xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องปฏิรูปประเทศไทย ตอนที่ 3 : อิคคิวซังกับอาบาโม เรื่องการปฏิรูปไตก๊ก(ปี 2553 – 2557)

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

อาบาโม: ท่านอิคคิว เราต้องขอโทษที่มาถึงเช้าเกินไปเพราะกลัวไม่ทันเวลานัดกับท่าน หวังว่าวันนี้ท่านคงมีคำตอบมาให้เราตามที่สัญญาไว้

อิคคิวซัง : ท่านอาบาโม มาแต่เช้าเลย เราต้องขอโทษด้วยที่ทำให้ท่านต้องมานั่งคอย ก่อนอื่นเราขอสรุปที่พูดไว้เมื่อวันก่อนว่า มีสาเหตุสำคัญสองประการที่ก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองของไตก๊กซึ่ง สาเหตุสำคัญประการแรกมาจากคน ได้แก่ นักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนที่ประกอบอาชีพในสาขาต่างๆ ส่วนสาเหตุสำคัญประการที่สองมาจากระบบซึ่งได้แก่ ระบบสังคม ระบบการเมืองการปกครอง และระบบบริหารราชการแผ่นดินของไตก๊กนั่นเอง

ในความเห็นของเรา เราคิดว่า สาเหตุของปัญหาที่เกิดจากคนมีความสำคัญมากที่สุด เพราะถ้าคนดีมีคุณธรรมแล้ว แม้ระบบจะไม่ดี ผลที่ออกมาก็คงไม่เลวร้ายจนเกินไปเพราะไม่มีใครกระทำทุจริตคดโกง แต่ถ้าคนไม่ดีถึงระบบจะดีอย่างไร นักการเมืองและข้าราชการที่ไม่ดีเหล่านี้ก็ยังคงมุ่งแสวงหาช่องทางทุจริตคดโกงหรือประพฤติผิดจริยธรรมจนได้ พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อคนไม่ยึดมั่นในจริยธรรม การทุจริตคดโกง ฉ้อฉลหรือประพฤติผิดชั่วก็จะได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นนิสัยและสันดานของคนพวกนี้ไปเสียแล้ว อย่างไรก็ดีแม้ปัญหาที่เกี่ยวกับคนจะมีความสำคัญมากก็จริง แต่ถ้าท่านอาบาโม ต้องการแก้ปัญหาทางการเมืองของไตก๊กให้ได้ผลอย่างแท้จริง ก็จำเป็นจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดจากทั้งคนและระบบไปพร้อมๆ กัน โดยจะต้องมีมาตรการทั้งในระยะสั้นและยาวจึงจะบรรลุผลสำเร็จ

ท่านอาบาโม คงทราบดีว่า นักการเมืองไตก๊กต้องผ่านระบบการเลือกตั้งที่ลอกเลียนแบบมาจากต่างประเทศ โดยไม่มีใครคิดว่าจะมีความเหมาะสมกับระบบสังคม และจารีตประเพณีของ ไตก๊กหรือไม่เพียงใด เนื่องจากชาวไตก๊กส่วนใหญ่ให้ความเคารพผู้มีอาวุโส ชอบช่วยเหลือพรรคพวกพี่น้องไม่ว่าจะถูกหรือผิด จะตอบแทนบุญคุณผู้ที่ให้ความช่วยเหลือหรือมีพระคุณ ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนชั่ว และมักเห็นว่าการคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติธรรมดาตราบใดที่ตัวเอง ครอบครัว และพรรคพวกได้ประโยชน์ นักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งไม่ว่าจะโดยการซื้อเสียงหรือด้วยวิธีการใด เมื่อได้เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศแล้วก็มักจะแสวงหาช่องทางคดโกงหรือคอร์รัปชันเพื่อนำเงินไปใช้บำรุงความสุขส่วนตัว และเพื่อตอบแทนกลุ่มการเมืองที่เป็นฐานอำนาจของตนเอง พฤติกรรมเหล่านี้ได้ช่วยพัฒนาให้การคอร์รัปชันมีความก้าวหน้ามากขึ้นจนยากต่อการตรวจสอบ และได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ การเมืองการบริหาร และสังคมของไตก๊กตลอดมา ซึ่งเราจะสรุปเรื่องให้ท่านได้ฟังดังนี้

1. สถานการณ์ทางการเมืองของไตก๊ก ตั้งแต่ 2475 – ปัจจุบัน (2557)

เหตุการณ์ในปี พ.ศ.2475 ได้ทำให้ไตก๊กเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศตามแบบอย่างจากอังกฤษ ซึ่งได้จัดแบ่งแยกอำนาจการปกครองประเทศออกเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ (ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจนี้), ฝ่ายบริหาร(นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้), และฝ่ายตุลาการ (ซึ่งศาลต่างๆ จะเป็นผู้ใช้อำนาจนี้) นับจากปี 2475 จนถึงขณะนี้เป็นเวลาถึง 81 ปี ถ้าเทียบกันก็เท่ากับอายุขัยของคนคนหนึ่งซึ่งสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวของเขาในช่วงที่เกิด (2475) กับในช่วงที่คนคนนั้นมีอายุ (2557) 81 ปี ย่อมมีความแตกต่างกันมาก

อย่างไรก็ดีแม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต่อมาหลายครั้งจนถึงฉบับ 2550 แต่หลักการในการแบ่งอำนาจ ระบบรัฐสภา และกระบวนการเลือกตั้งก็ยังคงเหมือนเดิมเป็นส่วนใหญ่ ดูรูปที่ 1

ภาพที่ 1 ระบอบการปกครองของประเทศไตก๊กในปัจจุบัน

เมื่อการแก้ไขไม่ตรงจุดจึงทำให้เงินทุนยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้นักการเมืองได้เข้าสู่สภาฯ และถ้านักการเมืองมีตำแหน่งมีอำนาจเมื่อใดก็จะแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องเพราะลงทุนไปแล้วก็หวังที่จะได้ผลตอบแทนกลับคืน โดยไม่ได้คำนึงถึงจริยธรรมและผลประโยชน์ของประเทศชาติแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่นในสมัยรัฐบาลนายทุสินในอดีต และรัฐบาลนายสูมักในเวลาต่อมา เราจะพบว่า มีการกำหนดนโยบายเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ตนเองและกลุ่มที่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองของตน เช่น จังหวัดใดที่ประชาชนเลือกผู้สมัครพรรคการเมืองของตนเข้าสู่สภาฯ ก็จะจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณให้อยู่เหนือกว่าจังหวัดอื่นๆ หรือกลุ่มธุรกิจใดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจมักจะได้รับงานโครงการใหญ่ๆ ซึ่งได้แก่ โครงการแอร์พอร์ตลิ้ง โครงการรถไฟฯ สายต่างๆ เป็นต้น

มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ตนเองและพรรคพวกพ้นผิดโดยการสนับสนุนบุคคลที่ใกล้ชิดหรือเป็นพรรคพวกของตนให้ไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ เช่น สนับสนุนให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง หรือเป็นกรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น มีการเล่นพรรคเล่นพวกโดยการขจัดบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์กับตนออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งคนของตนไปดำรงตำแหน่งแทน เช่น การโยกย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม ออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือการโยกย้าย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น และรวมทั้งให้การสนับสนุนข้าราชการที่สามารถตอบสนองความต้องการทางการเมืองของกลุ่มตนได้ เช่น การต่ออายุราชการให้นายทาริด ที่จะเกษียณในปี 2556 ออกไปอีก 1 ปี (จากผู้จัดการ online 10 ก.ย. 2556)

พฤติกรรมเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการแบ่งแยกข้าราชการและประชาชนในไตก๊กออกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังเช่นที่ปรากฏในปัจจุบัน (ม.ค. 2557) ประชาชนได้แบ่งแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่ต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีนายทุสินและรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของนายทุสิน (ซึ่งได้แก่ กลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่ม กปปส. และกลุ่ม คปท. เป็นต้น) และกลุ่มที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีนายทุสินและรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของนายทุสิน (ซึ่งได้แก่ กลุ่มนปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มนักวิชาการเสื้อขาวที่ออกมาจุดเทียน เป็นต้น)

กลุ่มประชาชนทั้งสองกลุ่มต่างมีกลุ่มข้าราชการบางส่วนให้การสนับสนุน เช่น ในกรณีกลุ่มแกนนำ นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดงหลายคนได้หลบเข้าไปอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ หลังจากเกิดเหตุการณ์จลาจลเผาอาคาร Central World ในปี 2553 (ดังแสดงในรูปที่ 2 และรูปที่ 3) จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า มีข้าราชการบางส่วนและผู้บังคับบัญชาบางคนของ สตช.ได้สนับสนุนและช่วยเหลือแกนนำ นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ให้หลบหนีออกจากบริเวณที่มีการก่อการจลาจลโดยได้จัดเฮลิคอปเตอร์รับแกนนำคนเสื้อแดงไปส่งยังบ้านพักตากอากาศ ค่ายนเรศวร จ.ประจวบคีรีขันธ์

ที่มาภาพที่ 2 : www.greenworld.or.th/greennewsclub/726

ที่มาภาพที่ 3 : www.manager.co.th/iBiz channel/View News.aspx? News ID=9530000079041

2. การปฏิรูปการเมืองการปกครองไตก๊ก (Political Reforms)

จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, พฤษภาทมิฬ 2535, เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 10 เม.ย. - 20 พ.ค. 2553 ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไตก๊กอย่างมากมายดังที่ปรากฏในภาพ

และเหตุการณ์การปะทะยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิตที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ดังภาพที่ 4, 5 และ 6

ภาพที่ 4 อาวุธของตำรวจที่นำมาใช้ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

ที่มา : www.thairath.co.th/content/pol/392116

ภาพที่ 5 กลุ่มตำรวจบนดาดฟ้าอาคารในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

ที่มา : ที่มา : www.naewna.com/politic/83347

ภาพที่ 6 ตำรวจกำลังรุกไล่ผู้ชุมนุม และมีการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่หน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

ที่มา: www.news.mthai.com/ politics-news/297211

จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้กล่าวมา ชี้ให้เห็นว่า ระบบการเมืองการปกครองระบบการบริหารราชการ และระบบรักษาความมั่นคงของไตก๊ก ไม่เพียงได้ล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะนำมาใช้กับไตก๊กหรือรัฐอื่นใดในโลกได้อีกต่อไป

ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นของระบบการเมืองการบริหารราชการของไตก๊กนั้นมีสาเหตุมาจากค่านิยมในการเล่นพรรคเล่นพวกหรือระบบอุปถัมภ์ และความนิยมในการคอร์รัปชัน ซึ่งได้เข้าไปทำลายในทุกระดับของระบบการเมืองการบริหารราชการ และที่สำคัญที่สุดได้เข้าไปทำลายคุณธรรม จริยธรรมที่เคยมีอยู่ในจิตใจของคนไทย จนสูญสิ้นไปจากความเป็นคน จึงปรากฏว่าทั้งนักการเมืองและข้าราชการไตก๊กในปัจจุบันส่วนใหญ่มักไม่มีอุดมการณ์ และมุ่งยึดถือผลประโยชน์ส่วนตนหรือของกลุ่มตนมากกว่าคุณธรรม จริยธรรม จึงทำให้การปฏิบัติงานต่างๆ ขาดความโปร่งใส ไม่เป็นธรรม และไม่มีประสิทธิภาพ เช่น โครงการรับจำนำข้าวปี 2556 ซึ่งไม่เพียงมีผลการดำเนินขาดทุนหลายแสนล้านบาทเท่านั้น แต่รัฐบาลยังไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาได้ตามกำหนดอีกด้วย ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อไตก๊กขึ้นอีก เราจึงมีข้อเสนอฝากท่านอาบาโมช่วยส่งให้ไตก๊กนำไปพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

ก. ควรพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การเมืองการปกครองของไตก๊กใหม่ โดยมีหลักการสำคัญดังนี้

1. หลักการแบ่งแยก (Separation of Power) และถ่วงดุลอำนาจ (Balance of Power)

ในเรื่องนี้เรามีความเห็นว่า ควรจัดให้มีอำนาจการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (Investigation Power) และอำนาจการรักษาความมั่นคงของชาติ (National Security Power) เพิ่มจากระบบการปกครองเดิมของไตก๊กที่กำหนดให้มีเพียงอำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจบริหาร, และอำนาจตุลาการเท่านั้น ดูรูปที่ 7


ภาพที่ 7 การปฏิรูประบบการเมืองการปกครองไตก๊ก (ระบบ 3 สภา 2 สถาบัน)

จากภาพที่ 7

สภาการบริหารแห่งชาติ ใช้อำนาจการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ และกลั่นกรองร่างกฎหมาย

สภานิติบัญญัติ ใช้อำนาจนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการจัดทำ, พิจารณา, และอนุมัติร่างกฎหมายต่างๆสภาประชาชนแห่งชาติ ใช้อำนาจการรักษาความมั่นคงของชาติ และตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการการเมือง

คณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจบริหารประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขฝ่ายบริหาร

ศาล ใช้อำนาจตุลาการ ในปัจจุบันจะมีศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองซึ่งมีความเป็นอิสระ และไม่อยู่ในระบบศาลปกติ ประธานศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นประมุขของศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุดก็เป็นประมุขของศาลปกครอง ส่วนศาลปกติจะมีประธานศาลฎีกาเป็นประมุข และเราขอเสนอให้จัดตั้งศาลคดีความมั่นคง แยกออกมาจากศาลปกติเพื่อวินิจฉัยคดีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ (เช่น คดีคอร์รัปชันทุจริตคดโกงต่างๆ และคดีที่ข้าราชการได้กระทำความผิดหรือสร้างความเสียหายต่อบุคคลอื่น เป็นต้น)

นอกจากนี้ การแบ่งแยกอำนาจการปกครองประเทศออกเป็น 5 กลุ่มอำนาจก็เพื่อให้มีการถ่วง ดุลอำนาจระหว่างกันคือ อำนาจการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คือ อำนาจในการกลั่นกรองร่างกฎหมายต่างๆ อำนาจในการตรวจสอบและรับรองการแต่งตั้งข้าราชการประจำตั้งแต่ระดับบริหารขึ้นไป และอำนาจในการตรวจสอบและถอดถอนข้าราชการประจำที่กระทำผิดกฎหมายหรือปฏิบัติหน้าที่ใดๆ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพ หรือต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน (ตามที่ระบุในมาตรา 26 ถึงมาตร 69 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550) หรือต่อสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรของชาติ หรือต่อประเทศชาติ (องค์กรที่มีหน้าที่และใช้อำนาจนี้คือ สภาการบริหารแห่งชาติ) อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ (องค์กรที่ใช้อำนาจคือ สภานิติบัญญัติ) อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน คืออำนาจในการบริหารประเทศ ยกเว้นอำนาจการรักษาความมั่นคงของชาติ (ผู้ใช้อำนาจคือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี)

อำนาจตุลาการ คือ อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยคดีความทั้งปวง (องค์กรที่ใช้อำนาจคือ ศาลต่างๆ) และอำนาจการรักษาความมั่นคงของชาติ คือ อำนาจในการออกกฎระเบียบ และเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ รวมทั้งอำนาจในการตรวจสอบและรับรองการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองตั้งแต่ระดับที่เท่ากันหรือสูงกว่าเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขึ้นไป รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน กล่าวโทษ ลงโทษ ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และถอดถอนบุคคลใดๆ ทั้งที่เป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง รวมทั้งพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกตำแหน่งจากการกระทำใดๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติหรือความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม (ผู้ใช้อำนาจนี้คือ สภาประชาชนแห่งชาติ)

2. หลักความเป็นอิสระของแต่ละอำนาจ (Independence)
อำนาจทั้ง 5 จะต้องมีความเป็นอิสระต่อกันและไม่ขึ้นต่อกันนั่นหมายถึง การใช้อำนาจต่างๆ แม้จะมีความเป็นอิสระไม่ต้องขึ้นกับอำนาจฝ่ายอื่น แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตนโดยไม่ไปก้าวก่ายต่ออำนาจหน้าที่ของฝ่ายอื่น ยกเว้นในกรณีที่กฎหมายได้ระบุให้ปฏิบัติได้

3. หลักการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (Investigation )

นอกจากสภาการบริหารแห่งชาติจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแล้ว สภาการบริหารแห่งชาติควรมีอำนาจการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ โดยเฉพาะการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำตั้งแต่ระดับบริหารขึ้นไป ส่วนสภาประชาชนแห่งชาติให้มีอำนาจการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของข้าราชการการเมืองในทุกระดับ

4. หลักความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ (Continuing)

หลักการข้อนี้มาจากเหตุผลที่ว่าแม้แต่ระบบร่างกายของคนเรายังทำงานอย่างต่อเนื่อง ระบบของประเทศซึ่งได้แก่ ระบบการพิจารณาออกกฎหมาย, ระบบการบริหารราชการ, ระบบการพิจารณาคดีความต่างๆ และระบบการตรวจสอบของรัฐก็ควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แม้บางครั้งการทำงานของระบบเหล่านี้อาจล่าช้าแต่ก็ไม่ควรหยุดเพราะจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับการบริการที่จำเป็นจากรัฐ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่า ควรยกเลิกการยุบสภา และอำนาจการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีเสียเพื่อให้การทำงานของสภาฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ต้องสะดุดหยุดลง สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีลาออก หรือถูกถอดออก หรือต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยที่ไม่ได้เป็นไปตามวาระที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีไปก่อน และจะต้องดำเนินการคัดเลือกผู้ที่เป็นสมาชิกสภาการบริหารแห่งชาติเพื่อมาทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อไปภายในเวลาไม่เกิน 60 วัน (ดูที่มาของนายกรัฐมนตรี ในปฏิรูปไตก๊ก ตอนที่ 4 ต่อไป)

5. หลักการว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน (Political Participation)

องค์ประกอบสำคัญของการปกครองประเทศไม่ว่าจะใช้ระบอบหรือใช้ลัทธิใดก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชน ระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเป็นตัวชี้วัดระดับความเป็นประชาธิปไตยของการปกครอง การยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนนอกจากจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของประเทศอีกด้วย ดังนั้นจึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐ และสามารถร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนในฐานะเจ้าของประเทศได้มีสิทธิ์มีเสียงและมีส่วนในการปกครองประเทศร่วมกัน

6. หลักการว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค (Rights, Liberty & Equality)

ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และจะต้องได้รับการบริการจากรัฐด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน (ให้มีสิทธิพิเศษเฉพาะเด็ก คนชรา คนพิการหรือผู้ด้อยโอกาส) ดูสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยในหมวดที่ 3 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550

7. หลักการว่าด้วยจริยธรรมในทางการเมืองการปกครอง (Code of Ethics)

การใช้อำนาจและการปฏิหน้าที่ใดๆ จะต้องยึดหลักความเป็นธรรม และ ความโปร่งใส (Tranparency) หมายความว่า การกระทำหรือการตกลงใจใดๆ ในการใช้อำนาจของแต่ละกลุ่มอำนาจจะต้องมีความเป็นธรรม เปิดเผย ตรวจสอบได้ และไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเอง หรือของญาติพี่น้อง หรือของพรรคพวก หรือของกลุ่มตน ไม่ว่าจะในทางใดทางหนึ่งก็ตาม ในเรื่องนี้ควรกำหนดข้อปฏิบัติทางด้านจริยธรรมให้นักการเมืองและข้าราชการทุกคนยึดถือและปฏิบัติด้วย

8. หลักการว่าด้วยความมั่นคงของชาติ (National Security)

ความมั่นคงและการดำรงอยู่ของชาติย่อมมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด (National Security comes first.) การออกกฎหมายใดๆ หรือการกำหนดนโยบายของรัฐบาล หรือการจัดทำแผนงานโครงการ หรือการกระทำใดๆ จะต้องยึดหลักความมั่นคงและการดำรงอยู่ของประเทศชาติเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด นั่นหมายถึง ความมั่นคงของชาติต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด และกำหนดให้สภาประชาชนแห่งชาติใช้อำนาจนี้ผ่านหน่วยงานทางด้านความมั่นคง (รายละเอียดดู ในปฏิรูปไตก๊ก ตอน 4 ต่อไป)

9. หลักการว่าด้วยความเป็นไตก๊ก (Thainess)

การกำหนดรูปแบบการปกครองใดๆ รวมทั้งตัวบทกฎหมายต่างๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไตก๊ก หมายถึง ความมั่นคงและการดำรงอยู่ของชาติไตก๊กมีความสำคัญสูงสุด การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การรักษาและอนุรักษ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา และค่านิยมต่างๆ ถือเป็นหน้าที่ของคนไตก๊กทุกคนที่จะต้องปฏิบัติอย่างไม่ลังเลโดยไม่ต้องร้องขอ ซึ่งรวมทั้งคนต่างชาติทุกคนที่มาขอสัญชาติไตก๊กด้วย ซึ่งเราขอเสนอให้คนต่างชาติที่ได้รับสัญชาติไตก๊กทุกคน ต้องเข้ารับราชการทหารไปปฏิบัติหน้าที่ปกป้องชาติ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี

ข. ยกเลิกระบบการเมืองในปัจจุบัน

เมื่อระบบการเมืองในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพก็ควรยกเลิกไป แล้วจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเมืองการปกครองของไตก๊กในข้อ ก. และให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจและลงประชามติ เมื่อผ่านประชามติเรียบร้อยแล้วให้นำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550)

ค. รัฐควรออกกฎหมายตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่และยกเลิกพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด

พรรคการเมืองส่วนใหญ่ในไตก๊กได้รับการจัดตั้งโดยกลุ่มนักลงทุนทางการเมือง นักแสวงโชค นักวิ่งเต้น นายหน้าทางการเมือง นักธุรกิจการเมือง และอื่นๆ ควรถูกยกเลิกทั้งหมด แล้วร่างกฎหมายจัดตั้งพรรคการเมืองของรัฐขึ้นมาแทน โดยกำหนดให้พรรคการเมืองในประเทศไตก๊กมีจำนวน 5 พรรคซึ่งจะต้องได้รับจัดตั้งโดยรัฐเท่านั้น และห้ามมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ จัดตั้งพรรคการเมืองกันเอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีพรรคการเมืองที่มีลักษณะเป็นของคนหนึ่งคนใด หรือของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง หรือมีลักษณะเป็นพรรคการเมืองเฉพาะภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น หรือเป็นพรรคการเมืองที่มุ่งเข้ามาทำธุรกิจทางการเมือง หรือเป็นพรรคการเมืองรับจ้างจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น

เมื่อพรรคการเมืองเป็นพรรคของรัฐจะทำให้พรรคการเมืองในไตก๊กได้บุคลากรที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์เป็นเจ้าของพรรคการเมืองจึงทำให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอยากเข้ามาร่วมงานมากกว่าพรรคการเมืองที่มีบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเจ้าของ เช่น พรรคบันหาน พรรคบางแสน หรือพรรคชูวิด เป็นต้น และบุคลากรที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในพรรคก็จะต้องมีสถานภาพเป็นข้าราชการการเมืองซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นข้าราชการประจำในระบบราชการ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแสวงประโยชน์ หรือทำตนเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ดังเช่นในปัจจุบัน

ง. ยกเลิกการยุบสภา

การที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายสำคัญ เช่น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แล้วร่างกฎหมายนั้นไม่ผ่านสภาฯ นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบโดยการลาออกได้เพียงสถานเดียว เพราะการยุบสภาได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เมื่อสภาฯ ไม่ถูกยุบก็จะทำให้การปฏิบัติงานต่างๆ ของสภาฯ มีความต่อเนื่องไม่ขาดตอน สภานิติบัญญัติสามารถปฏิบัติงานต่อเนื่องจนครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งซึ่งจะทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายไม่หยุดชะงักจากสาเหตุการยุบสภา และยังช่วยให้สมาชิกสภานิติบัญญัติได้ศึกษาพิจารณาตัวบทกฎหมายได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะทำให้ได้ตัวบทกฎหมายที่ดี มีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม และไม่มีช่องโหว่ให้หลีกเลี่ยง

จ. นายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาฯ ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง

การที่นายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาฯ ไม่ต้องถูกบังคับให้สังกัดพรรคการเมืองจะทำให้การคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาฯ มีลักษณะเปิดกว้าง ซึ่งอาจมีผลทำให้มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาฯ มีจำนวนมากขึ้น นั่นหมายถึง การมีตัวเลือกมากขึ้น(เปรียบเสมือนมีสินค้าให้เลือกมากขึ้น) จะทำให้มีโอกาสคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถและมีคุณธรรมมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้การฮั้วกันทางการเมืองเป็นไปได้ยากขึ้นนั่นเอง

ฉ. ที่มาของสมาชิกสภาฯ ทั้ง 3 สภาฯ (รายละเอียดเพิ่มเติม ดูในปฏิรูปไตก๊ก ตอนที่ 4)

1. สภานิติบัญญัติ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมืองก็ได้ สมาชิกสภาฯ มาจากการเลือกตั้งจากพื้นที่ที่แบ่งเป็นเขตย่อยในแต่ละจังหวัดมีจำนวนไม่เกิน 300 คน

2. สภาการบริหารแห่งชาติ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมืองก็ได้ สมาชิกมาจากการเลือกตั้งจากพื้นที่ทั้งจังหวัดจำนวนไม่เกิน 100 คน และมาจากการคัดเลือกโดยสภาประชาชนจำนวนไม่เกิน 100 คน รวมเป็นจำนวนไม่เกิน 200 คน

3. สภาประชาชนแห่งชาติ ต้องไม่สังกัดหรือเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองใดๆ สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ประกอบอาชีพสาขาเดียวกันทั่วประเทศ มีจำนวนไม่เกิน 200 คน

สรุป

แม้ระบบการเมืองการปกครองประเทศ และระบบราชการของไตก๊กจะได้นำแบบอย่างจากประเทศต่างๆ ในยุโรป และในประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2557) เป็นระยะเวลาที่ยาวนานหลายสิบปี แต่ปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบันได้บ่งชี้ให้เราได้เห็นว่า ระบบการเมืองการปกครองและระบบราชการของไตก๊กในปัจจุบันยังมีจุดอ่อนอยู่หลายประการจนไม่สามารถนำมาใช้กับไตก๊กได้อีกต่อไป เราจึงเห็นว่าควรปฏิรูประบบการเมืองการบริหารของไตก๊กเสียใหม่ และจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นปัญหาต่างๆ อาจเพิ่มพูนขึ้นจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ ยิ่งกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา, พฤษภาทมิฬ 2535, และเหตุการณ์ในวันที่ 19 พ.ค. 2553, เหตุการณ์ยิงนักศึกษารามคำแหง การ์ด คปท. และล่าสุดเหตุการณ์ขว้างระเบิดใส่กลุ่มประชาชนบนถนนบรรทัดทอง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จนทำให้ประชาชนสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา

ท่านอาบาโมครับ วันนี้เราจะขอจบเรื่องเพียงเท่านี้ สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับสภาฯ ทั้ง 3 เราจะเล่าให้ท่านฟังในโอกาสต่อไป อย่างไรก็ดีเราหวังว่าท่านอาบาโม คงจะนำข้อเสนอต่างๆ ไปพิจารณา และแนะนำไตก๊กได้บ้าง

อาบาโม : ท่านอิคคิว ต้องขอขอบคุณท่านที่มีน้ำใจ เราจะขอนำคำแนะนำของท่านไปเล่าให้ผู้บริหารไตก๊กได้นำไปพิจารณา ซึ่งเราหวังว่าคงจะทำให้ระบบการเมืองการบริหารของไตก๊กมีความมั่นคง และมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น พรุ่งนี้เราจะเดินทางไปไตก๊ก และจะกลับมาในวันศุกร์ ดังนั้นเราก็จะมาหาท่านในสัปดาห์ถัดไปก็แล้วกัน

______________________________________

หมายเหตุ :

ข้อเสนอต่างๆ ในบทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอตัวอย่างของแนวทางในการปฏิรูปการเมืองการปกครองแนวทางหนึ่ง โดยหวังให้ท่านผู้อ่านและท่านผู้รู้ทั้งหลายได้นำไปพิจารณา วิเคราะห์ และพัฒนารูปแบบการเมืองการปกครองที่มีความเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยของเรามากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น