xs
xsm
sm
md
lg

Anti-Politics

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

การชุมนุมกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันของคนส่วนหนึ่งไปแล้ว และก็เป็นคนส่วนใหญ่ด้วย คราวนี้มีผู้ชุมนุมทุกรุ่นหลากหลายอาชีพโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว สามารถปิดร้านมาร่วมกันได้นานๆ บางคนก็มาเช่าห้องอยู่ใกล้ๆ ที่ชุมนุมอีกหลายคนก็นอนกลางถนนเลย ตื่นเช้าขึ้นมาก็อาบน้ำและมาร่วมกันออกกำลังกาย

ปรากฏการณ์เช่นนี้บอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมือง ซึ่งในตะวันตกมักมีการศึกษาเฉพาะพฤติกรรมในการออกเสียงเลือกตั้งและพรรคการเมือง สำหรับคนไทยแล้ว คนส่วนใหญ่แอนตี้การเมือง แม้ว่าการชุมนุมจะมีลักษณะเป็นการเมืองเต็มตัวก็ตาม แต่คนมาร่วมชุมนุมก็ยังแอนตี้นักการเมือง เหตุที่คนหันมาสนับสนุนคุณสุเทพมากมายก็เพราะคุณสุเทพประกาศว่า เลิกยุ่งกับการเมือง และไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ คุณสุเทพ “นักการเมือง” กลายเป็น “กำนันสุเทพ” ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน การไม่เกี่ยวกับการเมืองกลายเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้ทางการเมือง

ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่าในการเมืองไทยนั้น กิจกรรมที่ไม่ใช่การเมือง มักจะนำพาประชาชนให้ยกระดับการทำกิจกรรมเหล่านั้นเป็นกิจกรรมทางการเมืองได้ เพราะจะว่าไปแล้ว การรวมกลุ่ม การจัดระบบ การทำงานร่วมกันก็เป็นพื้นฐานสำคัญของกิจกรรมทางการเมือง อย่างกลุ่มสันติอโศกที่มีบทบาทสำคัญ พวกสันติอโศกก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

การเมืองที่แอนตี้การเมืองหรือการเมืองที่ไม่ใช่การเมืองนี้ มีการใช้สัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่การแต่งกาย สวมเสื้อสีเดียวกันหรือไม่ก็มีเสื้อยืดเขียนถ้อยคำต่างๆ มีผ้าผูกคอ ผ้าคาดหัว และเขียนสีธงชาติบนใบหน้า การใช้นกหวีด หรือกระดิ่งจักรยาน การมีมือตบ การถือพระบรมฉายาลักษณ์ การถือธงชาติเหล่านี้เป็นต้น อีกกลุ่มหนึ่งก็สวมเสื้อขาวมีการจุดเทียน และปล่อยลูกโป่งสีขาว เป็นต้น ในระหว่างการชุมนุมมีการร้องเพลงร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันเพลงที่ร้องกันเป็นประจำก็คือเพลงสู้ไม่ถอยของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในการชุมนุมมีคำขวัญมากมายหากจะมีผู้รวบรวมคำที่เขียนบนเสื้อยืด และคำขวัญต่างๆ ไว้ก็จะดี

ผู้คนดูเต็มใจที่จะร่วมชุมนุม และร่วมเคลื่อนไหว การชุมนุมครั้งนี้มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นคือ การเดินเท้าไปชักชวนคนซึ่งได้รับการต้อนรับมากมาย และการเข้ายึดสถานที่ราชการต่างๆ แต่ก่อนคนไม่รู้จัก Civil Disobedience หรือ “อารยะขัดขืน” แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีมานมนานแล้วก็ตาม เช่น การที่คานธีนำชาวอินเดียประท้วงต่อต้านภาษีเกลือของอังกฤษ เป็นต้น คนที่เขียนวิเคราะห์เรื่องนี้ก็เห็นว่าเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เช่นกัน เพราะเกลือเป็นสัญลักษณ์ของอสุจิ

ในการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง สัญลักษณ์ทำให้คนเชื่อมโยงว่าเราเป็นพวกเดียวกัน การเลือกใช้นกหวีดบ่งบอกว่า พวกเขาต้องการให้มีการรักษากติกา เพราะนกหวีดเป็นสัญลักษณ์ของกติกา และเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการกระทำต่างๆ ส่วนสัญลักษณ์อื่นๆ ก็เป็นการสื่อว่าชาติมีความสำคัญ และสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่พวกเขาเทิดทูนเหนือสิ่งอื่นใด

บทบาทของสื่อก็มีความสำคัญ ในสมัยก่อนวิทยุและโทรทัศน์อย่างเช่น Radio Veritas ก็มีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มมาร์กอส ในอินโดนีเซียมีหนังสือ Tempo และญี่ปุ่นมี TV Asahi เป็นต้น แต่ในปัจจุบันนี้สื่อสมัยใหม่กลายเป็น Cable TV และโซเชียลมีเดียซึ่งมีอิทธิพลมาก คนที่เข้าไปใช้สื่อพวกนี้เข้าไปอยู่ใน “ชุมชนเสมือนจริง” ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีกว้างขวาง โดยไม่ต้องเปิดเผยตนเองซึ่งก็สอดคล้องกับลักษณะของคนไทย ซึ่งไม่ต้องการความขัดแย้งซึ่งหน้า แต่สื่อสมัยใหม่เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้น การแสดงออกของประชาชนทุกวันนี้ จึงทำให้รัฐบาลต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะการติดต่อถึงกันเป็นไปอย่างรวดเร็ว

การเมืองที่แอนตี้การเมือง และการใช้สัญลักษณ์จึงเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทย พฤติกรรมทางการเมืองที่ปฏิเสธการเมืองนี้เกิดขึ้นเพราะคนสิ้นศรัทธาในนักการเมือง แต่ก็พยายามหาวิธีการที่จะหาทางออกให้กับการเมืองแบบเก่า ซึ่งต้องใช้พลังมหาศาล และเวลานานในการปฏิรูปประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น