มีข่าวเกี่ยวกับงบประมาณสหรัฐฯ ซึ่งพรรครีพับลิกันที่มีวุฒิสมาชิกเสียงข้างมากจะไม่ผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นที่มาของวลี Government Shut Down จะมีการปิดส่วนราชการของสหรัฐฯ บางส่วนลงชั่วคราว เช่น สถานที่ท่องเที่ยว วนอุทยานและพิพิธภัณฑ์สถานต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ของสถานที่ท่องเที่ยวตกงาน ไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นการเอาเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งมาเป็นตัวประกัน แต่ไม่พูดถึงเรื่องที่เคยเสนอว่าจะลดฐานทัพที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก รวมทั้งลดงบประมาณด้านอวกาศ
การเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่ต่างอะไรกับการเมืองประเทศต่างๆ รวมทั้งการเมืองของประเทศไทย ทำทุกอย่างขอให้ได้มีเงินมาใช้ ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่คำนึงถึง
นโยบาย Obama Care เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ประกันสุขภาพทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้น รัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาก็คล้ายๆ กับรัฐบาลไทย ที่มีนายทุนสนับสนุน ผู้ที่จะรับ Obama Care จะต้องซื้อประกันกับบริษัทประกันด้วย ทำให้คิดว่าโอบามาทำเพื่อนายทุนหรือทำเพื่อประชาชนคนอเมริกันกันแน่ คล้ายกับนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เอาภาษีของชาวบ้าน ไปเป็นค่าส่วนลดให้แก่คนซื้อรถคันแรกคันละแสนบาททำให้ยอดขายรถคันแรกพุ่ง ทำให้การจราจรมีปัญหา รถติดยาว แต่ตอนหลังคนที่ซื้อรถไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถได้ ถูกยึดกลับมาเป็นจำนวนมาก คงจะมีปัญหาทางการเงินตามมา ยังไม่ทราบผลว่าจะเป็นอย่างไร ลองตรองดูรัฐบาลเขาทำเพื่อประชาชน หรือเอาประชาชนมาอ้างหรือทำเพื่อนายทุนที่ผลิตขายรถยนต์และอุปกรณ์กันแน่ประชาชนก็ไม่ได้ซื้อรถราคาถูกลง เพราะคนขายรถยนต์เขาก็บวกราคารถขึ้นไปอีก
การเงินการคลังของประเทศสหรัฐฯ จึงวนเวียนอยู่กับการเพิ่มเพดานหนี้ (Debt Ceiling) และการพิมพ์เงินออกมาใช้ (Quantitative Easing-QE) ตลอดเวลา
การเพิ่มเพดานหนี้อย่างมีนัยสำคัญเริ่มมาตั้งแต่ปี 2000 มาถึงทุกวันนี้ยังไม่คิดจะเลิกกู้เงิน (เพิ่มเพดานหนี้) มาใช้
สังเกตว่าเพดานหนี้เริ่มพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังปี 2000 (ปีที่มีการพังทลายของตลาดแนสแดกซ์และเริ่มการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐ)
การพิมพ์เงินออกมาใช้ (QE) เริ่มเมื่อปี 2008 ทุกวันนี้ก็ยังไม่คิดจะเลิกพิมพ์เงินออกมาใช้เช่นกัน
การพิมพ์เงินออกมาใช้ ครั้งแรกในปี 2008
ตามตาราง พิมพ์เงินออกมาใช้ครั้งแรก (QE1) เป็นจำนวนเงิน 1.725 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ครั้งที่ 2 (QE2) 0.767 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ครั้งที่ 3 (QE3) พิมพ์ออกมาทุกเดือนตอนแรกบอกว่าจะพิมพ์ออกมาเดือนละ 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่พิมพ์จริง 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยังทราบว่าจะหยุดพิมพ์ออกมาใช้เมื่อใด
รวมพิมพ์ออกมา 3 ครั้งเป็นเงินประมาณ 3.452 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
เกิดอะไรขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกา
ต้นเหตุมาจากการพังทลายของตลาดหุ้นแนสแดกซ์ในปี 2000-2002 ที่ตลาดหุ้นพังทลายลงมา ดัชนีตลาดหุ้นตกลงถึง 78 เปอร์เซ็นต์
แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของตลาดหุ้นแนสแดกซ์และค่าเงินเหรียญสหรัฐ ตลาดหุ้นพังทลาย ทำให้ค่าเงินพังทลายตามมาในเวลาเดียวกัน
ตลาดหุ้นประเทศไหนพังทลาย จะส่งผลให้ค่าเงินของประเทศนั้นพังทลายตามลงมาเช่นเดียวกัน
การพังทลายของตลาดแนสแดกซ์ในปี 2000 ที่ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหายพังทลายตามมา จากปี 2001-2008 ค่าเงินเหรียญสหรัฐตกลงถึง 48 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินสกุลเงินยูโรสกุลเงินยูโรเป็นสกุลเงินที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศสหรัฐฯ ทำให้สภาพคล่องของอเมริกาเสียหาย ทำให้เอกชนล้มละลายและล้มลงเป็นจำนวนมาก รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ไปพยุงสถาบันการเงินและบริษัทประกันภัยที่ล้มลง เป็นปัญหาต่องบประมาณรายจ่ายของประเทศ ทำให้มีปัญหาในช่วงพิจารณางบประมาณทุกปี
ทางสหรัฐฯ เริ่มพิมพ์เงินออกมาใช้ในปี 2008 ตามความเป็นจริงแล้วการพิมพ์เงินออกมาใช้ จะทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐขาดความเชื่อมั่น อ่อนค่าลง แต่ปรากฏว่าเงินเหรียญสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยเริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่กลางปี 2008 ถึงปัจจุบัน
เป็นไปตามปัจจัยทางเทคนิค เงินเหรียญสหรัฐเป็นสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก สิ่งของที่ใหญ่เมื่อมันได้เปลี่ยนทิศแล้ว ยากที่มันจะกลับมาสู่ทิศทางเดิมได้ เช่นเดียวกับเรื่อไททานิกที่เคยชนภูเขาน้ำแข็งเมื่อ 100 ปีมาแล้วนั่นเอง ทั้งที่รู้ล่วงหน้า ก็ไม่สามารถเบนหัวเรือออกพ้นจากภูเขาน้ำแข็งได้
Government Shut Down เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2000 สภาพคล่องของรัฐบาลสหรัฐฯ จะดีได้อย่างไร เนื่องจากประเทศก่อหนี้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา และก็มีการพิมพ์เงินออกมาใช้ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม 2013 รัฐบาลนายโอบามากับสภาก็จะมีการพิจารณาการเพิ่มเพดานหนี้อีกรอบ คอยตามดูกันต่อไป
อย่างที่นำเสนอไว้ในช่วงต้น นักการเมืองทำทุกอย่างขอให้ได้มีเงินมาใช้ ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่คำนึงถึงเรื่องคงจะผ่านไปได้เหมือนทุกครั้ง
ระหว่างปี 1999-2001 ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกา 2 อย่าง อย่างแรกคือการโจมตีตลาดแนสแดกซ์ ในปี 1999 จนตลาดหุ้นเริ่มพังทลายลงในปี 2000 และค่าเงินเหรียญสหรัฐเริ่มพังทลายตามมา อย่างที่ 2 คือการโจมตีศูนย์การค้าตึกแฝด World Trade Center (WTC) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001
ความเสียหายทั้ง 2 เหตุการณ์นี้เปรียบกันไม่ได้ ผู้คนรู้และเห็นด้วยกับตาในเหตุการณ์ 911 ที่ตึกถูกถล่มลง 2 ตึก คนตายประมาณ 3,000 คน ความเสียหายทางทรัพย์สินประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทางสหรัฐอเมริกาว่าเป็นความเสียหายเชิงสัญลักษณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้ แต่ผู้คนไม่ทราบว่ามีการโจมตีตลาดหุ้นแนสแดกซ์ ที่ทำความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ประเทศสหรัฐอเมริกาและโลกแรง
มีผู้คำนวณความเสียหายทางทรัพย์สินและเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ ว่าไม่ต่ำกว่า 7-8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐทำให้เงินเฟ้อแผ่กระจายไปทั่วโลก ราคาน้ำมันเพิ่มจาก 18 มาเป็น 145 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาทองคำสูงขึ้นจาก 260 มาเป็น 1,900 เหรียญต่อเอานซ์ราคาสินค้าและบริการทุกอย่างเพิ่มขึ้นไปด้วยกัน ก่อความเดือดร้อนไปทั่วโลก ทุกประเทศต่างได้รับความเสียหายจากการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐ หลายประเทศออกมาประท้วงเดินขบวนกัน รวมทั้งการเดินขบวนในประเทศสหรัฐอเมริกา Occupy Wall Street ในปี 2011
การโจมตี WTC สหรัฐฯ บอกว่าเป็นความเสียหายทางสัญลักษณ์ แต่ความเสียหายของค่าเงินเหรียญสหรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับเงินยูโร ที่ตกลงถึง 48 เปอร์เซ็นต์ เงินเฟ้อเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่ความเสียหายอะไรของสหรัฯ เลยหรือ
เงินที่ไหลออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ค่าเงินและตลาดหุ้นประเทศต่างๆ ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น แล้วพังทลายลงในปี 2008 ที่ทราบกันในชื่อ Hamburger Crisis
Hamburger Crisis มีต้นเหตุจากการพังทลายของตลาดแนสแดกซ์และค่าเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000 เป็นเบื้องต้นนั่นเอง
ขอแก้ไขความเข้าใจบางอย่าง
ดูตามข้อมูลดัชนีตลาดแนสแดกซ์และค่าเงินเหรียญสหรัฐที่นำเสนอข้างต้น วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดขึ้นในปี 2008 ตามที่มีการนำเสนอตามๆ กันมา วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดในปี 1999-2000 ปี 2008 เป็นปีที่เศรษฐกิจยุติลงระดับหนึ่ง คล้ายกับประเทศไทย วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นในปี 2540 แต่เกิดขึ้นในปี 2536-2537 จนสภาพคล่องเสียหายหนัก ยอมยกธงขาวยอมแพ้ต่อการปกป้องค่าเงินบาท ยอมจำนน ยอมเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ ยอมลอยค่าเงินในปี 2540
ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ต่างชาติที่ไปลงทุนในตราสาร CDO ‘Collateralized Debt Obligation’ ที่สหรัฐฯ ก็ถูกชักดาบมารอบหนึ่งแล้ว
การเพิ่มเพดานหนี้และการพิมพ์เงินออกมาใช้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตสหรัฐฯ ยังอยู่
การพิจารณาความมั่งคั่งไม่ได้พิจารณาที่ทรัพยากรส่วนตน ที่เป็นคนส่วนน้อยของระบบ แต่ต้องพิจารณาที่ทรัพยากรของระบบ ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของระบบ แท้จริงแล้วโลกของทุนเป็นโลกของความยากจน เนื่องจากทรัพยากรของระบบเหลือเพียง 1 ส่วนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบดูดเอาไปแทบหมด โลกของธรรมต่างหากที่มั่งคั่ง เนื่องจากทรัพยากรของระบบเหลือมาก ทรัพยากรของระบบเหลือถึง 99 ส่วน
ดูจากหนี้หรือเพดานหนี้ที่เกิดขึ้น ทำให้ทราบว่าประเทศสหรัฐฯ คงจะประสบปัญหาเรื่องงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน คงเป็นเรื่องลำบากสำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ยิ่งเพดานหนี้สูงเท่าใดก็ต้องมีภาระดอกเบี้ยชำระสูงมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากต้องมีงบประมาณในการชำระค่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกปี
อเมริกาลำบากมาหลายปีแล้ว และจะเดินหน้าลำบากต่อไปไม่สิ้นสุดถ้ายังไม่ตัดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยอย่างจริงจัง ไม่ตัดสิ่งผิดปกติที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจออก ก็จะต้องเกิดการผิดนัดชำระหนี้ และเดินหน้าเสื่อมลงไม่รู้จบ
http://twitter.com/indexthai2
indexthai2@gmail.com