xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาตายลูกเดียว ปู แบ่งแยกจ่ายเงินไม่ครบ-ขู่ห้ามทวงหนี้ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ตามกำหนดการที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โม้เอาไว้ว่า วันที่ 17 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะเริ่มจ่ายเงินให้ชาวนา พร้อมทั้งเรียกร้องให้เลิกชุมนุม
สอดรับกับคำพูดของ "จอมโกหก" รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ยืนยันว่า เวลานี้รัฐบาลสามารถ"กู้เงิน" ย้ำว่า "กู้เงิน" จากสถาบันการเงินหลายแห่งได้แล้ว ซึ่งต่อมาก็มีการเปิดเผยกันว่า สถาบันการเงินที่ว่านั้นก็คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งแต่ละธนาคารมี "นิติกรรมอำพราง" แตกต่างกันไป
เริ่มจากสองธนาคารแรกก่อน คือ ระหว่างธนาคารออมสินกับ ธ.ก.ส. โดยธนาคารออมสินจะให้กู้แบบ "กู้ระหว่างธนาคาร" แบบมีดอกเบี้ย แต่จำนวนเงินเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ชำระคืนกี่เดือนกี่วัน ยังสบสนและปิดลับ โดยที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน เป้าหมายก็เพื่อนำไปจ่ายหนี้โครงการจำนำข้าวให้ชาวนา
ความหมายก็คือ "มีความเสี่ยงสูงมาก" เพราะคลังไม่ได้ค้ำประกัน อีกทั้งถ้าค้ำก็เสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะอยู่ในช่วงรักษการ และทั้งสองธนาคารดังกล่าว โดยเฉพาะธ.ก.ส.ก็ไม่ได้มีสถานะขาดสภาพคล่องจนมีความจำเป็นต้องกู้เงินในลักษณะนั้น และไม่ใช่หน้าที่ และนำเงินแบบนี้ออกไปใช้หนี้ แต่เป็นเพราะผู้บริหาร ทั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหารของธนาคารล้วนแต่เป็นคนของระบอบทักษิณ ก็สามารถซิกแซกทำได้ในทางลับอยู่ตลอดเวลา
หันมาทางธนาคารกรุงไทยบ้าง กรณีใช้วิธีซิกแซกปล่อยกู้อีกก้อนหนึ่งให้กับ "พ่อค้าข้าว" เพื่อให้มีเงินหมุนเวียน มีสภาพคล่องมาร่วมประมูลข้าวของรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าวิธีนี้อาจเป็นการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเก่าของธนาคาร แต่คำถามก็คือ มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใช้วิธีพิเศษในการปล่อยกู้ เพื่อนำเงินมาซื้อข้าวรัฐบาลเพื่อที่จะนำเงินไปจ่ายชาวนาอีกทอดหนึ่ง และแน่นอนว่าการ "ขายแบบนี้" มันก็ต้อง "ราคาถูกแบบพิเศษ" และ "ขาดทุนมากเป็นพิเศษ" เพราะรีบขาย
** ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความจริงว่า การขายราคาถูกแบบนี้รับรองว่าต้องมี "พ่อค้าคนกันเอง" มาซื้อไปขายต่อเอากำไร เรียกว่า "ได้ช่องโกง" กันอีกรอบ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาทั้งสองกรณีไม่ว่าจะมาในแบบที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้กับ ธ.ก.ส.แบบ "อินเตอร์แบงก์" ซึ่งวิธีนี้มีวงเงินอย่างมากก็ไม่น่าจะเกิน 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่วิธีการหลังให้ธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ให้พ่อค้าข้าวเพื่อนำเงินมาประมูลซื้อข้าวจากรัฐบาล ที่ตามข่าวบอกว่า กระทรวงพาณิชย์ ของนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ทยอยนำข้าวมาประมูลเดือน 4-5 แสนตัน หรือแม้แต่ให้ตัวเลขเว่อร์ก็ได้ ให้เดือนละ 1 ล้านตัน มันก็ถือว่าจำนวนน้อย ไม่ทันการณ์กับความเดือดร้อนของชาวนา ที่กำลังจ่อคิว "ผูกคอตาย" อีกนับสิบรายอยู่ในเวลานี้ เนื่องจากปัญหาหนี้สินที่รุมเร้า จนรัดติ้ว ดิ้นไม่ออกแล้ว
แน่นอนว่า การจ่ายเงินให้ชาวนาตามที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวให้ความหวังกับชาวนาว่า จะเริ่มจ่ายให้ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์นั้น คำถามก็คือ จะจ่ายจำนวนเงินเท่าใด และจ่ายให้ชาวนาได้กี่ราย และจ่ายให้ชาวนาพวกไหนก่อน เพราะคิดว่า เงินที่ซิกแซก "รีด" มาได้ ก็แค่หลักหมื่นล้านบาท ยังเหลือหนี้ชาวนาอีกนับแสนล้านบาท จะทำอย่างไร จะจ่ายเมื่อไหร่ เพราะในความเป็นจริงชาวนาเขารอเงินมานาน 5-6 เดือนแล้ว ให้รออีกแค่วันเดียวก็ไม่ไหวแล้ว และที่สำคัญก็คือ เงินที่จ่ายให้นั้นได้ "รวมดอกเบี้ย" ให้ด้วยหรือเปล่า
**หากกล่าวกันโดยสรุปก็คือ "จ่ายไม่ครบ" ยังค้างจ่ายอีก "บานเบอะ" เพราะยังมีชาวนาอีกนับแสนรายที่ยังไม่ได้รับเงิน ความเดือดร้อนก็จะยิ่งหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ
ที่น่าจับตาก็คือ จะมีการ "เลือกจ่าย" ให้ชาวนาบางกลุ่มที่ "เส้นใหญ่" คนกันเองก่อน จะสร้างความแตกแยกกันเอง และแม้ว่ารัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะไม่ต้องการให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เพราะเสียฐานเสียงสำคัญที่สุด แต่มันช่วยไม่ได้ ในเมื่อมันหมดทาง สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็คือ "การข่มขู่คุกคาม"ไม่ให้ชาวนากล้าหือออกมาประท้วง หรือการเข้าร่วมกับกลุ่ม กปปส. ในการขับไล่รัฐบาล เหมือนกับเวลานี้ที่รัฐบาลหุ่นเชิดกำลังระดมตำรวจเข้ามานับหมื่นนาย เข้ามาปิดล้อมศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ทางหนึ่งก็เพื่อสกัดการยกขบวนเข้ามาชุมนุมของชาวนา ที่ประกาศจะเริ่มเคลื่อนไหวใหญ่ เพื่อทวงหนี้โดยเริ่มตั้งแต่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ สำหรับกลุ่ม "เครือข่ายชาวนาไทย" และวันที่ 19 กุมภาพันธ์ สำหรับกลุ่มชาวนาในภาคเหนือและภาคอีสานหลายจังหวัด นี่แหละถึงได้ "ตาลีตาเหลือก" ต้องหากทางสกัดกั้นกันทุกทาง
แต่ถึงอย่างไรเชื่อเถอะ มันไปไม่รอดหรอก เพราะความจริงก็คือ รัฐบาล "ถังแตก" เจ๊งกับโครงการจำนำข้าวหมดแล้ว เพราะถ้าสังเกตก็คือ สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำได้ตอนนี้ก็คือหาทาง "กู้ กู้ และกู้" เท่านั้น หรืออย่างมากก็ทยอยขายข้าวออกไป ซึ่งก็ "ยิ่งขายก็ยิ่งขาดทุน" จะเหลือเงินกลับเข้าคลังได้สักกี่หมื่นล้านบาท และทุกทางก็นับวันตีบตัน เพิ่มความเสี่ยงให้ระบบการเงินของประเทศพลอยพังพินาศไปด้วย และถ้าพังคราวนี้ ฉิบหายกันถึงรากแน่นอน เพราะคราวนี้ฐานรากในชนบท โดยเฉพาะภาคเกษตร ได้พังทลายไปหมดแล้ว
**ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตาไม่กระพริบก็คือ รัฐบาลจะจ่ายเงินให้ชาวนาได้กี่ราย จำนวนเงินเท่าไหร่ และจ่ายให้กลุ่มไหนก่อน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น