xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิวัติน้ำมันพืช (ตอนที่ 9) : “น้ำมันมะพร้าว” กับการบำบัด ”ธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำแฝง” โรคยอดฮิตแต่ไม่รู้ตัว

เผยแพร่:

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ธัยรอยด์ฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญสารอาหารให้เป็นพลังงาน หรือ เมแทบอลิซึม (Metabolism) เพราะมีการเผาผลาญนี้เองจึงสามารถเปลี่ยนคอเลสเตอรอลให้กลายเป็นฮอร์โมนที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เช่น โปเจสเตอโรน เอสโตรเจน ดีเอชดีเอ เทสโทสเตอโรน อัลดอสเตอโรน คอร์ติโซล ฯลฯ

บางคนมีรูปร่างผอมบาง แต่กลับปรากฏว่า คอเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูง ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) ที่มักถูกเรียกว่าไขมันตัวเลวอยู่ในระดับสูงในหลอดเลือด รวมถึงไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง (HDL) ไขมันตัวดีอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็เพราะการเผาผลาญในร่างกายนั้นต่ำเกินไป และสาเหตุที่มีการเผาผลาญต่ำก็เพราะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำนั่นเอง

ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าคอเลสเตอรอลนั้นร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์ได้เองถึง 70%-80% และจะสังเคราะห์มากผิดปกติในช่วงที่เราอดอาหารตามความจำเป็นในการใช้งาน ดังนั้นถ้าตับผลิตคอเลสเตอรอลออกมาแล้วปรากฏว่า ธัยรอยด์ฮอร์โมนอยู่ในระดับต่ำก็แปลว่าอัตราการเผาผลาญต่ำ ผลก็คือระดับของ ไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง (HDL) หรือที่เรียกว่าไขมันตัวดีซึ่งจะมีหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลและ ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) ไปส่งที่ตับเพื่อเอามาผลิตฮอร์โมนและน้ำดีจะอยู่ในระดับต่ำด้วย

ผลก็คือร่างกายมีไขมันในเส้นเลือดสูง แต่มีระดับฮอร์โมนความจำเป็นต่อร่างกายอยู่ในระดับต่ำ

นพ.เปี่ยมโชค ชลิดาพงศ์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง “ทำไมคุณถึงป่วย เล่ม 2” ระบุว่าอาการที่อาจเกิดขึ้นจากธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำนอกจากจะมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงแล้ว อาจพบว่าคนเหล่านี้อาจมีชีพจรเต้นต่ำกว่า 85 ครั้งต่อนาที เพราะร่างกายมีพลังงานจากการเผาผลาญที่ต่ำ หรือบางคนอาจมีชีพจรเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที เป็นเพราะร่างกายปรับตัวเรื่องนี้ด้วยการหลั่งฮอร์โมนแอดดรีนาลินออกมาทำงานแทนธัยรอยด์ ถ้าร่างกายใช้วิธีนี้อยู่นานๆ ก็จะทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้จากการกระตุ้นเกินไปของแอดดรีนาลิน

นอกจากนี้อาการที่ยังบ่งชี้ต่อได้แก่ มือเย็น เท้าเย็น เป็นผลจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี และถ้ามีการบวมไปที่ข้อมือ ก็จะทำให้ชาปลายตามนิ้วมือ และเวลาตื่นนอนเช้าจะกำมือได้ยาก ซึ่งอาการเหล่านี้ตามโรงพยาบาลทั่วไปจะวินิจฉัยว่า “พังผืดรัดข้อมือ” (Carpal tunnel syndrome)

บางคนมีอาการท้องผูก สาเหตุเพราะลำไส้เคลื่อนตัวช้า เนื่องจากการเผาผลาญสร้างพลังงานในร่างกายอยู่ในระดับต่ำ และอาหารจะตกค้างอยู่ในลำไส้นานกว่าคนปกติทั่วไป

และการที่มีธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวตามมาด้วย เช่น ปวดหัวจากเอสโตรเจนสูงมากกว่าโปรเจสเตอโรน จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวในช่วงมีประจำเดือน หรืออาจเกิดอาการปวดหัวจากลำไส้ใหญ่ เพราะอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้นานๆ ทำให้เกิดการเน่าเสียและหมักหมมจนของเสียเหล่านี้ถูกดูดซึมเข้าร่างกายทำให้เกิดอาการปวดหัว

นอกจากนี้อาจมีอาการซึมเศร้าและปัญหาเรื่องอารมณ์ เพราะเมื่อพลังงานในร่างกายตก การทำงานของสมองก็ผิดปกติไปได้อย่างง่ายๆ

และเมื่อการผาผลาญพลังงานไม่ดี ทำให้ภูมิต้านทานไม่ดี เกิดการติดเชื้อบ่อย เพราะปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้เป็นหวัดบ่อย หลอดลมอักเสบบ่อย เจ็บคอและต่อมทอนซิลบ่อยๆ หรือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย

นอกจากนั้นยังมีอาการผิวหนังและเส้นผมมีปัญหา เช่น ผิวหนังแห้ง สิว เอ๊กซีม่า สะเก็ดเงิน ผมร่วง เป็นต้น

และเพราะการเผาผลาญพลังงานต่ำ ผลก็คืออาจเกิดอาการต่างๆเพิ่มมาได้อีกอันเนื่องมาจากการที่พลังงานไม่เพียงพอ เช่น นอนไม่หลับ อ้วนง่าย โรคลิ้นหัวใจรั่ว ปวดข้อ มีซิสต์ที่เต้านม เนื้องอกที่รังไข่ ซิสต์ที่รังไข่ เอ็นโดเมททริโอซิส

และเพราะการเผาผลาญแปลงคอลเลสเตอรอลให้กลายเป็นฮอร์โมนเพศอยู่ในระดับต่ำ ก็ย่อมทำให้เกิดอาการวัยทองก่อนวัยได้ และอาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย

ธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ แม้ว่าจะสามารถตรวจเลือดได้ แต่จากหนังสือ “Dr.Baraly’s Food Allergy & Nutrition - Revolution ของนายแพทย์ เจมส์ บราลี ในปี พ .ศ. 2535 ได้ระบุเอาไว้ว่า

“การวินิจฉัยภาวะธัยรอยด์ต่ำเป็นเรื่องค่อนข้างยาก การตรวจเลือดมาตรฐานทั่วไปๆเชื่อถือไม่ค่อยได้ วิธีจะวินิจฉัยภาวะธัยรอยด์ต่ำที่ดีกว่า คือการวัดปรอทตอนเช้าก่อนที่จะลุกจากเตียงนอน 5 วัน ติดต่อกัน”

คือ สำหรับผู้หญิงก่อนหมดวัยประจำเดือน ถ้าวัดได้เฉลี่ยต่ำกว่า 36.4 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการใดอาการหนึ่งข้างต้น บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ

สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว หรือในผู้ชายถ้าวัดได้ค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 36.3 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการใดอาการหนึ่งข้างต้น บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ภาวะเช่นนี้เรียกว่า “ธัยรอยด์ต่ำแฝง” หรือ Subclinical Hypothyroidsm”

สาเหตุที่ ดร.ลิต้า ลี นักเคมี ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดด้วยเอนไซม์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ จากมลรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่าเราแทบทุกคนในโลกกำลังมีปัญหาโรคธัยรอยด์กันมากขึ้น และสาเหตุส่วนหนึ่งก็คือ “คลื่นรังสี” จากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ตั้งแต่ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ไมโครเวฟ ฯลฯ

นอกจากนี้สาเหตุยังมีอีกหลายประการ โดย นพ.เปี่ยมโชค ชลิดาพงศ์ ได้ระบุเอาไว้ถึงสาเหตุอื่นๆอีกหลายประการ เช่น การกินผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมากเกินไป กินหวานมากไป มีเอสโตรเจนจากอาหารมากไป (เช่น ยาคุมกำเนิด นม ไข่ และเนื้อสัตว์) รวมถึงผู้หญิงที่รับประทานอาหารที่ออกฤทธิ์เหมือนเพิ่มเอสโตรเจนมากเกินไป (Estrogenic Foods เช่น จมูกข้าวสาลี อาหารมียิสต์ เช่นขนมปัง ไวตามินเม็ดที่สกัดจากยิสต์ เบียร์ ไวน์ กราวเครือขาว กระเจี๊ยบแดง ฯลฯ) รับไอโอดีนมากไป รับประทานพืชบางชนิดที่ไม่ผ่านความร้อนมากไป (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ บล็อกโคลี)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กินไขมันทั้งหลายโดยเฉพาะไขมันทรานส์ เนยเทียม มาร์การีน พีนัทบัตเตอร์ ซึ่งมาจากไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันทรานซ์ในอาหารที่เกิดจากการทอดซ้ำหรือโดนความร้อนสูงจาก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ฯลฯ

สำหรับการแก้ไขปัญหาด้วยการ ลด ละ เลิก พฤติกรรมการบริโภคข้างต้นแล้ว ผมมีความเห็นว่าควรรับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มฮอร์โมนเพศที่ชื่อ โปรเจสเตอโรนในผู้หญิง และเทสโทสเตอโรนในเพศชายจะช่วยลดฤทธิ์สัดส่วนของเอสโตรเจนที่สูงมากเกินไปได้ด้วย ได้แก่ อาหารทีให้แร่ธาตุ ซิงค์ แมกนีเซียม วิตามินบี วิตามินซี ซึ่งแหล่งอาหารเหล่านี้ได้แก่ เมล็ดฟักทอง ฟักทอง ถั่วชิกพี ผักโขม ข้าวกล้อง งาดำ กล้วย มันฝรั่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแม้แหล่งอาหารในการสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นข้างต้นแล้ว อาจเพิ่มเป้าหมายในการเผาผลาญในร่างกายให้สูงขึ้นได้ ด้วยการ “ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ” รับประทานอาหารฤทธิ์เผ็ดร้อนมากขึ้นเพื่อช่วยในการเผาผลาญ(พริก ขิง ขาตะไคร้) และรวมถึงการดื่มน้ำมันมะพร้าว เพราะร่างกายไม่สมดุลมีสภาพ “หยิน” / “เย็น”เกินไป

ดร.เรย์ พีท นักชีวเคมี ผู้เชี่ยวชาญด้านธัยรอยด์ฮอร์โมน เอนไซม์ จากสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่า น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายสั้นและปานกลางอยู่ในระดับสูงที่สุดจึงดูดซึมเร็วมากแตกต่างจากน้ำมันชนิดอื่น เมื่อถูกส่งไปยังตับจึงสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็วมาก ส่งผลทำให้การทำงานของธัยรอยด์ฮอร์โมนสูงขึ้นในเวลาไม่นานนัก

ดร.เรย์ พีท ได้ทดลองผู้ป่วยโรคธัยรอยด์ ฮอร์โมนต่ำ ที่มีอุณหภูมิในร่างกายอยู่ในระดับต่ำมาก ชีพจรเต้นต่ำ และมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นหลายอาการ โดยให้ดื่มน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นวันละ 4 ช้อนโต๊ะ เป็นเป็นเวลา 4 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน พบว่าอาการธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำนั้นดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนมาก

เพราะต้องไม่ลืมว่าถ้าอัตราการเผาผลาญในร่างกายสูงขึ้น ตับก็จะผลิต HDL หรือไขมันตัวดีในกระแสเลือดจะสูงขึ้น เพราะร่างกายต้องการขนส่งคอเลสเตอรอล และ LDL หรือไขมันตัวเลวในเส้นเลือดไปส่งที่ตับเพื่อผลิตเป็นฮอร์โมนและน้ำดีได้มากขึ้น ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนที่จำเป็นต่อร่างกายสูงขึ้นอาการที่กล่าวมาข้างต้นก็จะค่อยๆทุเลาลงไปตามลำดับ

และอย่าแปลกใจ และอย่าตกใจ ที่บางคนรับประทานน้ำมันมะพร้าวแล้วคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น (ไม่เช่นนั้นจะถูกบริษัทขายยาลดคอเลสเตอรอล และบริษัทน้ำมันถั่วเหลืองหลอกเอาอีก) เพราะความจริงร่างกายกำลังต้องการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลไปผลิตเป็นฮอร์โมนให้มากขึ้น

“ดังนั้นให้พิจารณาดูสัดส่วนระหว่างคอเลสเตอรอล หารด้วย HDL นั้นจะมีสัดส่วนลดลงไปเรื่อยๆ เป็นสำคัญ”!!!!

ดังนั้นอย่าแปลกใจด้วยว่า หากใครเป็นมือใหม่ในการดื่มน้ำมันมะพร้าว จะมีอาการคล้ายท้องเสีย หรือท้องร่วงในช่วงแรก แท้ที่จริงแล้วมันเป็นการปรับตัวอันเนื่องมาจากลำไส้เคลื่อนตัวเร็วขึ้น จากการที่มีพลังงานในร่างกายสูงขึ้น

ดังนั้นในช่วงแรกๆให้เริ่มรับประทานจากทีละน้อยๆแล้วค่อยๆเพิ่มทยอยสูงขึ้นเพื่อให้ร่างกายปรับตัวจนเหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคนในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น