xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊แอน” เจ้าแม่ปลากัดเงินล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


            ....ใครจะคาดคิดว่าปลาตัวเล็กๆ ในขวดโหล จะสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงที่เคยล้มละลายถึงขั้นต้องกินข้าวคลุกน้ำปลาให้กลายเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ วันนี้ สุวรรณีย์ แสงดี” หรือ เจ๊แอน” ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเธอสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้จากการเริ่มเลี้ยงปลากัดเพียงแค่ไม่กี่ตัว กระทั่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ และเป็นที่ยอมรับจนได้รับฉายาว่า เจ้าแม่ปลากัดเงินล้าน”

 มันเริ่มจากศูนย์เลย เริ่มจากติดลบด้วยซ้ำ ตอนนั้นไม่มีอะไรเลย แม่แฟนป่วยหนักถึงขั้นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตอนนั้นอาชีพหลักของเราคือขายอาหารตามสั่งและทำเบเกอรี่ ก็ต้องหยุดทำหมดทุกอย่าง เพราะต้องดูแลแม่ รายได้ทั้งหมดก็ขาดไป ช่วงนั้นชีวิตลำบากจริงๆ ร้องไห้ทุกครั้งที่เห็นลูกกินข้าวกับไข่ ส่วนเรากับแฟนกินข้าวกับน้ำปลา ” เจ๊แอนเล่าทั้งน้ำตา

ในขณะที่หนทางทุกอย่างดูเหมือนจะถูกปิดโอกาสให้เธอก้าวไปข้างหน้า แต่ด้วยจิตใจมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อครอบครัว ทำให้เจ๊แอนและแฟน ตัดสินใจเดินฝ่าวิกฤตต่างๆ ไปด้วยกัน และเริ่มหาโอกาสให้ตัวเองด้วยการผันตัวเป็นคนขายปลากัด ซึ่งก็มีจุดเริ่มต้นมาจากพี่ชายแฟนซึ่งเป็นนักเดินสายประกวดปลากัด

เจ๊แอนเริ่มสงสัยว่าพี่ชายของแฟนเป็นคนชอบประกวดปลากัด ไปประกวดทุกงานทั่วประเทศ หลังจากประกวดเสร็จมักจะไม่รอรับปลากลับบ้านหรือไม่ก็แจกจ่ายเพื่อนฝูงกันไปเลี้ยง เจ๊แอนจึงเกิดความเสียดายเพราะปลาประกวดมีราคาที่แพง เลยปรึกษากับแฟนว่าจะไปขอปลาที่ปลดระวางมาขาย

เริ่มแรกก็ตั้งขวดโหลปลากัดขายหน้าบ้านบนชั้นเล็กๆ บ้านเจ๊แอนจะติดถนนใหญ่ในซอย ลูกค้าเริ่มสนใจมาดูมาซื้อกันบ้าง เพราะว่าเป็นซอยที่มีคนผ่านไปมาเยอะ พอได้เงินจากการขายปลากัด ก็เริ่มชวนแฟนไปซื้อขวดโหลและปลากัดที่สวนจตุจักรเพิ่ม พอพี่ชายแฟนเห็นว่าสนใจอยากจะทำจริงๆ ก็เลยลงทุนหาซื้อพ่อแม่พันธุ์มาให้ลองเพาะ ถึงตรงนี้ทำให้เจ๊แอนเริ่มมีกำลังใจที่จะสู้ และจริงจังกับอาชีพขายปลากัด

สองปี กับการลองผิดลองถูกสะสมประสบการณ์ต่างๆ ทำให้เจ๊แอนมีความเข้าใจในเรื่องของปลากัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพาะพันธุ์หรือการประกวดในงานต่างๆ ปลากัดเจ๊แอนที่เด่นๆ จะเป็นปลากัดแฟนซีโดยเฉพาะ “หม้อฮาล์ฟแฟนซีและPK” ลักษณะเป็นปลาครีบสั้น หางกาง 180 องศา และลำตัวมีสีสันหลากหลาย เพราะความชอบเป็นการส่วนตัว โดยการเพาะเลี้ยงที่บ้านจะมีเจ๊แอนและพี่หนู(แฟนเจ๊แอน) ช่วยกัน พอปลาโตขึ้นก็มาคัดฟอร์ม

“ครั้งแรกที่ได้รับรางวัลจากงานประกวด คืองานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้รับรางวัลที่ 2 ประเภทปลาที่ประกวดคือแฟนซีหม้อฮาล์ฟ เงินรางวัลที่ได้จำนวน 3,000 บาท ปลื้มใจสุดๆ หลังจากได้เงินมาก็ไปซื้อกล้องถ่ายรูปเป็นตัวแรก หลังจากปลาตัวนั้นถูกขายไปแล้วก็เริ่มมีรางวัลติดไม้ติดมือ และยังทำปลาประกวดให้ลูกค้าจนมีรางวัลกันแทบทุกคน ” เจ๊แอนพูดด้วยความปลื้มใจ

ในมุมมองของเจ๊แอน เธอมองว่าปลากัดแฟนซีเป็นปลาที่มีเสน่ห์ในตัวเอง โดยเฉพาะด้านสีสัน ผู้เลี้ยงจะได้เห็นความเปลื่ยนแปลงของสีตลอดในช่วงวัยต่างๆ ปลากัดแฟนซีจัดอยู่ในกลุ่ม AOC (Any Other Color) แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มปลาเคลือบเงา และกลุ่มปลาเกล็ดไม่เคลือบเงาหรือปลาหนังนั่นเอง ปลาทั้ง 2 กลุ่มนี้จะมีการเปลื่ยนแปลงทางด้านสีสันค่อนข้างสูง ในวงการมักจะเรียกว่าการ “การลอกสี” หรือ “สีไหล” ซึ่งจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และวิธีการเลี้ยงของผู้เลี้ยงเอง

เธอยังบอกอีกว่า รายละเอียดของปลากัดแฟนซี ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของเทคนิคการเลือกปลา ซึ่งเป็นการคาดการณ์ลักษณะของปลาในอนาคตเท่านั้น แต่ยังมีหลักการที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง ทางด้านสีสันด้วย

สำหรับเจ๊แอนแล้ว การเป็นคนขายปลากัด ไม่ใช่แค่การคัดปลาสวยๆ มาขายใหลูกค้าอย่างเดียว แต่หมายถึงงานที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพและคุณค่าของตัวปลา ถือว่าเป็นอาชีพที่ทำให้ทุกวันนี้เธอสามารถลืมตาอ้าปากได้ และเป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงคนในครอบครัวอย่างแท้จริง









กำลังโหลดความคิดเห็น