xs
xsm
sm
md
lg

แฉขายโจ่งครึ่ม กลูตาเร่งผิวขาว จุฬาฯเจ๋งเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สาธารณสุขเชียงใหม่เตือน "กลูตาไธโอน" เคมีภัณฑ์อันตราย ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หวังผลเรื่องเสริมสวย มีโทษทั้งคนจำหน่าย คนฉีด เผยยังพบโฆษณาขายเกลื่อนโลกออนไลน์ ชูจุดขายเดียว "เร่งผิวขาว" แถมมี อย. รับรอง ด้านรพ.จุฬาฯ สุดเจ๋ง พัฒนาเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด ช่วยผู้ป่วยสูงอายุลดเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากการผ่าตัด กลับบ้านได้ไว แนะบรรจุลงชุดสิทธิประโยชน์ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น เหตุราคายังสูงลิ่ว

จากกรณีที่มีการแชร์ข้อความพร้อมภาพเลือดที่ได้จากตัวผู้ป่วยผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อเตือนภัยถึงการทำสีผิวขาวว่านักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ทั้งกินและฉีดกลูตาไธโอน เพื่อให้ผิวขาวใสจนตับพัง หายใจเองไม่ได้ ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แต่ทางโรงพยาบาลไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิของคนไข้และญาตินั้น

วานนี้ (23 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จะออกมาประกาศเตือนวัยรุ่น โดยเฉพาะหญิงสาวที่ฉีดและกินกลูตาไธโอนเร่งผิวขาวแล้วอาจถึงตาย เพราะเป็นยาอันตราย โดยผลจากสารเคมีทำลายตับ ไตหรือระบบเลือด อีกทั้งกลูตาไธโอนไม่มีเจตนาผลิตออกมาเพื่อหวังผลเรื่องการเสริมสวย แต่ข้อเท็จจริงขณะนี้ มีการโฆษณาขายกลูตาไธโอน สารเร่งผิวขาววผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กกันอย่างแพร่หลาย เพียงแค่พิมพ์คำว่า "โฆษณาขายกลูตา" และค้นหาผ่านทาง Google เท่านั้น ไม่กี่วินาทีก็ปรากฏชื่อแหล่งจำหน่ายกลูตาไธโอนสารเร่งผิวขาว ให้เลือกสั่งซื้อทางออนไลน์ทุกรูปแบบ ทั้งยังมีการโฆษณาว่ามี อย.รับรองด้วย

นายอิศรา นานาวิชิต เภสัชกรชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กวัยรุ่นหรือวัยเรียนที่รักสวยรักงาม นิยมใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บำรุงผิว ลดน้ำหนัก ซึ่งเข้าใจว่าได้ผลดี เพราะใช้ไปแล้วได้ผลในระยะแรก แต่ไม่ทราบว่าจะมีผลข้างเคียงหรือผลตกค้าง ดังที่เห็นในข่าวที่ออกมา เด็กสั่งซื้อกลูตาไธโอนไปฉีดแล้วยังไม่พอ ยังซื้อจากอินเทอร์เน็ตมากินควบคู่ไปด้วยอีก

"ที่จริงทุกตัวเป็นเคมีภัณฑ์ ทำให้เกิดอาการข้างเคียง บางรายเสียชีวิตด้วยการอุดตันของไขมันที่เข้าไปในกระแสเลือดแล้วไปอุดตันอวัยวะสำคัญ เช่น ทางเดินหายใจ หรือหัวใจ ทำให้เต้นผิดปกติ และเสียชีวิตได้ จึงขอฝากเตือนทั้งหญิงและชายว่า ให้ดูว่าผลิตภัณฑ์แม้จะมี อย. ก็ตาม แต่หากระบุว่าลดน้ำหนักได้ มักจะมีเคมีภัณฑ์แอบแฝงอยู่ องค์การอาหารและยาเองก็ประกาศให้ดูตัวผลิตภัณฑ์ที่บางครั้งไม่มีตัวหนังสือภาษาไทย เพราะนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะยิ่งมีปัญหามากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกลูตาไธโอนที่ทำเป็นอาหารเสริมชนิดเม็ด บางคนรับประทานมากกว่า 1 เม็ด ซึ่งการรับมากกว่า 1 เม็ด จะมีผลต่อตับและไตที่ต้องขจัดเคมีภัณฑ์ออกจากร่างกาย จะทำให้ตับไตวายหรือตับแข็งได้ ซึ่งอันตรายมาก"

สำหรับผู้ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีสารเคมีปนเปื้อนหรือเจือปน มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นยาจะมีโทษตาม พ.ร.บ.ยา 2510 จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้รับจ้างฉีดจะมีโทษตามวิชาชีพพยาบาล ซึ่งตามปกติพยาบาลจะทำการฉีดยาได้ต้องมีใบสั่งแพทย์ ไม่ใช่รับจ้างฉีดทั่วไป

วันเดียวกันนี้ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวการพัฒนานวัตกรรมใหม่ "การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด"

รศ.นพ.โศภณ กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้คิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ คือ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Trancatheter Aortic Valve Implantation : TAVI) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงจากการผ่าตัด โดยผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็ว นับเป็นการคิดค้นนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วย และพัฒนานวัตกรรมควบคู่กับการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซับซ้อนให้กลับมามีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาดังกล่าวราคาค่อนข้างสูง และยังไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนใดรองรับ โดยราคาลิ้นหัวใจชนิดคอร์ วาล์ว และเซเปียน วาล์ว ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท ทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาจำกัด ซึ่งปัจจุบันได้มีการใช้ลิ้นหัวใจชนิดไฮดราที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย คาดว่ามีราคาถูกกว่าประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม หากบรรจุเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในสิทธิประโยชน์ ก็น่าจะช่วยผู้ป่วยได้มาก ส่วนขณะนี้ รพ.จุฬาลงกรณ์ ให้การรักษาด้วยวิธีนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยใช้เงินบริจาคของโรงพยาบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น