xs
xsm
sm
md
lg

"พรเพชร"ไม่ยื่นศาลรธน.ตีความ ให้สนช.ตัดสิน"ถอดถอน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 เปิดเผยว่า สำนวนการถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา มาถึงสนช. แล้วเมื่อช่วงเย็นวันที่ 6ต.ค. โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และเบื้องต้นเชื่อว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวิปสนช.ถาวร ที่พยายามจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติ (สนช.) กล่าวถึงการดำเนินการถอดถอน นายสมศักดิ์ และนายนิคม ตามสำนวนชี้ความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ตามหลักกฎหมายวิธีบัญญัติ จะต้องมีการพิจารณา เรื่องอำนาจหน้าที่ของผู้ที่ได้รับคำร้อง และผู้ที่ส่งเรื่องมา ว่ามีอำนาจหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของกฎหมาย โดยตนได้พิจารณาแล้ว ยืนยันว่า สนช.ทำหน้าที่วุฒิสภาได้ ไม่มีปัญหาตาม มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่ต้องมีการตีความใดๆ และไม่ต้องส่งตีความศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนป.ป.ช. ก็ชัดเจนว่า มีอำนาจยื่นถอดถอนตาม ม. 64 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นในประเด็นปัญหานี้ ถือว่ายุติ
แต่ก็ยังมีข้อปัญหาที่ต้องพิจารณา เนื่องจากคำร้องมีการกล่าวอ้างความผิดว่า เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสมาชิก จะต้องพิจารณาตามข้อบังคับว่า ความผิดตามคำร้องนั้น ยังมีอยู่หรือไม่ หากไม่มี สมาชิกก็ไม่อาจรับคำร้องนั้นไว้พิจารณาได้ หรือหากเห็นว่า ความผิดนั้นอยู่ในอำนาจสนช. ก็ดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับ โดยหลังจากที่ตนศึกษาสำนวนข้อกฎหมายแล้ว ก็จะรีบเสนอเรื่องนี้ต่อวิปสนช. ว่ามีความเห็นอย่างไร ก่อนที่จะส่งให้ที่ประชุมสนช. พิจารณาภายใน 30 วัน นับจากได้รับสำนวนจากป.ป.ช. แต่คงไม่ทันภายในสัปดาห์นี้
พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกระบวนการถอดถอนของ สนช.ว่า ต้องดูตามข้อกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งในขณะนี้เราไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 แล้ว ส่วนรัฐธรรมนูญปี 57 ก็ไม่ได้กำหนดหมวดถอดถอนไว้ แต่ใน มาตรา 6 ก็กำหนดให้สนช. ทำหน้าที่ ส.ส.- ส.ว. และ มาตรา 5 ก็ให้อำนาจสนช. ในการวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองด้วยการลงมติได้
ดังนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ว่าจะเห็นเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่า ประธาน สนช. ควรนำปมปัญหาดังกล่าวส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยตนเอง ไม่ต้องให้สมาชิกพรรคการเมืองเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในอำนาจหน้าที่แก่สมาชิกสนช. ที่ขณะนี้มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
ด้านนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สนช. กล่าวว่า การร่างข้อบังคับของ สนช.โดยเฉพาะหมวดถอดถอน ถือเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่มี ส่วนจะดำเนินการต่อไปอย่างไรกับกรณีของนายนิคม ไวยรัชพานิช และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นั้น ก็ต้องรอพิจารณาสำนวนถอดถอนที่ป.ป.ช. ยืนยันกลับมาก่อน ว่าจะอ้างกฎหมายใดบ้าง ส่วนตัวมองว่าหากป.ป.ช. อ้างถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ก็ไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าอ้างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อบังคับ ก็สามารถดำเนินการได้
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนายวรชัย ที่ออกมาให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งว่า กรณีที่ตนออกมาให้สัมภาษณ์ เพราะต้องการลดความขัดแย้งที่คนบางกลุ่มพยายามสร้างมันขึ้นมา ยืนยันว่า พวกตนไม่เคยจุดไฟขัดแย้ง อยู่อย่างสงบ ให้ความร่วมมือคสช.เรื่อยมา เพราะเห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ กำลังเดินไปในทางที่ถูกต้องแล้ว เราก็เปิดโอกาส ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์อะไรรัฐบาล แต่พวกที่ไม่หยุดคือ องค์กรอิสระบางองค์กร และ สนช. บางส่วน โดยเฉพาะพวกกลุ่ม 40 ส.ว. พยายามเดินเกมถอดถอน อดีตนักการเมือง กระเหี้ยนกระหือรือ ที่จะทำลายพวกเราให้ได้ ตอนนี้บางองค์กรก็ออกมาพูดเรื่องถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และทราบว่ากำลังมีความพยายามจะเอา มาตรา 112 ออกมาอีกด้วย
" จะเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้น เกิดจากซีกนู้นทั้งหมด การที่ผมออกมาพูด ก็เพื่อต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาสยบทุกกลุ่ม ถ้าปล่อยให้พวกนั้นทำกับเราฝ่ายเดียว มันไม่ยุติธรรม ประเทศจะสงบได้อย่างไร ถ้าปล่อยให้ทำกันแบบนี้ ผมก็ต้องออกมาโต้บ้าง จะนั่งเฉยๆให้เขาเอามีดมาฟันคอได้อย่างไร วันนี้ทุกฝ่ายควรหยุดได้แล้ว ความขัดแย้งเก่าๆ ที่ผ่านมาก็ควรให้ผ่านไป ผมไม่ได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาล แต่ออกมาพูดถึงคนที่ออกมาขยายความขัดแย้ง และอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาจัดการ ตรงนี้" นายวรชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น