xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (83)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*

(70) (ต่อ)

กระดูกสันหลังของคนเรานั้นเป็นรากฐานของทั้งกาย และจิต สมองคือส่วนปลายของกระดูกสันหลัง ทั่วทั้งสรีระล้วนหยั่งรากอยู่ในกระดูกสันหลัง หากกระดูกสันหลังอ่อนเยาว์ ตัวเราก็อ่อนเยาว์ หากกระดูกสันหลังชราภาพ ตัวเราก็ชราภาพ หากคนเราสามารถรักษากระดูกสันหลังของตนให้อ่อนเยาว์ได้ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะแก่เฒ่า หากกระดูกสันหลังของเรามีชีวิตชีวา เราจะมีจิตอันใสสว่างยิ่ง แต่หากกระดูกของเราหม่นมัว เราจะมีจิตเฉื่อยเนือย โยคะคือวิธีต่างๆ ที่มุ่งปลุกกระตุ้นทำให้กระดูกสันหลังของผู้ฝึกมีชีวิตชีวา สุกใส เปี่ยมประกาย อ่อนเยาว์ และกระปรี้กระเปร่า

กระดูกสันหลังนั้นมีจุดปลายอยู่สองด้าน ด้านต้นคือ จักระที่ 2 และด้านท้ายคือ จักระที่ 7 ด้านต้นของกระดูกสันหลังผูกตรึงอยู่กับโลกียวิสัย โดยที่เรื่องเพศคือสิ่งที่เป็นโลกียวิสัยที่สุดในตัวคนเรา ด้านท้ายในศีรษะนั้น เชื่อมต่อกับสิ่งสูงสุด นี่คือสองขั้วแห่งการดำรงอยู่ของคนเรา

จุดสำคัญทั้งหมดสำหรับโยคะก็คือ ทำอย่างไรจึงจะปลุกเร้าพลังให้เลื่อนขึ้นผ่านกระดูกสันหลัง เคลื่อนสู่เบื้องบน สัมผัสถึงภาวะอันจริงแท้ที่เป็นทั้งบรมสุข และนิพพานในตัวเอง โดยการพินิจตัวเราเองเป็นกระแสพลังหรือลำแสงที่พวยพุ่งจากจักระสู่จักระไต่ขึ้นมาตามกระดูกสันหลัง เราจะรู้สึกถึงความอบอุ่นผุดพลุ่งขึ้นในตัวเอง แลบันดาลความมีชีวิตชีวาขึ้นในตัวเรา เมื่อพลังแล่นสู่จักระที่ 7 เราจะรู้สึกสงบรำงับ และความสงบเย็นอย่างเต็มเปี่ยม ราวกับว่าพลังกำลังถูกปลดปล่อยสู่ห้วงจักรวาลผ่านศีรษะของเราที่เป็นช่องเสมือนดอกบัวสยายกลีบ

(71) “หรือในช่องว่างระหว่างกลาง จงรู้สึกถึงสิ่งนี้ดุจดังวชิระ”

ขยายความ วิธีนี้คล้ายคลึงกับวิธีก่อนหน้านี้มาก โดยมีข้อแตกต่างแค่ระหว่างจักระสู่จักระ เราอาจรู้สึกถึงลำแสงที่พุ่งผ่านดุจเป็นเช่นสายฟ้าคือพุ่งปราดโดยเร็ว ถ้ารู้สึกอย่างนั้นก็ให้ฝึกวิธีนี้ แต่ถ้ารู้สึกว่าพลังหรือลำแสงพุ่งขึ้นอย่างเนิบนาบ ก็ให้ฝึกวิธีก่อนหน้านี้แทน จงเลือกฝึกวิธีที่ฝึกแล้วทำให้เราปลอดโปร่งเบาสบายเสมอ แต่จงหลีกเลี่ยงวิธีที่ฝึกแล้วทำให้ว้าวุ่นใจ เกินกำลัง เพราะนั่นแสดงว่าวิธีนั้นไม่เหมาะกับตัวเรา

(72) “จงรู้สึกถึงจักรวาลประดุจดังการปรากฏชั่วนิรันดร์อันโปร่งใส”

ขยายความ วิธีนี้เหมาะกับคนที่สามารถจินตนาการเกี่ยวกับแสงได้อย่างเห็นสีสันตระการตา หรือเหมาะกับคนที่ชอบฝึกกสิณไฟหรือฝึก เพ่งดูเทียนไขและเปลวเพลิงไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายด้วยท่วงทีถนอมรัก ด้วยความจ่ดจ่อเต็มถ้วน ด้วยดวงใจเปี่ยมความรู้สึก จนกระทั่งผู้นั้นสามารถพบเห็นสีสันใหม่ๆ รอบเปลวเพลิง และหลงเสน่ห์ในสีสันแห่งแสงของมัน เนื่องจากแสงคงอยู่ทุกแห่งหนในรูปทรงสัณฐานนับไม่ถ้วน หากเราสามารถพินิจดูสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติรอบตัวจนตระหนักถึงลำแสงที่แผ่พุ่งออกมาจากสิ่งนั้น ในที่สุดจิตของเราจะสงบนิ่งอย่างบริบูรณ์ เมื่อเราได้พบเห็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ ซึ่งคงอยู่ที่นั่นมาตลอด ทว่าเป็นสิ่งที่เราไม่เคยตระหนักถึงมันเลย

แต่ยามใดที่เรารู้สึกถึงการปรากฏของการดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ เราจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในนั้นไปโดยปริยาย

(73) “ในฤดูร้อน ยามที่เธอเห็นผืนฟ้าทั้งหมดกระจ่างอย่างไร้ขอบเขต จงเข้าสู่ความกระจ่างนั้น”

ขยายความ จงกลายเป็นความกระจ่างของท้องฟ้าที่ไร้เมฆ วิธีนี้เป็นการภาวนาโดยใช้ท้องฟ้ายามฤดูร้อนที่โล่งว่างกระจ่าง ทำสมาธิโดยเข้าสู่ความกระจ่างนั้น กลายเป็นความกระจ่างของท้องฟ้านั้น โดยปกติเรามักจะฝึกภาวนาแบบนี้ด้วยการลืมตา แล้วมองไปที่ฟ้ากว้างว่างโล่งนั้นอย่างสบายๆ และเฝ้าดูจิต ดูความคิด เกิดดับที่ค่อยๆ เนิ่นช้าลงตามลำดับ แต่ถ้าวันใดที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆ ไม่กระจ่าง ไม่ว่าง ไม่โล่ง ก็จงหลับตา ทำสมาธิ และเข้าสู่ “ท้องฟ้าภายใน” แทน แต่ก็ยังคงเฝ้าดูจิต ดูความคิดเกิดดับเหมือนเดิม

(74) “ศักติ...จงเห็นอวกาศทั้งปวงราวกับถูกดูดซับอยู่ในหัวของเราเองอย่างสว่างจ้า”

ขยายความ จงรู้สึกถึงเอกภพทั้งหมดในหัวของเราเอง โดยการหลับตา แล้วจินตนาการว่าหัวของเราขยายใหญ่ขึ้นจากภายในใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มห้องที่เราอยู่ และขยายจนเต็มบ้านหรือเต็มตึก หากฝึกจินตนาการเช่นนี้จนชำนาญแล้ว จึงค่อยมาลองจินตนาการว่าท้องฟ้าทั้งหมดได้ถูกดูดซับโดยหัวของเราที่ใหญ่มโหฬารเพียงนั้น จนกระทั่ง ความคิดหายวับไป เนื่องเพราะใจหรือความคิดอยู่ได้ แต่ในที่คับแคบ มิใช่ที่กว้างใหญ่มโหฬารอย่างเอกภาพ

(75) “ยามตื่น ยามนอน ยามฝัน จงตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นแสง”

ขยายความ ต้องฝึกตระหนักรู้ว่า ตัวเองเป็นแสงในยามตื่นให้ได้ก่อน เพราะการฝึกตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นแสงในยามนอนหลับ และในยามฝันนั้นยากมาก ไม่ใช่ทุกคนที่ฝึกวิธีนี้ได้ วิธีนี้อาจเหมาะสำหรับคนที่เป็นศิลปิน หรือคนช่างฝันเท่านั้นก็เป็นได้

(76) “ในตอนฝนตกระหว่างคืนที่มืดมิด จงเข้าสู่ความดำมืดนั้น ในฐานะที่เป็นรูปของรูปทั้งหลาย”

ขยายความ จงสลายไปในความมืดมิด นี่เป็นวิธีฝึกภาวนาในห้องมืด หรือใช้ความดำมืดที่มืดสนิทในตอนนั้น โน้มนำจิตของเราเข้าสู่สมาธิภาวนา

(77) “เมื่อไม่มีคืนฝนตกที่ไร้จันทร์ จงปิดตา และค้นหาความดำมืดต่อหน้าตนเอง เปิดตา เห็นความดำมืด แล้วความพลาดพลั้งจักหายไปตลอดกาล”

ขยายความ วิธีนี้ฝึกหลับตายลความดำมืด แล้วค่อยเปิดตามองความดำมืดที่เห็นจากภายในนั้น เอาความดำมืดที่เห็นข้างในออกมาสู่ข้างนอก รวมทั้งความดำมืดในจิตใจที่เกิดจากความผิดพลาดในอดีตด้วย หากเอาความดำมืดเหล่านั้นออกมาข้างนอกได้ ปมในใจเหล่านั้นก็จะค่อยๆ หายไปด้วย จนกระทั่งมันหายไปตลอดกาล

(78) “เมื่อใดก็ตามที่สติของเธอถูกจุดติด ณ จุดนี้แหละ จงมีประสบการณ์”

ขยายความ จงหมั่นพัฒนาความมีสติรู้ตัวให้เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยที่เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดสติขึ้นมาว่า กำลังหลงไปคิดอยู่ก็ให้รู้ตัว และมีประสบการณ์อยู่กับ “สติ” ที่รู้ตัวว่าเพิ่งหลงไปคิดนั้น

(79) “เพ่งจิตไปที่เปลวเพลิงที่พุ่งผลาญรูปของเธอจากปลายเท้า จนกระทั่งร่างกายมอดไหม้เป็นเถ้าถ่าน แต่ไม่ใช่เธอ”

ขยายความ ฝึกเอาชนะความตายโดยการเข้าสู่ภาวะไร้ตาย โดยการฝึกอสุภกรรมฐาน โดยให้หัดมองศพคนตายที่กำลังถูกเผาโดยไม่ต้องคิด แค่มองดูเฉยๆ แค่รู้ แค่เห็นเฉยๆ เท่านั้น จากนั้นให้ฝึกกรรมฐานนี้โดยนอนกับพื้นราวกับตัวเองเป็นศพอยู่ แล้วจินตนาการว่าเปลวไฟกำลังเผาร่างกายของเราจากปลายเท้าขึ้นมาให้ตัวเราเป็นแค่ผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็นร่างกายของเราที่ค่อยๆ ถูกเปลวเพลิงเผาผลาญจนเป็นเถ้าถ่าน นี่เป็นวิธีการฝึกเพื่อเข้าถึงภาวะไร้อัตตาที่ดีมากวิธีหนึ่ง เพราะผู้ฝึกจะค่อยๆ ปล่อยวางอุปทานความยึดมั่นถือมั่นในรูปหรือกายของตนไปเอง เมื่อฝึกกรรมฐานนี้บ่อยๆ จนชำนาญ (ยังมีต่อ)

www.dragon-press.com
กำลังโหลดความคิดเห็น