xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปตามแนวพุทธ : ตัดส่วนผิดและเพิ่มส่วนถูก

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เขียนเกี่ยวกับความคิดเห็น 62 ประการของสมณพราหมณ์ระดับเจ้าสำนักในยุคนั้น และได้เปรียบเทียบกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ค้นพบด้วยพระองค์เอง และเป็นคำสอนร่วมสมัยหรือเกิดขึ้นในยุคเดียวกัน จึงพบว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนแนวทางคือ

1. แนวทางปฏิรูป

โดยแนวทางนี้ได้ตัดส่วนที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่พระองค์ได้ค้นพบทิ้งไป และในขณะคงส่วนที่ถูกต้องไว้ ทั้งได้เพิ่มเติมความถูกต้องที่เห็นว่ายังไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ตัวอย่าง เมื่อพระองค์ได้ตอบโต้กับโสณทัณฑพราหมณ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของความเป็นพราหมณ์ ซึ่งมีที่มาปรากฏในโสณทัณฑสูตรในพระไตรปิฎกเล่ม 9 สีลขันธวัคค์ โดยมีเนื้อความโดยย่อดังนี้

“พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติกี่อย่างจึงบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ได้ และควรเรียกตัวเองได้ว่าเป็นพราหมณ์

โสณทัณฑพราหมณ์ตอบว่า 1. มีชาติคือ เกิดจากมารดา บิดา เป็นพราหมณ์สืบสายมา 7 ชั่วบรรพบุรุษ 2. ท่องจำมนต์ในพระเวทได้ 3. มีรูปงาม 4. มีศีล 5. เป็นคนฉลาดมีปัญญา

ตรัสถามว่าใน 5 อย่างนี้ ถ้าจะลดเสีย 1 เหลือ 4 พอจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ควรเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ โสณทัณฑพราหมณ์ตอบว่า ตัดข้อมีผิวพรรณดีออก

ตรัสถามว่า ถ้าจะลดเสียอีก 1 เหลือ 3 จะลดอะไร โสณทัณฑพราหมณ์ลดข้อท่องจำมนต์

ตรัสถามว่า ถ้าจะลดเสียอีก 1 เหลือ 2 จะลดอะไร

โสณทัณฑพราหมณ์ลดข้อเกี่ยวกับชาติคือ การเกิดจากมารดา บิดาเป็นพราหมณ์

พอลดข้อนี้ พวกพราหมณ์ที่มาด้วยก็ช่วยกันขอร้องว่าอย่ากล่าวอย่างนั้น เพราะเป็นการกระทบผิวพรรณ กระทบมนต์ กระทบชาติ จะเสียทีแก่พระสมณโคดม

โสณทัณฑพราหมณ์ก็ตอบโต้ว่า หลานของตนเองคือ อังคกมาณพที่นั่งอยู่ในที่ประชุมนี้ มีผิวพรรณดี ท่องจำมนต์ได้ เกิดจากมารดา บิดาทั้งสองฝ่ายซึ่งเป็นพราหมณ์สืบต่อกันมา 7 ชั่วบรรพบุรุษ แต่ก็ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา ผิวพรรณมนต์ชาติจะทำอะไรได้ เมื่อใดพราหมณ์เป็นผู้มีศีล มีปัญญารวม 2 คุณสมบัตินี้ จึงควรบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์และควรเรียกตัวเองว่าเป็นพราหมณ์

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ถ้าจะลดเสียอีก 1 เหลือ 1 พอจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ควรเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลว่า ลดไม่ได้เพราะศีลชำระปัญญา ปัญญาชำระศีล ในที่ใดมีศีล ในที่นั้นมีปัญญา ในที่ใดมีปัญญา ในที่นั้นมีศีล เปรียบเหมือนใช้มือล้างมือ ใช้เท้าล้างเท้า ศีลกับปัญญาก็ชำระกันและกันฉันนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองภาษิตของโสณทัณฑพราหมณ์ว่าถูกต้อง แล้วตรัสถามต่อไปว่า ศีลเป็นอย่างไร ปัญญาเป็นอย่างไร โสณทัณฑพราหมณ์จึงกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบาย

พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสถึงการที่บุคคลเลื่อมใสในพระองค์ ออกบวช ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล 3 ชั้นคือ จูฬศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล (รายละเอียดดูในสามัญญผลสูตร) บำเพ็ญสมาธิจนได้บรรลุฌานที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และได้วิชา 8 มีวิปัสสนาญาณเป็นเบื้องต้น และมีอาสวักขยญาณเป็นที่สุด

จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าได้ตัดส่วนที่ถูกต้องทิ้งไป และคงส่วนที่ถูกต้องไว้ทั้งได้เพิ่มเติมให้ถูกต้องยิ่งขึ้นด้วย

2. แนวทางปฏิวัติ

โดยแนวทางนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิเสธคำสอนที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมีมาก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้และเป็นสิ่งที่เคยทดลองปฏิบัติมาแล้ว แต่ไม่ทำให้พ้นทุกข์ได้ และได้เสนอสิ่งใหม่ที่พระองค์ค้นพบ และพิสูจน์แล้วว่าทำให้พ้นทุกข์ได้จริง ดังจะเห็นเป็นตัวอย่างในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเริ่มต้นด้วยการปฏิเสธแนวทางสุดโต่ง 2 ทางเนื่องจากพบว่าไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้ 2 แนวทางที่ว่านี้ก็คือ

1. กามสุขัลลิกานุโยค อันได้แก่ การทำตนให้หมกมุ่นในกาม ซึ่งในยุคนั้นมีสมณพราหมณ์บางพวกเชื่อว่า การเพียบพร้อมด้วยกามคุณ 5 เป็นนิพพานอย่างยอดในปัจจุบัน

2. อัตตกิลมถานุโยค อันได้แก่ การทำตนให้ลำบากหรือการทรมานตน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้หลุดพ้นจากกิเลส เช่น เปลือยกายนุ่งลมห่มฟ้า ยืนขาเดียว เป็นต้น

หลังจากได้ทรงปฏิเสธแนวทางเดิมแล้ว ก็ได้เสนอแนวทางใหม่ซึ่งพระองค์ได้ค้นพบและพิสูจน์แล้วว่า ทำให้พ้นทุกข์ได้ แนวทางที่ว่านี้ก็คือ อริยสัจ 4 อันได้แก่

1. ทุกข์ 2. สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ 3. นิโรธ การดับทุกข์ 4. มรรค มีองค์ 8 อันเป็นแนวทางไปสู่ความดับทุกข์

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าเริ่มด้วยการปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ก่อนเมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยชี้ให้เห็นความล้มเหลวของแนวทางเดิม และเสนอแนวทางใหม่ซึ่งพระองค์ทดลองและบรรลุผลสำเร็จมาแล้ว

ดังนั้น แนวทางการสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสองแนวทางดังกล่าวมา จึงน่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่ คสช.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. การศึกษา

2. เศรษฐกิจ

3. ความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน

4. การเมือง

ทั้ง 4 ด้านนี้ ถ้ามองทั้งระบบเป็นเรื่องใหญ่ คงไม่อาจดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเป็นที่พอใจของประชาชนซึ่งมีความคาดหวังสูงในระยะเวลาสั้น 1 ปีหรือ 2 ปีได้ แต่ผู้ที่เข้ามารับผิดชอบในประเทศ ก็ต้องทำถึงจะไม่ได้ทั้งหมดก็ขอให้ทำให้ส่วนของการวางพื้นฐานให้รัฐบาลในยุคต่อไปสานต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการที่ต้องใช้เวลานาน และใช้เงินจำนวนมาก

ดังนั้น ในขั้นนี้สิ่งแรกที่ควรจะต้องทำคือการวางขั้นตอนในแต่ละด้านเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ศึกษาทบทวนงานซึ่งทำมาก่อนหน้านี้ เพื่อจะค้นหาว่ามีอุปสรรค และปัญหาใดบ้างที่ทำให้งานไม่ก้าวหน้าหรือก้าวหน้าไปได้ช้า

2. จัดทำรูปแบบและวิธีการในการปรับปรุงแก้ไข รวมไปถึงมาตรการป้องกันมิให้อุปสรรค และปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเกิดขึ้นอีก

3. ลงมือทำในส่วนที่ทำได้ในทันที และสามารถเห็นผลในระยะสั้นภายในเวลาอันจำกัด เริ่มต้นและปูพื้นให้รัฐบาลต่อไปเข้ามาทำต่อเพื่อให้เป็นไปตามแผน

4. จัดทำรูปแบบการประเมินผล รวมไปถึงแนวทางแก้ปัญหาอันอาจเกิดขึ้นในอนาคต และทำให้งานมิได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น