xs
xsm
sm
md
lg

24 มิถุนาล้างอาถรรพณ์ รังสรรค์ราชประชาสมาสัย

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ตอนที่ผมเกิด เพลงแรกที่ผมรู้จัก นอกจากเพลงกล่อมเด็ก ก็คือเพลงชาติไทยที่มีชื่อว่า “24 มิถุนา” ผมจึงจำเพลงนั้นได้ขึ้นใจจนถึงทุกวันนี้

ระลึกถึงเพลงนั้นคราใด ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าคนไทย ชนชั้นปกครองของไทยและระบบการศึกษาของเราช่างโกหกสับปลับเสียจริงๆ จนป่านนี้ประเทศไทยยังไม่เคยได้ลิ้มรสประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างแท้จริงเลย

เรามีแต่เผด็จการอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นประมุขของประเทศมิใช่ประมุขของเผด็จการ แต่ต่างประเทศไม่เข้าใจจึงเขียนบทความโจมตีพระองค์ท่านอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ สัปดาห์ที่แล้วก็มีบทความสำคัญออกมาอีก 2 ชิ้น คสช.น่าจะต้องอ่านและทำความเข้าใจว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง และจะเต็มใจปกป้องจอมทัพของตนหรือไม่ หรือว่าจะปล่อยเลยตามเลยเหมือนกับทหารทุกรุ่นในอดีตที่ไม่เคยรักษาคำปฏิญญาต่อพระมหากษัตริย์และบ้านเมืองเลย

ข้อหาของฝรั่งซึ่งต่างกับความจริงราวฟ้ากับดินก็คือ กว่า 60 ปีที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทำลายประชาธิปไตยและรังแกประชาชน นักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยที่บูชาตำราฝรั่งก็พากันเผยแพร่ความเท็จข้อนี้มาตลอด

ผมฟังเพลง 24 มิถุนาพร้อมกับคำว่าสิทธิเสรี อารยประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นึกถึงคนไทยเกือบทั้งหมดที่ไปฟังสวดอภิธรรมศพที่ต่างก็ยกมือสาธุโดยไม่เข้าใจภาษาและไม่รู้ว่าพระเทศน์ว่าอย่างไรเลย และบางทีพระที่เทศน์หลายองค์ก็อาจจะเหมือนกัน

เรื่องนี้คงไม่ต่างอะไรกับที่ผู้นำเหล่าทัพพากันพล่ามว่า “ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง” ในที่สุดการเมืองไทยก็ต้องแก้ด้วยการปฏิวัติยึดอำนาจนับไม่ถ้วนครั้ง ฉีกและเขียนรัฐธรรมนูญอีกนับไม่ถ้วนฉบับ แต่ละฉบับก็เพิ่มความยาวและความทุเรศมากขึ้นทุกที ผมภาวนาว่าครั้งนี้ขออย่าให้เป็นเช่นเดิมเลย

และขออย่าให้มีเพลง “22 พฤษภาคม มหาศรีสวัสดิ์ ปัจฉิมฤกษ์ขอรัฐธรรมนูญของไทย เริ่มระบอบแบบอารยประชาธิปไตย เพื่อราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี”

ผมขอให้ราษฎรไทยรวมทั้งองค์พระประมุขได้มีสิทธิเสรีในการกำหนดอนาคตของประเทศไทยร่วมกับ คสช.เสียตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องรอฤกษ์ยามใดๆ ด้วยเถิด

ขอให้ 24 มิถุนายน 2557 นี้ได้ช่วยล้างอาถรรพณ์ 24 มิถุนายน 2475 และเริ่มรังสรรค์ราชประชาสมาสัยตามพระราชปณิธานของพระเจ้าอยู่หัวด้วยกันเถิด

การที่ 24 มิถุนายน 2475 ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ เป็นอาถรรพณ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนับได้ 82 ปีเต็มๆ ก็เพราะคณะราษฎร์ไม่ไว้ใจและกีดกันอำนาจตามครรลองประชาธิปไตยของสถาบันกษัตริย์ และกีดกันการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนในกระบวนการประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญของประเทศไทยทุกฉบับจึงไม่มีฉบับใดเป็นประชาธิปไตย แต่กลับเป็นเครื่องมือให้ชนชั้นปกครองยึดอำนาจการปกครองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เปิดโอกาสให้พระมหากษัตริย์ได้ “ครองแผ่นดิน” เพื่อเป็นที่อาศัยของปวงราษฎรอย่างแท้จริง พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ก็จบลงด้วยการยืนยันความจริงข้อนี้

และในขณะเดียวกันก็กีดกันมิให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุเคราะห์ปกป้องพระเจ้าแผ่นดินของเขาตามหลัก “ราชประชาสมาสัย” ได้

“ราชประชาสมาสัย” ซึ่งเป็นคำที่ในหลวงทรงบัญญัติและให้คำนิยาม “มีความหมายว่าพระมหากษัตริย์กับประชาชนอาศัยซึ่งกันและกัน” ได้ถูกใส่ร้ายทำความเข้าใจผิดว่าจะเป็นการรื้อฟื้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์บ้าง เป็นอุบายที่จะให้ในหลวงทรงตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางบ้างเป็นเรื่องเหลวใหลทั้งเพ

ชนชั้นปกครองไทยได้ประดิษฐ์วาทกรรมทางการเมืองขึ้นมาว่า “พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง” บ้าง “อย่าให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท” บ้าง “พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” บ้าง ทั้งหมดนี้เป็นมายาคติที่จะอำนวยความสะดวกให้กับอำนาจของชนชั้นปกครอง หรือแม้กระทั่งความมักง่ายหรือเห็นแก่ได้ของข้าราชบริพารชั้นสูง ผมได้อธิบายเรื่องทั้งหมดนี้ไว้ต่างหากหลายครั้งหลายหนแล้ว จะไม่กล่าวซ้ำอีก

ผมจะขอยกตัวอย่างราชประชาสมาสัยของอังกฤษ พร้อมกับข้อเสนอว่าหากพระมหากษัตริย์ไทยมีพระราชอำนาจเพียงหนึ่งในสามของกษัตริย์อังกฤษเท่านั้น นั่นก็คือพระราชอำนาจทั่วไป ประชาธิปไตยไทยก็มีโอกาส

เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภเองว่า “ก็มีประเพณีเป็นที่ยอมรับกันในนานาประเทศแล้วมิใช่หรือว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้นน่ะสัมพันธ์กับรัฐบาลตามที่ได้ย่อไว้อย่างสั้นเป็นภาษาอังกฤษว่า “To Advise and be Advised” หมายความว่ารัฐบาลมีหน้าที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายรายงานเป็นประจำถึงสถานะโดยทั่วๆ ไปและเหตุการณ์ที่สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น ในอังกฤษ นายกฯ ของเขาจะต้องฯ พระราชินีของเขาทุกวันศุกร์ เพื่อถวายรายงาน และไม่ว่าพระราชินีจะเสด็จฯ ไปไหน ในประเทศอังกฤษเองหรือต่างประเทศ ก็จะต้องมีที่เรียกว่า กระเป๋าดำตามไปตลอดเวลา ซึ่งรายงานสถานการณ์บ้านเมืองและรายงานข้อสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ในทางกลับกัน ถ้าหากรัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระราชทานคำปรึกษาหรือถ้าทรงเห็นว่าพระองค์ควรจะพระราชทานคำปรึกษาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติและทุกข์สุขของราษฎรไม่ว่าในเรื่องใด พระมหากษัตริย์ก็จำเป็นต้องพระราชทานคำปรึกษานั้นให้กับรัฐบาล”

ซึ่งผมได้นำมาอภิปรายเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

“ ถึงแม้ว่าเราจะเดาผิดหรือถูกก็ตาม เรามาช่วยกันคิดต่อดีไหมว่า การที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีต้องถวายรายงานสถานะโดยทั่วๆ ไป และเหตุการณ์ที่สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศเป็นประจำต่อพระมหากษัตริย์นั้นดีหรือไม่ สมควรหรือไม่สมควรกระทำอย่างไร

เรื่องนี้ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นต้นตำรับไม่มีใครบอกว่าไม่ดี แต่มีผู้ที่เกี่ยวข้องบ่นเหมือนกัน เช่น นายกรัฐมนตรีบางคนบ่นว่าบางครั้งก็อาจก่อความไม่สะดวก กินเวลา (ไม่ถึงกับใช้คำว่าเสียเวลา) ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจอย่างอื่นที่สำคัญได้

แต่พระมหากษัตริย์ หรือที่จริง พระบรมราชินีเอลิซาเบธ ไม่เคยทรงบ่นเลย ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็น พระราชภารกิจหรือพูดอีกทีก็ได้ว่าเป็นพระราชอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ พระนางเจ้าได้พบนายกรัฐมนตรีอังกฤษในกรณีเช่นนี้ทุกสัปดาห์มาแล้ว 11 คน นับตั้งแต่วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill 1951-55) เป็นต้นมา จนถึงคนปัจจุบันคือ กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown from 2007)

นี่คือตัวอย่างของพระราชอำนาจประเภทหนึ่งของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย พระราชอำนาจประเภทนี้เรียกว่า พระราชอำนาจทั่วไป ซึ่งนอกจาก Advise กับ Be Advised แล้ว ยังรวมถึงการให้กำลังใจ (Encourage) และเตือน (Warn) รัฐบาลผ่านนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

การใช้พระราชอำนาจทั่วไป ด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานและข้อราชการทุกเย็นวันอังคารนี้ เป็นกลไกหรือจารีตประเพณีอย่างหนึ่งที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ และเป็นหลักประกันให้พระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของประเทศและผู้แทนประจำของปวงชน สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองอย่างแท้จริง มิใช่ดังที่พรรคการเมืองหนึ่งซึ่งเป็นผู้เหมาโอนพรรคพลังประชาชนมาถูกกล่าวหา ว่ามีแผนจะจำกัดให้พระมหากษัตริย์ มีส่วนร่วมแต่ในนามหรือสัญลักษณ์แต่อย่างเดียว โดยหาได้คำนึงไม่ว่า รัฐบาลเป็นเพียงผู้แทนชั่วคราวของปวงชนเท่านั้น

ท่านผู้อ่านคงจะมองเห็นประโยชน์ของการเข้าเฝ้าฯ หรือพระราชอำนาจทั่วไปซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงใช้เป็นประจำทุกสัปดาห์เช่นนี้ว่าจะเป็นการป้องกันมิให้รัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ผิดนอกลู่นอกทาง รัฐบาลจะต้องบริหารราชการด้วยหลักการและความระมัดระวังรอบคอบ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทหรือเหิมเกริม ป้องกันความขัดแย้งหรือวิกฤตทางการเมืองหรือแม้กระทั่งการเปิดอภิปรายที่ไม่จำเป็น เพราะทั้งฝ่ายค้านและประชาชนย่อมจะนอนใจได้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงรับรู้ (Be Advised) และคุ้มครองประเทศชาติและประชาชนได้”

ผมเคยเขียนมาหลายครั้งแล้วว่า พระราชอำนาจของในหลวงถูกเบียดบัง มิดเม้ม ฉ้อโกง โดยระบบการเมืองและนักการเมืองไทยมาเป็นเวลายาวนาน โดยเทคนิคการเขียนรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมทั้งการเผยแพร่ทฤษฎีผิดๆ ว่า ในหลวงทรงอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ทรงเป็นกลางและต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ว่าโดยประการใดๆ ในกรณีเช่นนี้นักการเมือง นักกฎหมาย และนักวิชาการไทยปกปิดบิดเบือน เชือนเฉย จารีตประชาธิปไตยของอังกฤษที่ผมเล่ามาข้างต้นนี้ ผมมีข้อสังเกต 3 ประการ

1. ผมเห็นด้วยคำอธิบายของอดีตรองราชเลขาธิการท่านหนึ่ง ซึ่งผมแน่ใจว่าท่านได้ฟังมาจากราชาธิบายของในหลวงดังนี้ “การที่พูดกันอยู่ทั่วไปว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองนั้น ผมว่าต้องเข้าใจคำว่าการเมืองกันให้ถ่องแท้กันเสียก่อนนะครับ ถ้าการเมืองหมายถึงระบบการปกครองโดยทั่วๆ ไป อันหมายถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศโดยทั่วไป และการดำเนินการเพื่อการปกครองคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน ก็จะพูดว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองไม่ได้ มิฉะนั้น ก็หมดความหมายครับ พระมหากษัตริย์จะทำอะไร จะมีไว้ทำไม”

2. นายกรัฐมนตรีของเราฯ ในหลวงอย่างเป็นระบบที่ไม่เป็นระบบ กล่าวคือ แต่ละนายกรัฐมนตรีจะฯ ถี่หรือห่างตามแต่สถานการณ์และการตัดสินใจของนายกฯ แต่ละคน ถ้าอยากจะฯ หรือมีเหตุจะขอฯ ก็ถวายคำขอผ่านราชเลขาธิการเป็นครั้งๆ ไปซึ่งบางครั้งก็ต้องยอมรับว่าไม่สะดวกเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท หากนายกฯ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ไปเล่นกอล์ฟผ่านมาก็ขอเข้าเฝ้าฯ หรือบัญชีแต่งตั้งทหารไม่ได้ดั่งใจก็จะขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อขอให้ลงพระปรมาภิไธย เป็นต้น ผมทราบจากการไต่ถามว่านายกฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันมีพฤติกรรม และจำนวนถี่ห่างของการเข้าเฝ้าฯ เป็นอย่างไร เกิดประโยชน์หรือไม่ และสรุปได้ว่า ของเรายังไม่สอดคล้องกับจารีตประชาธิปไตย และไม่เกิดประโยชน์สมบูรณ์ดังเช่นการเข้าเฝ้าฯ ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

3. ผมเคยเสนอให้นายกฯ หลายท่านสร้างจารีตประเพณีการเข้าเฝ้าฯ ให้เป็นระบบ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตย และให้ในหลวงทรงมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ปรากฏว่าไม่มีใครใจถึงสักคน (ความจริงใจดำต่างหาก) บ้างก็อ้างว่าไม่อยากรบกวนฯ บ้างก็ว่า ในหลวงทรงแนะนำและเตือนได้อยู่แล้วในพระราชดำรัสประจำปี ทรงมีส่วนร่วมอยู่แล้วในโครงการพระราชดำริ หรือทรงแนะนำเรื่องป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น ผมว่านี่ล้วนแต่เป็นข้อแก้ตัว ปล่อยให้ในหลวงถูกนำไปแอบอ้างโดยนักการเมืองและข้าราชการประจำอยู่บ่อยๆ แม้กระทั่งการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก็ยังมีการสอดไส้แอบแฝงและไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน แล้วเอาพระปรมาภิไธยมาเป็นข้ออ้าง เป็นต้น

ในโอกาสที่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เวียนมาถึงเป็นปีที่ 82 ในวันนี้ เป็นโอกาสที่ไทยจะมีราชประชาสมาสัยเพียงข้างต้น หากจะไม่ฟังเสียงราษฎรอย่างผมหรือคนอื่นๆ มากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม อย่างน้อยบุคคลสำคัญที่จะทำให้ราชประชาสมาสัยเกิดขึ้นได้ก็คือ หัวหน้า คสช. ประธานองคมนตรี และราชเลขาธิการ หากท่านทั้งสามนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ จนเป็นประเพณีตามประชาธิปไตยของอังกฤษ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็จะเริ่มนับหนึ่งได้ทันที

ผมใคร่ฝากความหวังนี้ไว้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น