xs
xsm
sm
md
lg

จุดจบของการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
11 /ธ.ค/56

การชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์โลกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เพื่อเรียกร้องอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจการปกครองประเทศของประชาชนกลับคืนจากผู้ปกครองประเทศ ซึ่งใช้อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัตินั้น ได้มีการประกาศยึดอำนาจแทนมวลมหาประชาชนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาในเช้าวันที่ 9 ธันวาคม และได้มีพระบรมราชโองการให้ยุบสภาในช่วงเวลาเย็นใกล้เคียงกับการประกาศยึดอำนาจมวลมหาประชาชนคืนโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อำนาจการปกครองประเทศ ( อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ) กลับมาเป็นของประชาชนโดยสมบูรณ์ด้วยความยินยอมพร้อมใจของรัฐบาลด้วยการประกาศยุบสภา การได้รับคืนอำนาจการปกครองแผ่นดินของมวลมหาประชาชนจึงไม่เป็นการกบฏ และการกระทำที่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีเจตนาของการกระทำเดียวกัน การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นการกบฏ

ผลแห่งการยุบสภาทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามรธน.มาตรา 180 (2)

ผลแห่งการยุบสภาทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ตามรธน.มาตรา 106 (1)

ผลแห่งการยุบสภาทำให้การเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 วรรคสอง และทำให้สถานภาพนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงด้วย

รัฐธรรมนูญมาตรา 181 บัญญัติให้ “ คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่” ดังนั้น “คณะรัฐมนตรี” ที่รักษาการโดยอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้น จึงไม่มีสถานภาพของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และไม่ใช่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกต่อไป แต่เป็นคณะบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่อยู่ในตำแหน่งเกียรติยศของการเป็น “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ” เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเท่านั้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎรจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น

มวลมหาประชาชนโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี หรือ “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง” ลาออกจากการต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (เรียกร้องไม่ให้รักษาการ ) เพื่อที่จะทำการปฏิรูปการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อขจัดการใช้อำนาจโดยฉ้อฉลทางรัฐสภาเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนและผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สิน เงินทองจากภาษีอากรของประชาชนโดยผ่าน “ระบบประชานิยม ” อันเป็นการทำลายศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงแห่งรัฐ เพราะระบบดังกล่าวเป็นการเสนอให้สินบนเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งโดยปราศจากยุทธศาสตร์ทางนโยบายของพรรคการเมืองที่จะทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพแบบยั่งยืน มีการใช้ระบบรัฐสภาโดยผ่านโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์โดยปราศจากการศึกษาความเป็นไปได้และอรรถประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนอย่างทั่วถึง ใช้ระบบรัฐสภาแสวหาประโยชน์เพื่อการได้มาซึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยปราศจากหน้าที่และความรับผิดชอบโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้ระบบรัฐสภาทำลายหลักนิติธรรมและนิติรัฐเพียงเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องให้พ้นจากการกระทำความผิดอาญาต่อแผ่นดิน การดำเนินการในทางรัฐสภาที่ผ่านมามิได้มีความเป็นประชาธิปไตยให้ปรากฏแก่มวลมหาประชาชน แต่มีการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีวาระซ่อนเร้น การที่จะให้ “ คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง” รักษาการต่อไปเพื่อให้มีการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น ย่อมไม่เป็นที่ไว้วางใจของมวลมหาประชาชนว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่มีการใช้อำนาจเถื่อน อำนาจฉ้อฉลมาใช้ในการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเหมือนเช่นที่ใช้อำนาจในรัฐสภา ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ การที่มวลมหาประชาชนไม่ไว้วางใจ “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง” ( ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรี) ที่จะให้ทำหน้าที่รักษาการเพื่อให้มีการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น มิใช่เป็นเรื่องการขาดคุณสมบัติทางกายภาพของ “คณะรัฐมนตรี” แต่เป็นการขาดคุณสมบัติทางมโนธรรมและมโนสำนึกของ“คณะรัฐมนตรี” ซึ่งก็คือ การไร้ซึ่งมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมของผู้ใช้อำนาจปกครอง แม้จะมีมวลมหาประชาชนออกมาจำนวนมากเท่าใด ก็ไม่สามารถสร้างมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรมและศีลธรรมให้กับผู้ใช้อำนาจปกครองดังกล่าวได้

การที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจในการยุบสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 และ 187 โดยขอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการนั้น เป็นกรณีที่กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะขณะที่ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯออกใช้นั้น นายกรัฐมนตรียังคงเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการได้ แต่พระราชกฤษฎีกายุบสภามาตรา 2 บัญญัติว่า “ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” เมื่อได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 9 ธันวาคม 2556 แล้ว นายกรัฐมนตรีหมดสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีในทันที ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (1) ประกอบกับมาตรา 171 วรรคสอง และมาตรา 180 (1) ดังนั้นรัฐธรรมนูญมาตรา 181 จึงบัญญัติให้ “ คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง” เท่านั้น ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ในฐานะเป็นคณะบุคคลเกียรติยศที่เคยดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งก็คือมีอดีตนายกรัฐมนตรีอยู่ใน “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง” ด้วย โดยจะไม่มีนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอีกต่อไป เมื่อพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯมาตรา 5 บัญญัติให้ “ นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้” พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯ จึงไม่มี “นายกรัฐมนตรี” เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาได้ และเมื่อพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้บัญญัติให้บุคคลสองคนคือ ทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้ง ต้องร่วมกันรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีนายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวประธานกรรมการการเลือกตั้งไม่อาจดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้กำหนดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ได้โดยลำพัง หากประธานกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการไปโดยร่วมกับอดีตนายกรัฐมนตรี หรือดำเนินการไปโดยลำพัง การกระทำดังกล่าวก็จะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญา และการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็เป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้

ดังนั้นพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ซึ่งบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานั้น จึงไม่อาจนำมาดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ได้เลย

กำลังโหลดความคิดเห็น