xs
xsm
sm
md
lg

การเคารพกฎหมายคือรากเหง้าของความมีศีลธรรม

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

พาดหัวข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับวันที่ 9-12 มีนาคม พ.ศ. 2557 ว่า ล้างหนี้ชาวนาแสนราย “2 มุม คดีข้าว” ‘ยิ่งลักษณ์’ มีข้อความตรงกลางหน้ากระดาษของ ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กล่าวว่า “จงเคารพกฎหมายเถอะ อย่าเคารพคนเลย เพราะกฎหมายเป็นกลาง” และข้อความของพิชิต ชื่นบาน อยู่ในกรอบภาพเดียวกัน กล่าวว่า “ถ้ากฎหมายเป็นกฎหมาย ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ควรรับผิดเรื่องนี้เลย” ทำให้ย้อนระลึกไปถึงข้อมูลสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งกล่าวถึงเหตุผลในการบัญญัติพระวินัย ซึ่งถือเป็นกฎหมายหรือข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในหมู่สงฆ์อันเป็นที่ยอมรับว่า บทบัญญัติ ข้อบังคับ หรือข้อกำหนดต่างๆ นั้นพระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงประโยชน์ในการบัญญัติวินัยแก่พระสงฆ์ หรือหมู่คณะ

การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ (หมู่สงฆ์) การบัญญัติวินัย ซึ่งถือเป็นข้อตกลงหรือกฎหมายของสงฆ์ มีเหตุผลในการบัญญัติพระวินัยขึ้นด้วยประโยชน์ดังนี้

ประโยชน์ส่วนแรก ในการเคารพพระวินัยหรือกฎหมาย ได้รับอานิสงส์ต่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ดังนี้

1. เพื่อความสงบเรียบร้อยแห่งหมู่คณะ (สังฆะสุฏฐุตายะ) การเคารพกฎหมาย (พระวินัย) เป็นประโยชน์เพื่อความเรียบร้อยแก่ส่วนรวม ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบในกฎหมายนั้นร่วมกัน

2. เพื่อความผาสุกแห่งหมู่คณะ (สังฆะผาสุตายะ) การเคารพกฎหมาย (พระวินัย) เป็นประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม

ประโยชน์ส่วนที่สอง ในการเคารพพระวินัยหรือกฎหมาย ได้รับอานิสงส์ต่อประโยชน์แก่บุคคล ดังนี้

3. เพื่อกำราบผู้ทำผิด (ทุมมังกูนัง ปุคคลานัง นิคคหายะ) การเคารพกฎหมาย (พระวินัย) เป็นประโยชน์แก่บุคคลในการกำราบผู้ทำความผิด บุคคลหน้าด้าน และบุคคลผู้ประพฤติเลวทราม

4. เพื่อความสุขของผู้มีศีลธรรมดีงาม (เปสลานัง ภิกขูนัง ผาสุวิหารยะ) การเคารพกฎหมาย (พระวินัย) เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้มีศีลธรรมดีงาม ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ประโยชน์ส่วนที่สาม ในการเคารพพระวินัยหรือกฎหมาย ได้รับอานิสงส์ต่อประโยชน์แก่ชีวิต ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนี้

5. เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมิกานัง อาสวนัง สังวรายะ) การเคารพกฎหมาย (พระวินัย) เป็นประโยชน์ต่อความบริสุทธิ์แก่ชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจ ในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปิดกั้นความเสี่ยง ความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน

6. เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (สัมปรายิกานัง อาสวานัง ปฏิฆาตายะ) การเคารพกฎหมาย (พระวินัย) เป็นประโยชน์ต่อความบริสุทธิ์แก่ชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจ ในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปิดกั้นความเสี่ยง ความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ประโยชน์ส่วนที่สี่ ในการเคารพพระวินัยหรือกฎหมาย ได้รับอานิสงส์ต่อประชาชน ดังนี้

7. เพื่อสร้างความศรัทธาเชื่อมั่นต่อผู้อื่นที่ยังไม่ศรัทธาเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น (อัปปสันนานัง ปสาทายะ) การเคารพกฎหมาย (พระวินัย) เป็นการสร้างความศรัทธา เชื่อมั่นและเลื่อมใสให้แก่ผู้อื่น ที่มีต่อชุมชนซึ่งมีความเคารพในกฎหมาย กล่าวคือสร้างความประทับใจแก่ผู้คนต่างถิ่น ต่างแดน เมื่อพบชุมชนที่เคารพกฎหมาย

8. เพื่อสร้างความศรัทธา เชื่อมั่นต่อผู้อื่นที่ศรัทธาเชื่อมั่นอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้น (ปสันนานัง ภิยโยภาวายะ) การเคารพกฎหมาย (พระวินัย) เป็นการส่งเสริมให้เกิดความศรัทธา เชื่อมั่นและเลื่อมใสให้แก่ผู้อื่นที่มีความเชื่อมั่นต่อชุมชนซึ่งมีความเคารพในกฎหมายให้สูงขึ้นอีก

ประโยชน์ส่วนที่ห้า ในการเคารพพระวินัยหรือกฎหมาย ได้รับอานิสงส์ต่อพระศาสนา ดังนี้

9. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม (สัทธัมมัฏฐิติยา) การเคารพกฎหมาย (พระวินัย) เป็นประโยชน์ต่อการค้ำจุนพระสัทธรรมในศาสนา กล่าวคือ ถ้ามีการเคารพกฎหมาย ทำให้เอื้อต่อการรักษาคำสอนทางศาสนาไว้ด้วย

10. เพื่ออนุเคราะห์วินัย (วินยานุคคหายะ) การเคารพกฎหมาย (พระวินัย) เป็นประโยชน์ต่อการทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ หนักแน่นมั่นคง ทำให้กฎหมายดำรงอยู่ได้อย่างเป็นกลาง กล่าวคือถ้ามีการเคารพกฎหมาย จะทำให้กฎหมาย มีความหนักแน่นและศักดิ์สิทธิ์

จากการนำเสนอวัตถุประสงค์ในการบัญญัติพระวินัย 10 ประการ ซึ่งเป็นเหตุผลอันเป็นประโยชน์ในการบัญญัติกฎหมาย (พระวินัย-ข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน) ของพระสงฆ์ดังกล่าว ทำให้ทราบว่าการบัญญัติพระวินัยหรือกฎหมาย เป็นไปเพื่อความเรียบร้อย ความสงบสุขต่อบุคคล สังคม ส่วนรวมและพระศาสนา

ทุกวันนี้ สังคมไทยมีกฎหมายมากมายหลากหลาย ซับซ้อนและละเอียด สืบเนื่องจากความซับซ้อนทางสังคมและพฤติกรรมของบุคคลอันเป็นผลจากความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจที่ซับซ้อน และยิ่งโลกมีความซับซ้อนเท่าใด กฎหมายย่อมวิวัฒน์ไปตามความซับซ้อนนั้นเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เป็นข้อตกลงสากลคือหลักศีลธรรม ยังคงเป็นหลักการให้บุคคลยึดถือเป็นหลักคิดและเป็นมโนธรรมสำนึกภายใน เพื่อสำเหนียกว่า มนุษย์ย่อมมีความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดี ที่สามารถจำแนกและเลือกกระทำได้สิ่งให้ดี สิ่งไหนชั่ว สิ่งไหนถูก และสิ่งไหนผิด สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ หรือสิ่งไหนสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและสังคมส่วนรวม หากจะเห็นความต่างระหว่างกฎหมายกับศีลธรรม อยู่ที่กฎหมาย สามารถบังคับเอาผิดและลงโทษ แต่ศีลธรรมไม่บัญญัติโทษตายตัว แต่เป็นความรับผิดชอบชั้นสูงในความเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ เพียงปรารภฉายภาพความคิดเห็นทางกฎหมายหรือมุมมองทางกฎหมายตามเหตุการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับศีลธรรม ว่า หลักกฎหมายที่ตราขึ้น มีพื้นฐานมาจากหลักศีลธรรม ซึ่งหลักการทางศีลธรรมมีประโยชน์ในมิติต่างๆ ดังที่กล่าวไว้แล้ว และหากจะกล่าวว่า การเคารพกฎหมาย ซึ่งมีความบริสุทธิ์เป็นกลางในบุคคลใดๆ แล้ว ย่อมเท่ากับว่าบุคคลนั้น ย่อมเป็นผู้เคารพหลักศีลธรรม อันเป็นพื้นฐานแห่งมนุษยธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเสมอภาคและสงบสุขด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น