เรื่องร้อนที่สุดของเดือนพฤศจิกายน 2556 ไม่มีเรื่องใดเกินร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯแล้วละพี่น้อง
จากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ดั้งเดิมที่รับหลักการวาระ 1 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2556 นั้นมีเพียงการนิรโทษกรรมมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ไม่รวมผู้สั่งการ ถูกแก้ไขในชั้นกรรมาธิการให้เป็นไปตามข้อเสนอของนายประยุทธ ศิริพาณิชย์เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ให้เป็นเสมือนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติที่เคยชะงักไปตั้งแต่เมื่อกลางปี 2555 หรือร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติที่เสนอโดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ที่มีหลักการคล้าย ๆ ล้างผลของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งจะเป็นผลให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย สามารถกลับบ้านได้อย่างเท่ ๆ แถมก่อให้เกิดสิทธิในการเรียกร้องเงินที่ถูกยึดให้ตกเป็นของแผ่นดิน 46,000 ล้านบาทคืน
แต่เพื่อไม่ให้น่าเกลียด ก็ต้องแก้ไขเป็นการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย รวมทั้งทหารทุกระดับ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชีวะด้วย ก็เลยทำให้เกิดแรงต่อต้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อแสดงจุดยืนของบรรดาแกนนำบางส่วนที่ไม่ต้องการให้นิรโทษรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ
เดิมทีแกนนำบางส่วนนี้ไม่ต้องการให้นิรโทษทหารด้วย แต่ตอนหลังไม่เห็นพูดถึงแล้ว คงโอเคกันแล้วมั้ง
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่านี่เป็นความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรโดยตรง
ดังที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่าเพื่อเป็นการ set zero !
ดูเหมือนว่างานนี้เครือข่ายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมั่นใจมาก เพราะมั่นใจได้ว่าทหารไม่คัดค้านแน่นอน เพราะได้รับนิรโทษตามร่างกฎหมายฉบับแก้ไขใหม่นี้ด้วย และในร่างฯใหม่นี้ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่นิรโทษผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
จะเดินสุดซอยอย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่ายังอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหญ่ที่เขาเดินมาตลอด 2 ปีเศษนับแต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรขึ้นนั่งบัลลังก์นายกรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์นี้ผมเรียกภาษาชาวบ้านง่าย ๆ ว่า...
“ไม่แต่เจ้า เอาใจทหาร”
จะบอกว่าเป็นการประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำใหม่กับชนชั้นนำเก่าก็ได้
มาดูร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับกรรมาธิการกันเต็ม ๆ ณ ที่นี้ขอเน้นเพียง 2 ประเด็น หนึ่งคือการก่อให้เกิดสิทธิแก่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ระเรียกร้องเงินที่ถูกยึดคืนไป อีกหนึ่งคือนัยที่จะนิรโทษคดีคอร์รัปชั่นทุกคดีที่ดำเนินการโดยป.ป.ช.ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาที่ร่างฯฉบับแก้ไขขยายออกไป
ในประเด็นได้เงินคืนอยากให้ดูการแก้ไขในมาตรา 4 และมาตรา 5 ที่แสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการให้เกิดสิทธิในดารเรียกร้อง เพราะจากร่างฯเดิมของนายวรชัย เหมะเขียนว่า
"การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น"
ถูกแก้เป็น...
"การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง"
ตัดคำว่า 'ทั้งสิ้น' แล้วเพิ่มประโยค 'อันเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง' ก็จะมีผล...
1. ผู้ชุมนุม หรือผู้แสดงออกทางการเมือง ได้นิรโทษไปแล้วไม่ได้สิทธิอื่นใด ไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไรอีก
2. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้นิรโทษไปแล้ว มีสิทธิเรียกร้องสิทธิและประโยชน์อื่น รวมทั้งเงินที่ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดิน ดอกเบี้ย หรือค่าเสียหายอื่น
ส่วนมาตรา 4 เติมเรื่อง 'หลักนิติธรรม' เข้ามา เพื่อเป็นฐานว่าเมื่อไม่มีความผิด ก็ตัองคืนทรัพย์
แต่มาตรา 5 คือแก่นแกนโดยแท้ !
ต่อไปเป็นประเด็นที่อาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำ ไม่ว่าการแก้ไขของกรรมาธิการตามข้อเสนอของนายประยุทธศิริพาณิชย์จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่การเขียนใหม่ในมาตรา 3 ที่ถ้าอ่านชั้นเดียวก็จะเข้าใจเพียงว่าต้องการนิรโทษคดีที่ดำเนินการโดยคตส.ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร แต่เขียนไปเขียนมา อาจมีผลเป็นการนิรโทษคดีคอร์รัปชั่นทุกคดีที่ดำเนินการโดยป.ป.ช.ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาที่ร่างฯฉบับแก้ไขขยายออกไป
เรื่องนี้ต้องอ่านตรงประโยคที่ว่า...
"...หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยการรัฐประการเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549"
Keyword คือคำที่ผมขีดเส้นใต้ไว้แล้วอ่านเป็นประโยครวมกันว่า...
“คณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยการรัฐประการเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549"
คือถ้ามีแต่ประโยค “องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยการรัฐประการเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549" ก็โอเคละครับ ว่าหมายถึงคตส.อย่างเดียว ไม่อาจแปลความเป็นอื่นได้ เพราะคตส.เป็นองค์กรใหม่ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น
แต่พอมีคำว่า “คณะบุคคล” เข้ามาแล้ว ร่างกฎหมายวรรคนี้ต้องอ่านแยกเป็น 2 ประเภทโดยมีคือว่า “หรือ” เชื่อมอยู่ คือ (1) องค์กรที่จัดตั้งโดยการรัฐประหารฯ และ (2) คณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยการรัฐประการ
ประเภทหลังนี่ยังอาจหมายความถึงป.ป.ช.ชุดปัจจุบันด้วย
เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งโดยประกาศคณะรัฐประหาร แม้จะหยิบมาจากรายชื่อที่ผ่านวุฒิสภามาแล้วก็ตาม !
ความที่เติมเข้ามานี้ ถ้ามีแต่คำว่า 'องค์กร...' อย่างเดียวก็ไม่มีปัญหา หมายถึงคตส.เท่านั้น เพราะเป็นองค์กรใหม่ ตั้งโดยคณะรัฐประหารแท้ ๆ แต่พอมีคำว่า 'คณะบุคคล...' อยู่ข้างหน้าก็อาจตีความได้ว่าหมายถึงทั้งป.ป.ช. (และก.ก.ต.) ชุดที่ตั้งโดยประกาศคณะรัฐประหารด้วยเช่นกัน แม้ว่าตัวองค์กรจะมีอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แต่คณะบุคคลที่ขับเคลื่อนองค์กรทั้งสองชุดปัจจุบันตั้งโดยคณะรัฐประหาร
ถ้าตีความเช่นนี้ คดีคอร์รัปชั่น (และคดีทุจริตเลือกตั้ง) ที่ถูกชี้มูลและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 โดย ป.ป.ช. (และ ก.ก.ต.) เป็นอันได้รับนิรโทษหมด !
ไม่ต้องพูดถึงคดีรถดับเพลิง เรือดับเพลิง ที่เริ่มคตส.มาเกี่ยวข้อง
แต่คดีจำนำข้าวที่ป.ป.ช.ดำเนินการอยู่ ก็หลุดด้วย ?
คดีบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ก็หลุดด้วย ??
ไม่ได้อ่านกฎหมายแบบหาเรื่องจะโจมตีฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนะครับ แต่อ่านตามหลักการโดยแท้ แม้จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าอ่านแบบนี้ถูกต้อง แต่ก็ต้องยอมรับใช่ไหมว่าก่อให้เกิดการอ้างสิทธิได้
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นทั้งหลายเฉยอยู่ไม่ได้แล้วละ !