xs
xsm
sm
md
lg

"อดุลย์"ตั้งทีมจัดระเบียบสื่อ ห้ามตีข่าวยุยง-ให้ร้ายคสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (25 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ ครั้งที่ 1/2557 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมรับทราบคำสั่ง คสช. (เฉพาะ) ที่ 12/2557 ลงวันที่ 19 มิ.ย.57 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งมีหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษเป็นประธาน โดยคณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองติดตาม ตรวจสอบ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีการบิดเบือน ยุยง ปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ อีกทั้งระงับ ยับยั้ง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ อันเป็นเท็จ หรือส่อไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน และสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆ ให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ และการดำเนินการของคสช. รวมทั้งเชิญบุคคล ผู้แทนหน่วยงาน ส่วนราชการ ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ตามความเหมาะสม ประการสำคัญจัดให้มีคณะทำงาน เพื่อติดตาม รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ทั้งภายในและภายนอกประเทศ จากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุโทรทัศน์ เพื่อสรุปประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้ คสช. รับทราบเป็นประจำทุกวัน และหากมีข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของ คสช. ให้รายงานข้อมูลข่าวสาร ต่อหัวหน้า คสช. ทราบทันที
ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ การจัดโครงสร้างคณะทำงาน เพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะ จำนวน 5 คณะ ได้แก่ 1. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลสื่อวิทยุ 2. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลสื่อโทรทัศน์ มีเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธาน 3. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสื่อสิ่งพิมพ์ มีผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลเป็นประธาน 4. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สื่อสังคมออนไลน์ Social Media มีปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นประธาน และคณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านต่างประเทศ มีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานคณะทำงาน

นายนายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถีงกรณีที่คสช. ตั้งคณะทำงานออกเป็น 5 ฝ่าย เพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ว่า สมาคมนักข่าวฯ รู้สึกเป็นกังวล และไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งกับกับท่าทีดังกล่าว แม้จะเห็นว่าหน่วยงานของรัฐ มีสิทธิในการติดตามการรายงานข่าวสารจากสื่อมวลชนก็ตาม แต่ถ้ามีแนวทางปฏิบัตที่ไม่ชัดเจน อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน กระทบ และเป็นอุปสรรคกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้ และขอเรียกร้องให้คณะทำงานดังกล่าว มีท่าทีที่ชัดเจนในการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
นอกจากนี้ ทางสมาคมนักข่าวฯ รู้สึกไม่สบายใจ ต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง จากกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ทหาร เดินทางไปที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ในเช้าวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมก้บแจ้งให้ทราบว่า กองทัพได้ทำหนังสือเวียนแจ้งมา ไม่ให้เสนอข่าวการเคลื่อนไหวของนักการเมืองบางคน และขอให้กองบรรณาธิการไม่เสนอข่าวดังกล่าวอีกต่อไป โดยทหารบอกว่า จะเตือนไปทุกกองบรรณาธิการ เพื่อไม่ให้เสนอข่าวนี้อีกเช่นกัน
ทั้งนี้กองบรรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวยังไม่เคยได้รับหนังสือเวียนแต่อย่างใด มีเพียงการโทรศัพท์เข้ามาเท่านั้น
นายมานพ กล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯ ขอยืนยันในหลักสิทธิขั้นพื้นฐาน ในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรม และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างหนักแน่น และขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทุกท่านได้ตระหนักถึงสิทธิ และเสรีภาพที่มีอยู่ และใช้สิทธิและเสรีภาพนั้นอย่างรับผิดชอบต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม
สมาคนักข่าวฯ จึงจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม ในวันนี้ (26 ม.ย.) เวลา 09.30 น. เพื่อปรึกษาหารือกันว่าควรจะมีท่าทีต่อกรณีนี้อย่างไรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น