeding เกิดขึ้นมากเหลือเกิน โดยมีอาจารย์จำนวนมาก จบปริญญาตรี โท และ เอก จากภาควิชาเดิม คณะเดิม สถาบันเดิม มาเป็นอาจารย์ในสาขาที่ตัวเองจบมา ผมเองก็เกิดความสงสัยว่าปรากฎการณ์นี้จะเป็นผลดีต่ออุดมศึกษาไทยในระยะยาวหรือไม่ สาเหตุที่เกิดภาวะดังกล่าวนั้นน่าจะมาจาก หนึ่ง สถาบันอุดมศึกษาไทยที่ได้คุณภาพดีๆ มีไม่มากนัก หากจะเลือกอาจารย์ที่จบจากสถาบันอื่นๆ ในประเทศ ก็จะไม่อาจเชื่อมั่นว่ามีคุณภาพได้ ทำให้นิยมคัดเลือกลูกหม้อ มาเป็นอาจารย์ ประกอบกับไม่สามารถสรรหาผู้ที่จบปริญญาเอกจากต่างประเทศมาเป็นอาจารย์ได้ เพราะคนจะไปเรียนต่างประเทศนั้นใช้เวลามาก และไม่ใช่ว่าจะไปเรียนแล้วจบกลับมาได้ทุกคนเสมอไป ทุนก็อาจจะมีจำกัด ประการที่สองน่าจะมาจากการตรวจประเมินมาตรฐานหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาที่กำหนดให้มีอาจารย์ประจำหลักสูตรจบปริญญาเอก (จึงจะเปิดสอนปริญญาโท) อย่างน้อยห้าคน เมื่อกฏเกณฑ์ดังกล่าวเข้มงวดมากขึ้นทำให้มีความจำเป็นต้องรับอาจารย์เข้ามาให้ได้ครบจำนวน แม้จะเกิดภาวะเลือดชิดก็ตามที ประการที่สามอาจจะเกิดจากการเมืองภายในมหาวิทยาลัย เพราะการรับอาจารย์ที่เป็นลูกหม้อ และเป็นลูกศิษย์ทำให้ควบคุมปกครองได้โดยง่าย อย่างน้อยก็มีความเกรงใจ เคารพความเป็นผู้อาวุโสและความเป็นครูบาอาจารย์สอนกันมา น่าจะเป็นพรรคพวก ในการสรรหาตำแหน่งทางด้านการบริหารในมหาวิทยาลัยได้โดยง่าย เป็นต้น
หากเป็นไปได้ ผมก็ไม่อยากเห็นภาวะเลือดชิดในวงการอุดมศึกษาไทย เพราะความหลากหลายทางวิชาการน่าจะนำมาสู่ความงอกงามทางวิชาการ เรื่องนี้ผู้คนในวงการอุดมศึกษาของไทยคงต้องคิดให้รอบคอบกันมากขึ้นเพื่ออนาคตของประเทศเป็นสำคัญ