xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง!โฆษณาวิทยุยุค คสช. ผิดกฎหมาย-หลอกลวงเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน-เครือข่ายผู้บริโภคเผยวิทยุ ยุค คสช. โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายมากถึง 88% ทั้งขายอาหารเสริม ขายยา เครื่องสำอาง เกินจริง อวดอ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพทางเพศ รักษาโรคครอบจักรวาล และเสริมสวยเสริมหล่อ แนะนักจัดรายการ เจ้าของคลื่น ส่งโฆษณาให้ สสจ. ตรวจสอบก่อน ช่วยลดการทำผิด กสทช. เผยหาก อย. ฟันธงว่าผิด พร้อมสั่งระงับออกอากาศ และปรับวันละ 2 หมื่นบาท ย้ำหากทำผิดซ้ำซ้อน ถอนใบอนุญาตทันที

นายพชร แกล้วกล้า ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวในการแถลงข่าว "โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายในยุค คสช." ที่โรงแรมเซ็นจูรี พาร์ค วานนี้ (5 พ.ย.) ว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กาญจนบุรี เพชรบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อจัดการปัญหา สร้างความตื่นตัวให้ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่ มิ.ย.2557-พ.ค.2558 โดยได้ดำเนินการเฝ้าระวังสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางคลื่นวิทยุในช่วง มิ.ย.-ก.ย.2557 ซึ่งเป็นช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาควบคุมกิจการกระจายเสียง โดยเฝ้าระวังจำนวน 3 ครั้งๆ ละ 1 สัปดาห์ ทางสื่อวิทยุจำนวน 33 คลื่นใน 10 จังหวัด แบ่งเป็นคลื่นหลัก 31 คลื่น และคลื่นวิทยุออนไลน์ 2 คลื่น พบว่า 29 คลื่น หรือร้อยละ 88 มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายรวม 103 รายการ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริม 54 รายการ ยา 35 รายการ เครื่องสำอาง 13 ราย และโฆษณาสถานพยาบาล 1 รายการ

น.ส.สิรินนา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริมที่โฆษณาผิดกฎหมายจำนวน 54 รายการนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบำรุงรักษาร่างกาย รักษาโรคเฉพาะ รักษาโรคครอบจักรวาล กลุ่มเสริมความงาม เช่น ลดความอ้วน ช่วยผิวขาว และกลุ่มเสริมสมรรถภาพทางเพศ ที่พบมาก คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอายแคร์ซอฟท์เจล พบมากถึง 5 จังหวัด กาแฟลิลลี่พลัส 4 จังหวัด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบญจไท น้ำเห็ดสกัดมัชรูมพลัส เป็นต้น พบ 3 จังหวัด ส่วนผลิตภัณฑ์ยาแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มยาอันตรายที่ห้ามโฆษณา กลุ่มยาที่โฆษณาสมรรถภาพทางเพศ ความสวยงาม กลุ่มยาโฆษณารักษาครอบจักรวาล และกลุ่มยาที่โฆษณาลดแลกแจกแถมเพื่อการขายและส่งเสริมการใช้ยาเกินความจำเป็น ที่พบมาคือ วีกิ๊ฟ สมุนไพรชนิดน้ำและแคปซูลผสมว่านนากสามสี ยาน้ำสตรีฟลอร่าพลัส จำนวน 5 จังหวัด เป็นต้น

"เครือข่ายฯ ได้ประสานข้อมูลการเฝ้าระวังไปยัง กสทช. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว เพื่อให้ดำเนินการแก้ปัญหาตามกฎหมายต่อไป โดยอยากเตือนผู้บริโภคว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในลักษณะเช่นนี้จะก่อปัญหาสุขภาพแก่ผู้บริโภคเอง เช่น โฆษณารักษาสารพัดโรค ทำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหลงเชื่อและหยุดยาของตนเอง อาจเป็นอันตรายได้ ซึ่งที่ผ่านมา มีการร้องเรียนการเสียชีวิตจากกรณีเช่นนี้มายังเครือข่ายฯ หลายราย" น.ส.สิรินนากล่าว

น.ส.ศิริวรรณ อำนวยสินศิริ ผู้ประสายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ในการแก้ปัญหา เครือข่ายผู้บริโภคบางแห่ง เช่น ลำปาง มีข้อตกลงร่วมกันของนักจัดรายการวิทยุและคลื่นธุรกิจที่จะไม่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก่อน ซึ่งจากตรวจสอบหลังดำเนินการพบว่าทั้ง 16 สถานีของ จ.ลำปาง ยังไม่พบการโฆษณาผิดกฎหมาย และในบางพื้นที่จะเน้นสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน โดยจับเข่าพูดคุยกับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงในพื้นที่ เพื่อการคัดกรองเนื้อหาก่อนออกอากาศ เป็นต้น เป็นการให้ผู้ประกอบการคัดกรองดูแลกันเอง

นายนิรัตน์ เตียสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภค อย. กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนจาก อย. ก่อน มี 3 ประเภทคือ ยา อาหารที่แสดงสรรพคุณคุณประโยชน์ และเครื่องมือแพทย์ ส่วนเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายนั้น ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียน แต่จะมีการควบคุมเรื่องการโฆษณา

สำหรับปัญหาในการเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย แม้ อย. มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนคอยเฝ้าระวังตามสื่อต่างๆ แต่ยอมรับว่าสื่อวิทยุ ซึ่งมีจำนวนมากนั้น ทำได้ยาก เพราะ อย. ไม่มีหน่วยงานในภูมิภาค ต้องอาศัยความร่วมมือจาก สสจ. ในพื้นที่ที่มีกลุ่มงานเภสัชกรทำหน้าที่เรื่องคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงเครือข่ายในการร่วมเฝ้าระวังด้วย ขณะที่บทลงโทษในปัจจุบันยังไม่รุนแรง แต่ขณะนี้กำลังเร่งแก้กฎหมายให้บทลงโทษรุนแรงขึ้น เช่น โฆษณายาหรืออาหารผิดกฎหมายมีโทษปรับ 1 แสนบาท จากเดิมที่ปรับเพียงแค่หลักพันถึงหลักหมื่น และเมื่อศาลตัดสินก็มักจะปรับจำนวนน้อยกว่าโทษสูงสุดและให้รอลงอาญา

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช. กล่าวว่า หาก อย.ฟันธงว่าสถานีวิทยุใดก็ตามมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย กสทช. จะสั่งระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ตัวนั้นทันที ซึ่งหากไม่ระงับการออกอากาศการโฆษณาจะปรับวันละ 2 หมื่นบาทจนกว่าจะระงับการออกอากาศ และหากยังดำเนินการผิดซ้ำๆ ก็อาจเพิกถอนใบอนุญาตหรือพิจารณาไม่ต่อใบอนุญาตในที่สุด เพราะปัจจุบันกิจการวิทยุท้องถิ่น บริการธุรกิจ รวมไปถึงทีวีดาวเทียม ทีวีเคเบิล จะได้รับใบอนุญาตไม่นาน หากมีการทำผิดก็จะนำมาประเมินพิจารณาในการต่อใบอนุญาต

สำหรับคลื่นวิทยุหลัก เช่น วิทยุทหารอากาศ จ.ขอนแก่น และ สวพ.ขอนแก่น เป็นต้น ที่เครือข่ายได้ส่งข้อมูลการเฝ้าระวังมานั้น อย.ได้พิจารณาแล้วว่าโฆษณาผิดกฎหมายจริง ขณะนี้ กสทช.ได้สั่งระงับการออกอากาศโฆษณาดังกล่าวแล้ว หากไม่ระงับการออกอากาศก็จะปรับวันละ 2 หมื่นบาทเช่นกัน รวมถึงพิจารณาในการต่อใบอนุญาตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น