xs
xsm
sm
md
lg

สภาการนสพ.รับเรื่องคสช. รอ'ผู้จัดการ'แจงกลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปธ.สภาการ นสพ.แจงผลประชุม ให้นำกรณี คสช.ร้อง “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ไปตรวจสอบตามธรรมนูญและข้อบังคับฯ พร้อมชงให้ผู้ถูกร้องชี้แจง แก้ไข หากดำเนินการแล้ว ผู้ร้องพอใจก็ยุติ ปัดกำชับสื่อ เหตุคำนึงหลักวิชาชีพอยู่แล้ว ชี้คำสั่ง คสช.ไม่ถือว่าชี้ความผิด ด้านตัวแทน “เอเอสทีวีผู้จัดการ” ยินดีชี้แจง แต่ไม่ร่วมวงสอบ พร้อมรับผลตัดสิน

จากกรณี เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ได้มีการเผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม โดยระบุว่า หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 253 วันที่ 26 ก.ค. - 1 ส.ค. 57 ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของ คสช. โดยในชั้นนี้ เห็นสมควรตักเตือนผู้เขียนบทความ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนอีก จะดำเนินการตามกฎอัยการศึก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 57 เป็นต้นมา และส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายด้วย นอกจากนี้ยังสั่งให้องค์กรวิชาชีพ ที่ผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวข้างต้นเป็นสมาชิก ดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพต่อบุคคลเหล่านั้น แล้วรายงานผลการดำเนินการให้ คสช.ทราบโดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุว่า คสช. โดยคณะทำงานด้านกฎหมาย ส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการคสช. ได้ส่งหนังสือ มายังสภาการหนังสือพิมพ์ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 108/2557 แล้ว เป็นหนังสือที่ คสช(สลธ) 1.10/55 ลงวันที่ 28 ก.ค. 57 โดยมีรายละเอียดดังนี้

เรียน ประธานคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 108/2557 เรื่อง การตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ฝ่าฝืนข้อห้าม ลงวันที่ 26 ก.ค. 57 จำนวน 1 ฉบับ

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งคสช. ที่ 108/2557 เรื่อง การตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ฝ่าฝืนข้อห้าม ลงวันที่ 26 ก.ค. 57 อันสืบเนื่องจากกรณีที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 วันที่ 26 ก.ค.- 1 ส.ค.57 ได้มีการตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่อง เช่น บนหน้าปกหนังสือ และในหน้า 4 ซึ่งมีข้อความว่า “ธรรมนูญ “บิ๊กตู่” คสช.พ่อทุกสถาบัน” ซึ่งเป็นข้อความที่ เสียดสี และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อยู่เหนือสถาบันเบื้องสูง และในหน้าที่ 16 ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ส่วนคนที่ได้รับอำนาจตรงในการเลือกสรรเครื่องสุขภัณฑ์นั้น ไม่ใช่“บิ๊ก คสช.”อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นทายาทของ“บิ๊ก คสช.”รายหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเล่นว่า“น้องตาล” ฟังผิวเผินชื่อ “ตาล”คล้ายกับชื่อ“ตู่”ที่มี ต.เต่า เหมือนกัน จนนึกไปว่า“น้องตาล”เป็นลูก“บิ๊กตู่” แต่หากลองคลิกเข้าไปใน“อาจารย์กูเกิล”แล้วคงจะถึงบางอ้อว่า “บิ๊กตู่”มีลูก 2 คน เป็นผู้หญิงทั้ง 2 คน และไม่ได้ชื่อใกล้เคียงกับ“ตาล”เลย แต่ “น้องตาล”กลับเป็นชื่อทายาทของ“บิ๊ก คสช.”ผู้ที่ยังมากบารมี แต่ขอลดบทบาท เพื่อแต่งตัวรอบางสิ่งบางอย่าง ที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า การให้“ลูกตาล”ซึ่งถือเป็นคนรู้ใจ มาเลือกสิ่งอำนายความสะดวกใน“ทำเนียบรัฐบาล-ตึกไทยคู่ฟ้า”อาจจะส่งสัญญาณบางอย่างออกมาให้เห็น “บิ๊ก คสช.”ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะไม่ใช่“บิ๊กตู่”อย่างที่คาดเดากัน แต่มี“ตาอยู่”ที่ “บิ๊กตู่”วางใจ ให้มาสานงานต่อก็เป็นได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คนกันเองใน คสช. นั่นแล”

กับข้อความในหน้า 18 ซึ่งมีข้อความที่กล่าวถึง “การคัดสรรสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่ามีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน เอาโควตามาแบ่งเค้ก” ซึ่งข้อความดังกล่าว เป็นความเท็จ

จึงถือว่า การกระทำดังกล่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ มีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค.57 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 57 รายละเอียดปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงขอให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พิจารณาดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรม แห่งการประกอบวิชาชีพกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว และรายงานผลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบ ทั้งนี้ ขอขอบคุณในความร่วมมือมา ณ โอกาสนี้ด้วย” ลงนาม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

** สภาการฯพิจารณาข้อร้องเรียนคสช.

เวลา 10.00 น. วันเดียวกันนี้ ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการประชุม คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยมีวาระสำคัญ เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของ คสช. ที่กล่าวหาว่า หนังสือผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 มีการพาดหัวข่าว และตีพิมพ์เนื้อหาหลายเรื่อง ที่เป็นข้อความเสียดสี และเป็นเท็จ ซึ่งอาจทำให้สาธารณะเข้าใจผิดว่าหัวหน้า คสช. อยู่เหนือสถาบันเบื้องสูง มีเจตนาไม่สุจริต ทำลายความน่าเชื่อถือของคสช.

ภายหลังการประชุมนานกว่า 2 ชม. นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร จากคสช. แล้ว และมีมติให้นำ นายสิทธิโชค ศรีเมือง รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ นำเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการพิจารณาตรวจสอบตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2540 และ ข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554

ทั้งนี้ ทางตัวแทนของ หนังสือเอเอสทีวีผู้จัดการฯ ที่เข้าร่วมประชุม ในฐานะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่ายินดีที่จะชี้แจง และจะไม่เข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งนี้ หากผลสอบสวนของสภาการหนังสือพิมพ์ออกมาเป็นเช่นไร ก็พร้อมปฏิบัติตาม

** ให้ผู้จัดการฯ แก้ไข ขอโทษคสช.

"จากนี้ไป คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ จะส่งข้อร้องเรียนดังกล่าวไปให้หนังสือเอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์ เพื่อดำเนินการชี้แจง แก้ไข ตามที่ คสช.ร้องเรียน หากทางหนังสือเอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์ พิจารณาแก้ไข และขอโทษผู้ร้องเรียน หากผู้ร้องเรียนพอใจ ถือว่าเรื่องเป็นที่ยุติ " นายจักรกฤษณ์ ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมได้พิจารณากำหนดแนวทางทำงานของสื่อฯ ด้วยหรือไม่ หลังจากที่ คสช. มีคำสั่งให้ตรวจสอบหนังสือพิมพ์ ที่เป็นสมาชิกฯ นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า โดยปกติการทำงานของสื่อมวลชน ได้คำนึงถึงหลักการสำคัญในการทำงานตามหลักวิชาชีพอยู่แล้ว จึงไม่มีประเด็นที่ทางสภาการหนังสือพิมพ์จะกำชับประเด็นใดๆ

เมื่อถามต่อว่า คำสั่ง คสช. ต่อประเด็นของหนังสือเอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์ มีลักษณะของการชี้ความผิด จะส่งผลต่อการตรวจสอบหรือไม่ นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า ลักษณะการกล่าวหา ต้องมีการชี้ผิดอยู่แล้ว แต่ตามกระบวนการตรวจสอบของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ที่ถือเป็นองค์กรอิสระ ต้องดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน ดังนั้น คำสั่งของคสช. ดังกล่าวนั้น ไม่ถือเป็นลักษณะของการชี้ผิด หรือชี้ถูก และการตรวจสอบขององค์กรสื่อฯ หากได้ผลว่าเป็นอย่างไร ก็ดำเนินการตามข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าวรายงาน ทั้งนี้ตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2540 ข้อ 22 กำหนดว่า เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ได้ตรวจสอบ และดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ให้แจ้งผลพิจารณาให้คณะกรรมการสภาการฯ และคู่กรณีรับทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ หากคู่กรณีฝ่ายใดเห็นว่า มีพยานหลักฐาน และเหตุผลอื่นที่ยังไม่ได้พิจารณา ให้ยื่นคำคัดค้านต่ออนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ภายใน 20 วัน นับแต่วันได้รับทราบผลพิจารณา และให้คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการอุทธรณ์พิจารณาต่อไป สำหรับโทษการรับผิด โดยหากผลวินิจฉัยออกมาระบุว่า หนังสือพิมพ์ ที่เป็นสมาชิกสภาการฯ หรือผู้ประกอบการวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในสังกัดละเมิด หรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ให้หนังสือพิมพ์ฉบับที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว ลงตีพิมพ์คำวินิจฉัยอันเป็นที่สุด พร้อมทั้งตีพิมพ์คำขอโทษต่อผู้เสียหาย ในตำแหน่งและขนาดตัวอักษรที่เห็นได้ชัด เผยแพร่ต่อสาธารณะภายใน 7 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น