xs
xsm
sm
md
lg

ภัยมืดจากอาวุธเคมีควบคุมมวลชน

เผยแพร่:   โดย: รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์


รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


มนุษย์รู้จักนำเอาสารเคมีมาประยุกต์ใช้ในสงครามตั้งแต่ช่วง 500 ถึง 411 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งทิวซิดิดีส (Thucydides) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกได้ระบุถึงการใช้กำมะถันเป็นอาวุธเคมีในสงครามระหว่างสปาร์ตากับเอเธนส์หรือที่รู้จักกันดีในนามสงครามเพโลพอนนีซัส (The Peloponnesian War) [1] หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมองค์ความรู้ด้านการสังเคราะห์ทางเคมีได้ถูกพัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในการควบคุมมวลชนเช่นการนำเอา แก๊สน้ำตาคลอรีน (Chlorine) สารฟอสจีน (Phosgene) สารคลอโรพิคริน (Chloropicrin) สารแอแดมไซด์ (Adamsite) มาใช้ในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง [2] นอกจากนี้ยังมีการนำเอาซารีน (Sarin) (Isopropylphosphonofluoridate) และแก๊สวีเอกซ์ (VX) ซึ่งจัดเป็นแก๊สที่มีความเป็นพิษสูง ในสภาวะปกติจะไร้สี ไร้กลิ่น สามารถละลายน้ำได้ดี มาใช้ในการสังหารหมู่ชาวยิวในค่ายกักกันนักโทษช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เพื่อป้องกันไม่ให้ชนชาติใดนำเอาอาวุธเคมีมาเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารมนุษย์ด้วยกันนานาอารยะประเทศจึงได้มีการร่วมลงนามในพิธีสารเจนีวา (Geneva Protocol) ว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธสารเคมี [3] ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2468 แต่กระนั้นอาวุธเคมีได้ถูกนำมาใช้ในสงครามหลายต่อหลายแห่งรวมทั้งการก่อการร้ายโดยขบวนการคลั่งลัทธิโอม ชินริเคียว (Aum Shinrikyo) ซึ่งมีการนำเอาแก๊สซารีนมาก่อวินาศกรรมในรถไฟใต้ดินที่กรุงโตเกียวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12 รายและผู้ได้รับบาดเจ็บอีกนับพัน

สำหรับแก๊สน้ำตา (Tear Gas หรือ Lachrymatory Agent) ซึ่งเป็นชื่อเรียกของกลุ่มสารเคมีเช่น สเปรย์พริกไทย (pepper spray) แก๊ส CS (2-chlorobenzalmalononitrile หรือ o-chlorobenzylidenemalononitrile สูตรเคมี C10H5ClN2) แก๊ส CR (dibenz[b,f][1,4]oxazepine สูตรเคมี C13H9NO) แก๊ส CN (ω-chloroacetophenone สูตรเคมี C6H5COCH2Cl) แม้ว่าจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการเป็นอาวุธเคมีสำหรับควบคุมมวลชน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแก๊สน้ำตาเป็นอาวุธต้องห้ามตามข้อกำหนดในพิธีสารเจนีวา! แปลไทยให้เป็นไทยคือ แก๊สน้ำตาถูกห้ามไม่ให้ใช้ในสงครามแต่กลับถูกนำมาใช้ในการปราบปรามจลาจล ด้วยเหตุผลที่ว่ามันน่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าอาวุธเคมีชนิดอื่นเช่น แก๊สซารีน หรือ แก๊สวีเอกซ์ที่มีอานุภาพในการประหัตประหารสูงถึงขั้นนำมาใช้ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นที่ทราบกันดีว่า อาการ ตาพร่ามัวมองไม่ชัด น้ำตาและน้ำมูกไหล จมูกบวมแดง ปากไหม้และระคายเคือง แน่นหน้าอก อาการหายใจถี่ ผิวหนังไหม้เป็นผื่น คลื่นไส้ อาเจียน [4] เหล่านี้คืออาการของผู้ป่วยที่สัมผัสกับแก๊สน้ำตาในระยะสั้น แม้อาวุธเคมีชนิดนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อหวังผลในการคร่าชีวิตผู้คนแต่ หากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากอาจทำให้ตาบอดสนิทได้และอาจถึงขั้นเสียชีวิตหากโดนกระสุนแก๊สน้ำตายิงเข้าใส่โดยตรงในวิถีแนวราบซึ่งผิดต่อหลักข้อบังคับสากลในการใช้อาวุธเคมีควบคุมมวลชน [5]

จากการที่ผู้เขียนได้พยายามทบทวนวรรณกรรมเพื่อสืบค้นข้อมูลหาหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวจากการสัมผัสกับแก๊สน้ำตาพบว่าข้อมูลมีจำนวนจำกัดเนื่องจาก

1.งานวิจัยส่วนใหญ่ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตแก๊สน้ำตาซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงต่อผลงานวิจัยก่อให้เกิดความเคลือบแคลงในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ในวิชาชีพของนักวิจัย ซึ่งข้อกังขาเหล่านี้จะสามารถทำให้ทุเลาเบาบางลงได้ด้วยการตรวจสอบจากบุคคลภายนอก อย่างไรก็ตามแหล่งข้อมูลด้านความปลอดภัยของแก๊สน้ำตาส่วนใหญ่จะถูกนำเสนอจากบริษัทผู้ผลิตแต่เพียงฝ่ายเดียว

2.การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการสัมผัสแก๊สน้ำตากับผลต่อสุขภาพในระยะยาวมีน้อยมาก แม้จะมีรายงานผลการศึกษาด้านสุขภาพต่อการสัมผัสแก๊สน้ำตา CS อยู่หลายฉบับแต่ผลวิจัยเชิงลึกด้านสุขภาพเกี่ยวกับแก๊สน้ำตา CN ซึงมีพิษร้ายแรงกว่าแก๊สน้ำตา CS หลายเท่านั้นยังมีอยู่ไม่มาก [6]

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบระยะยาวจากการที่ผู้ชุมนุมทางการเมืองอาจได้รับจากการสูดดมหรือสัมผัสแก๊สน้ำตา เช่นมีการพบเนื้องอกในหนูทดลองปกติสายพันธุ์ Sprague-Dawley และ Wistar ที่สัมผัสกับแก๊สน้ำตา CS ในระดับความเข้มข้น 0, 50 และ 500 มิลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรติดต่อกันเป็นเวลาสี่อาทิตย์ [7] และสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือการนำเอาแก๊สน้ำตา CN ซึ่งมีระดับความเป็นพิษสูงกว่า CS หลายเท่ามาใช้ในการควบคุมมวลชน จากเหตุการจลาจลในอดีตพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการได้รับแก๊ส CN และแก๊ส CS จำนวนมาก [8-9] สำหรับตัวเลขความเข้มข้นของแก๊ส CS ที่อาจส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ใหญ่คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 50 มีค่าอยู่ที่ 25,000 – 150,000 มิลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อนาทีซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากผลการทดลองในสัตว์ [10] นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงผลกระทบของแก๊สน้ำตาที่มีต่อการเป็นโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) ของเด็กทารกที่นอนอยู่ในบ้านที่ถูกตำรวจยิงกระสุนแก๊สน้ำตาเข้าใส่ส่งผลให้ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 29 วัน [11]

แม้จะมีสื่อหลายสำนักได้นำเสนอแนวทางในการรับมือกับแก๊สน้ำตาไม่ว่าจะเป็นการนำเอาน้ำเกลือที่มีฤทธิ์เป็นด่างมาล้างตา หรือการนำสบู่มาล้างคราบแก๊สที่ติดอยู่บนผิวหนัง สิ่งที่ต้องระวังคือแนวปฏิบัติเหล่านี้เป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและไม่ได้ครอบคลุมถึงการเยียวยาผลกระทบอื่นๆที่จะตามมาซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลทันทีตอนนี้แต่อาจแสดงออกมาในรูปแบบของอาการเรื้อรังหลายสิบปีให้หลัง

เอกสารอ้างอิง :
[1] Strassler, R. B., 1998. The Landmark Thucydides: A Comprehensive Guide to the Peloponnesian War. ISBN 978-0-6848-2790-2.
[2] Russell, E., 2001. War and Nature: Fighting Humans and Insects with Chemicals from World War I. ISBN 0-521-79003-4.
[3] D’Amato, A.A., 1996. International law and political reality. Kluwer Law International. ISBN 90-411-0036-9.
[4] Heinrich U (September 2000). "Possible lethal effects of CS tear gas on Branch Davidians during the FBI raid on the Mount Carmel compound near Waco, Texas". Prepared for The Office of Special Counsel John C. Danforth.
[5] Hu H, Fine J, Epstein P, Kelsey K, Reynolds P, Walker B (August 1989). "Tear gas--harassing agent or toxic chemical weapon?". JAMA 262 (5): 660–3. doi:10.1001/jama.1989.03430050076030.
[6] Ballantyne, B. Riot control agents. Med Annu. 1977/1978:7-41.
[7] McNamara, B.P., Renne, R.A., Rozmiarek, H., Ford, D.F., Owens, E.J. 1973. A study of carcinogenicity. Edgewood Arsenal, Md: National Technical Information Service: Publication FB-TR-73027.
[8] Gonzales, T.A., Vance, M., Helpern, M., Umberger, C.J., 1957. Legal Medicine, Pathology and Toxicology. East Norwalk, Conn: Appleton-Century-Crofts.
[9] Stein, A.A., and Kirwan, W.E., 1964. Chloracetophenone (tear gas) poisoning: a clinic-pathologic report. J. Forensic. Sci., 9, 374-82.
[10] Sanford, J.P., 1976. Medical aspects of riot control (harassing) agents. Annu. Rev. Med. 27: 412-29.
[11] Park, S., Giammona, S.T., 1972. Toxic effects of tear gas on an infant following prolonged exposure. AJDC. 123: 245-6.




กำลังโหลดความคิดเห็น