xs
xsm
sm
md
lg

นกแอร์ทุ่ม4.75หมื่นล้านซื้อโบอิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-นกแอร์ลงทุนกว่า 4.75 หมื่นล้านบาท ยืนยันคำสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง Next - Generation 737 -800 และโบอื้ง 737 MAX 8s รวม 15 ลำเป็นสายการบินแรกในไทย วางแผนทยอยรับมอบตั้งแต่ปี 58-62 ด้านโบอิ้งเผย737 MAX ประหยัดเชื้อเพลิงลงจากเดิม 14% ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานรวมของสายการบินได้ 8% เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี
นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ยืนยันคำสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง Next-Generation 737-800 จำนวน 8 ลำ และโบอื้ง 737 MAX 8s จำนวน 7 ลำ มูลค่า 1,450 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 47,560 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 32.8 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ) ซี่งบริษัทและโบอิ้งได้บรรลุข้อตกลงนี้เมื่อเดือนก.พ.2557 ในงานสิงคโปร์ แอร์
โดยนกแอร์เป็นสายการบินแรกในประเทศไทยที่ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ซึ่งตามแผนนกแอร์ จะทยอยรับมอบโบอิ้ง Next 737-800 ลำแรก ในเดือนส.ค.2558 และครบ 7 ลำ ในปี 2560 และเริ่มทยอยรับมอบโบอิ้ง 737 MAX 8s ตั้งแต่ปี 2561-2562
ฝูงบินในปัจจุบันของนกแอร์ มีเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 15 ลำ และเครื่องบิน ATR 72-500 จำนวน 2 ลำ และตามแผนขยายฝูงบิน นอกจากคำสั่งซื้อโบอิ้ง Next และโบอื้ง 737 MAX รวม 15 ลำแล้ว ยังสั่งเครื่องบินบอมบาร์ดิเอร์ Q400 NextGen จำนวน 6 ลำ ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การพัฒนาฝูงบินและรักษาประสิทธิภาพในการดำเนินงานของนกแอร์ โดยเฉพาะการประหยัดเชื้อเพลิงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายคริสโตเฟอร์ เจ.ฟลินท์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลน กล่าวว่า โบอิ้งได้พัฒนาเครื่องบินรุ่น N G 737 และโบอิ้ง 737 MAX ให้สามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้ถึง 14% เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะทางเสียงได้ 40% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 14% ซึ่งจะช่วยให้สายการบินประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก ซึ่งนกแอร์เป็นลูกค้ารายที่ 40 ของโบอิ้ง 737 MAX จะช่วยทำให้สายการบินประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มากโดยจะลดต้นทุนการดำเนินงานรวมได้ 8% เมื่อเทียบกับเครื่องบินประเภทเดียวกัน และเชื่อว่า จะทำใหัลูกค้าของนกแอร์ประทับใจในบริการ
ปัจจุบัน โบอิ้งมีคำสั่งซื้อรุ่น 737 MAX แล้วจำนวน 2,017 ลำ จากลูกค้า 40 ราย โดยถือเป็นเครื่องบินรุ่นที่มีเทคโนโลยีเครื่องยนต์ทันสมัย และได้รับความนิยมสูงครองส่วนแบ่งการตลาดสำหรับเครื่องบินแบบทางเดินเดียวถึง 50% โดยมีศักยภาพในการผลิตได้ 42 ลำต่อเดือนและจะเพิ่มเป็น 47 ลำต่อเดือน ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ตลาดการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตสูง โดยประเมินว่าในรอบ 20 ปีจะเติบโตถึง 6.7% ดังนั้นจะมีความต้องการเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น