xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯชี้สนช.ต้องแจ้งบัญชี ปปช.ยันถอดถอน"ค้อน-นิคม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนไม่รับฟ้อง 28 สนช. ขอวินิจฉัยต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.หรือไม่ ชี้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น หลังยื่นแย้งความเห็นศาลปกครองชั้นต้นที่ระบุ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน หมายรวมถึงผู้ที่รับเอาภาระบ้านเมืองมาเป็นภาระตนโดยสมัครใจ ไม่ว่ามาจากเลือกตั้งหรือลากตั้ง เตือนหากไม่ยื่นระวังรับโทษอาญา ไร้เงา "บิ๊กกี่" ฟังคำพิพากษา ด้านประธานสนช. ชี้้"ทนายปู" ติดโผ สปช. เป็นบทพิสูจน์ไม่ปิดกั้น แบ่งสี ขณะที่ ป.ป.ช.ยืนยันถอดถอน"ขุนค้อน - นิคม" ส่งกลับให้ สนช.ดำเนินการอีกรอบ ส่วนคดี "ยิ่งลักษณ์" ขอเวลาทบทวนว่า มีความผิดนอกเหนือรธน.ปี 50 หรือไม่ พร้อมยกคำร้อง "มาร์ค-เทือก" ปิดไทยคมตอนชุมนุมแดงปี 53

วานนี้ (30 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ที่ไม่รับคำฟ้อง ที่ พล.อ.นพดล อินทปัญญา และพวกรวม 28 คน ซึ่งเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีขอให้เพิกถอนมติป.ป.ช. ลงวันที่ 14 ส.ค. และลงวันที่ 27 ส.ค. 57 ที่ระบุให้สนช. ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.

โดยศาลปกครองสูงสุดระบุเหตุผลว่า พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามที่มีอยู่จริงในวันที่เข้ารับตำแหน่งหรือวันที่พ้นจากตำแหน่งต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ทุกครั้ง ที่เข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี ตามแบบที่คณะกรรมการป.ป.ช.ประกาศกำหนด ซึ่งป.ป.ช. เป็นคณะกรรมการที่กฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง มติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคลถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 3 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

แต่การที่ ป.ป.ช. มีความเห็นตอบข้อหารือตามหนังสือที่ ปช 0008/0147 ลงวันที่ 14 ส.ค. 57 และหนังสือที่ ปช 0008/0171 ลงวันที่ 27 ส.ค. 57 เกี่ยวกับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสนช. มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น เป็นเพียงการให้ความเห็นตอบข้อหารือเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายของ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ. ป.ป.ช. ต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของ พล.อ.นพดล และพวก มติป.ป.ช.ดังกล่าวจึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง และไม่ได้ทำให้พล.อ.นพดล และพวกได้รับความเดือนร้อนหรืออาจเดือดร้อนเสียหาย จึงยังไม่มีสิทธิที่จะมาฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง และสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยว่าคำร้องอุทธรณ์ของพล.อ.นพดลกับพวกฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ ในศาลปกครองชั้นต้น แม้จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา แต่เนื้อหาของการมีคำสั่งก็ได้ระบุความหมายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม มาตรา 32 พ.ร.บ. ป.ป.ช. ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า หมายถึงผู้เอาภาระของบ้านเมืองเป็นภาระของตน ไม่ว่าจะโดยสมัครใจเข้าสมัครรับเลือกตั้ง หรือสมัครใจตามที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในการตรากฎหมายอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และการสรรหาบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามารับใช้บ้านเมืองในตำแหน่งต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติและอื่นๆ มีหน้าที่ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ เปิดเผยความจริง ว่าก่อนตนเข้ามาดำรงตำแหน่งมีทรัพย์สินใดบ้าง รวมทั้งภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อให้สังคมรับรู้รับทราบถึงความโปร่งใสของผู้เข้ามารับภาระของบ้านเมืองว่าไม่ได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ใดๆแก่ตนเองและครอบครัว หน้าที่ตาม มาตรา 32 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องส่วนตนโดยแท้ของผู้อาสาเข้ามารับใช้บ้านเมือง หาใช่หน้าที่ของป.ป.ช.ที่จะต้องมีคำสั่งให้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามนัย มาตรา 32 หากผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามย่อมต้องรับโทษทางอาญา ตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกันเป็นส่วนตน

ซึ่งทำให้ในการยื่นคำอุทธรณ์ของ พล.อ.นพดลกับพวก ต่อศาลปกครองสูงสุด พล.อ.นพดล กับพวกได้โต้แย้งความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 32 นี้ ของศาลปกครองชั้นต้นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินตามความหมาย มาตรา 32 นั้นต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น ส.ส. และส.ว. แต่สนช.ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.และส.ว. จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 32 และป.ป.ช.ไม่มีหน้าที่ต้องเรียกให้สนช. ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินดังกล่าว

การที่ป.ป.ช.มีมติเช่นนี้ ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถ้าป.ป.ช. จะอ้างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 6 วรรคสอง ประกอบมาตรา 42 และมีความเห็นว่าสนช. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกับ ส.ส.และส.ว. ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ป.ป.ช. ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายไปในทางเดียวกัน โดยมีมติให้หัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย แต่ ป.ป.ช.กลับไม่มีมติดังกล่าว จึงเห็นว่าการตีความและการบังคับใช้กฎหมายของป.ป.ช.ไม่มีมาตรฐานเดียวกันและเป็นการเลือกปฏิบัติ

อีกทั้งยังเห็นว่า มติของป.ป.ช.และการมีหนังสือมายังสำนักเลขาธิการวุฒิสภาไม่ได้มีลักษณะเป็นการตอบข้อหารือแต่เป็นคำสั่งทางปกครองที่กระทบต่อตนเองกับพวก และเมื่อป.ป.ช. มีมติดังกล่าว ตนกับพวกก็ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ถือว่าตนกับพวกถูกละเมิดจากคำสั่งที่ไม่ใช่ด้วยกฎหมาย จึงเป็นผู้ที่เดือดร้อนเสียหาย และมีสิทธิ์ที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ แต่ศาลปกครองสูงสุดก็ระบุในคำสั่งวันนี้ว่า คำอุทธรณ์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการนัดฟังคำสั่งในครั้งนี้ เมื่อถึงเวลานัดฝ่าย พล.อ.นพดล กับพวก ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี ไม่ได้เดินทางหรือส่งตัวแทนมาฟังคำสั่งศาลแต่อย่างใด มีเพียงนายสิทธิพงษ์ ปึงวงศานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักคดี ป.ป.ช. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากป.ป.ช.ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี มาศาล จึงทำให้คณะตุลาการไม่ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่ง โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีไปคัดสำเนาคำสั่งดังกล่าวแทน


**เผย28 สนช.ส่วนใหญ่บิ๊กทหาร-ตร.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า รายชื่อ สนช.ทั้ง 28 คน ที่เข้าชื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง มีดังนี้

1. พล.อ.นพดล อินทปัญญา อดีตเลขานุการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมัยดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม 2. พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต ประธานกรรมการบริษัท ลิเบอร์ตี้ ประกันภัย 3. นายสุธรรม พันธุศักดิ์ เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ วู๊ดแลนด์รีสอร์ท และทิฟฟานี่โชว์พัทยา 4. นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 5. นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน นักเคลื่อนไหวประชาสังคม เคยเข้าร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. 6. พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย อดีตนายทหารคนสนิท (ทส.) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 7. นายชัชวาล อภิบาลศรี อดีต ส.ว.สรรหา 8. พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) สมัย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ตร. 9. นายประมุท สูตะบุตร อดีตผู้อำนวยการ อสทม คนแรก สายสัมพันธ์เครือญาติคู่สมรส นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 10. พล.อ.จิรพงศ์ วรรณรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษากองทัพบก

11. พล.อ.ไตรรัตน์ รังคะรัตน ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า เตรียมทหารรุ่นที่ 10 (รุ่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ) 12. นายธำรง ทัศนาญชลี อดีต ส.ว.สรรหา 13. นางสุวิมล ภูมิสิงหราช อดีตเลขาธิการวุฒิสภา 14. พล.อ.ชยุติ สุวรรณมาศ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญการกองทัพไทย 15. นายศรีศักดิ์ ว่องส่งสาร อดีตกรรมการบริษัท วิทยุ การบินแห่งประเทศไทย จำกัด สมัยนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 16. พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก สนิทสนมกับ พล.อ.ประวิตร

17. นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 18. พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) 19. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 20. พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ อดีต ส.ว.สรรหา

21. พล.อ.โสภณ ศีลพิพัฒน์ อดีต เสนาธิการทหารบก 22. พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ นายตำรวจคนสนิท ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ จบเตรียมนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 25 (รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.พัชรวาท) 23. พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี 24. พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ อดีต ผบ.หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก (นปอ.) เตรียมทหารรุ่นที่ 12 (รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ) 25. พล.อ.ยุวนัฏ สริยกุล ณ อยุธยา อดีต ผบ.กองอัยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เตรียมทหารรุ่นที่ 12 (รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์) 26. นายธานี อ่อนละเอียด อดีต ส.ว.สรรหา 27. พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ อดีตประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม อดีตแม่ทัพภาคที่ 1
28. พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.)

** ตีกลับคำร้องถอด"นิคม-สมศักดิ์"

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงกรณีที่สนช.มีมติส่งคำร้องถอดถอน นายนิคม ไวรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กลับไปให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. )ว่า เป็นเรื่องของฝ่ายธุรการ ว่าจะส่งเมื่อไร เพราะ ไม่มีกำหนดระยะเวลา ทั้งนี้เรื่องการถอดถอนจะต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆไป ตามข้อบังคับว่า ป.ป.ช.มีอำนาจส่งมาหรือไม่ และสนช.มีอำนาจรับไว้พิจารณาหรือไม่ ส่วนเรื่องจะส่งไปยังศาลก็ต้องส่งไปที่ศาลจะมาส่งให้สนช.ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม โดยหลักการมองว่าหากทำผิดรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ถือว่าผิดแต่ในกฎหมายเก่า แต่ปัจจุบันต้องดูว่ากฎหมายกำหนดอย่างไร ยอมรับหรือไม่ แต่เมื่อมีประเด็นเข้าข่ายการถอดถอน ก็คงเป็นไปตามกฎหมายป.ป.ช.

**"ทนายปู"นั่งสปช.พิสูจน์ไม่แบ่งสี

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีรายเชื่อติดโผเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.)ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายพรเพชร กล่าวว่า เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหาในชั้นแรก ที่พิจารณาตามคุณสมบัติของผู้สมัคร ว่าเข้าหลักเกณฑ์ มีประสบการณ์ วิสัยทัศน์ถ้ากรรมการเห็นว่าเหมาะก็คัดเลือกเข้ามา จากนั้นก็เป็นขั้นตอน คสช.พิจารณา เพราะฉะนั้นจะเป็นทนายความของใครก็ไม่เกี่ยว มองในอีกแง่หนึ่งว่า ไม่ได้ปิดกั้น ตามที่มีวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอาสีโน้นสีนี้มา ซึ่งไม่ได้ดูที่สี

เมื่อถามถึงกรณีที่ สนช.28 คน เข้าชื่อยื่นศาลปกครองว่ามติป.ป.ช.ให้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์และหนี้สินว่าไม่ชอบ นายพรเพชร กล่าวว่า เท่าที่สอบถามสมาชิกเหล่านั้น ก็ได้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯไปแล้วก่อนที่จะยื่นร้องต่อศาลปกครอง เพื่อทดสอบข้อกฎหมายให้เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งถ้าไม่ยื่นตอนนี้ก็หมดเวลาแล้ว

ป.ป.ช.ยันถอดถอน"ขุนค้อน - นิคม"

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ว่า ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติ (สนช.) ได้ส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับคืนมายังป.ป.ช. เนื่องจากสำนวนการถอดถอนที่ ป.ป.ช.ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาดำเนินคดีเมื่อวันที่ 27 มี.ค. และ4 เม.ย.57 เป็นการอ้างฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ไม่มีผลบังคับใช้แล้วนั้น คณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเสียงข้างมากว่า กรณีดังกล่าวเป็นการดำเนินคดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 มาตรา 64 ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 6 วรรค 2 ที่ระบุให้สนช. ทำหน้าที่ ส.ส. -ส.ว. และรัฐสภาอยู่แล้ว

ดังนั้น ที่ประชุมป.ป.ช.จึงมีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวกลับไปยัง สนช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยเป็นการยืนยันตามสำนวนเดิมของป.ป.ช. ที่พิจารณาตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่เคยส่งไปก่อนหน้านี้ ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายตามคำท้วงติงของสนช. ทั้งนี้ หลังจากที่ป.ป.ช.ส่งสำนวนกลับไปยัง สนช.แล้ว ขึ้นอยู่กับสนช. จะพิจารณาดำเนินการถอดถอนต่อไปหรือไม่ เพราะถือว่าป.ป.ช. หมดหน้าที่แล้ว

**สำนวนถอดถอน"ปู"รอพิจารณา

นายสรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.ยังมีมติเป็นหลักการเกี่ยวกับกรณี ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น กรณีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกรณีถอดถอนอดีต ส.ว.จำนวน 39 ราย รวมทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองอื่นๆว่า หากเป็นการกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ตามมาตรา 58 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ถือว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่จะไต่สวนต่อไป

โดยในกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และอดีตส.ว.39 คนนั้น ที่ประชุมให้เจ้าหน้าที่ไปทบทวนดูในสำนวนเพื่อความรอบคอบว่า มีการกระทำความผิดในกรณีกฎหมายอื่นๆ นอกเหนือจากการทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยให้เจ้าหน้าที่ไปรวบรวมข้อมูลเรื่องดังกล่าวแล้วเสนอต่อคณะกรรมการป.ป.ช.อีกครั้ง ซึ่งกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีเรื่องเกี่ยวกับการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ น่าจะเข้าข่ายตามความผิดกฎหมายอื่นๆ ด้วย แต่กรณีของอดีต ส.ว. 39 คน อาจจะมีปัญหา เพราะเป็นการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะส่งสรุปสำนวนส่งให้ที่ประชุมป.ป.ช. พิจารณาอีกครั้ง

** ยกคำร้อง"มาร์ค-เทือก"ปิดไทยคม

รายงานจากป.ป.ช.แจ้งว่า ในการประชุมป.ป.ช.วานนี้ ที่ประชุมมีมติยกคำร้องการไต่สวนกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีการสั่งปิดสถานีดาวเทียมไทยคม ในช่วงมีประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการฉุกเฉิน ปี 2553 ทำให้เว็บไซต์ในประเทศ 36 แห่ง ดาวเทียมต่างประเทศ 15 ประเทศ และสถานีโทรทัศน์พีทีวี ถูกระงับการออกอากาศ เป็นการละเมิดสิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมเห็นว่า การสั่งปิดสถานีไทยคมไม่มีความผิด เพราะผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติตามขั้นตอน และกฎระเบียบอย่างสมเหตุผลในช่วงที่มีสถานการณ์ความรุนแรง และความไม่สงบเกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น