xs
xsm
sm
md
lg

สภาผ่านกรอบFTAไทย-อียู อสม.เฮพรบ.สาธารณสุขฯฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวานนี้ (2 ต.ค.)ได้มีการพิจารณากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยพิจารณาความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลี และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการแก้ไขความคลาดเคลื่อนในตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดสินค้าของไทย ที่ครม.เป็นผู้เสนอ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ได้ชี้แจงสาระสำคัญของ ร่าง ความตกลงดังกล่าวว่า เป็นการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐทั้ง 2 ประเทศ ต้องการให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างกัน และเป็นการต่อยอดสิทธิ และพันธะกรณี ของไทยและชิลี ภายใต้องค์กรการค้าโลก(WTO) ความตกลงระดับพหุภาคี และระดับภูมิภาค ที่จะแก้ไขในเรื่องของภาษี ซึ่งจะส่งผลดีกับไทย เพราะจะทำให้ขยายตลาดการค้าของไทยสู่อเมริกาใต้ เนื่องจากชิลีเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากบราซิล และอาร์เจนตินา
ขณะที่ไทยจะเป็นตลาดการค้าให้กับชิลีสู่อาเซียน และถือเป็นโอกาสดีของไทยที่จะได้ลงนามความร่วมมือในโอกาสที่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐชิลีจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างบนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
สำหรับการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกรอบความตกลงดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายตลาดการค้าเพิ่มขึ้นจากเดิมไปสู่อเมริกาใต้ ขณะที่สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตถึงข้อกำหนดในความตกลงฉบับนี้ ที่ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบหลายประการ อีกทั้งไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเร่งรีบนำเข้าสู่การพิจารณาในวันนี้ (2 ต.ค.) ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาขาดความรอบคอบ อย่างไรก็ตาม หลังการอภิปราย ที่ประชุมมีมติ 464 ต่อ 6 เห็นชอบด้วยกรอบดังกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐสภายังมีมติเสียงข้างมาก 446 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบ ร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป(European Free Trade Association : EFTA) ตามที่ครม. เป็นผู้เสนอ หลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตและแสดงความห่วงใยว่า สมาคามการค้าเสรีแห่งยุโรป จะพยายามหาทางต่ออายุสิทธิบัตรยาออกไปเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลให้คนไทยต้องบริโภคยาแพงเกินไป
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเมินได้ว่าการเจรจาระหว่าง อียูกับไทย หลายครั้งในอนาคตทางอียูจะแสดงท่าทีที่ต้องการขอขยายอายุสิทธิบัตรยาออกไปให้นานขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ มีความละเอียดอ่อน และหัวใจที่สุดของกรอบการเจรจาของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น ทีมเจรจาของไทยและรัฐบาล จะต้องแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งออกไปว่า จะไม่ยอมให้มีการต่ออายุสิทธิบัตรยาในทุกกรณี เพราะถ้ายอมให้ต่ออายุสิทธิบัตรยาออกไปอีก จะส่งผลให้คนไทยบริโภคยาแพงขึ้น
"ที่ผ่านมาผู้ผลิตยามักอ้างว่า การขึ้นทะเบียนตำรับยาในไทย ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้มีข้ออ้างว่าจะขอใช้เวลาที่ล่าช้าในส่วนนี้ เพื่อขอขยายอายุสิทธิบัตรยาออกไปอีก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและทีมเจรจาต้องมีจุดยืนให้หนักแน่นว่า จะปฏิเสธการต่ออายุสิทธิบัตรยาของอียู ในทุกทาง แม้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอียู ที่มากถึงประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นสิ่งที่ไทยต้องให้ความสำคัญ แต่ส่วนตัวคิดว่าการเข้าถึงยาเพื่อรักษาสุขภาพของประชาชนคนไทย ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน”
ด้านนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า การจะมาให้เปิดเผยท่าทีการเจรจาขณะนี้ เห็นว่าจะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และผิดธรรมเนียม แต่ยืนยันว่า รัฐบาลและทีมเจรจาของไทยให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ในฐานะแม่งาน และกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้เจรจา ได้ทำงานร่วมกันมาตลอด และได้รับฟังข้อห่วงใยของภาคประชาชนเต็มที่ เพื่อไม่ให้ไทยเสียประโยชน์ ซึ่งการเจรจาการค้าเสรีกับอียู คิดว่าต้องมีการเจรจาร่วมกันอีก 7-8 ครั้ง รวมแล้วต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี

**สภาฯผ่านพ.ร.บ.สาธารณสุขชุมชน
ต่อมาเวลา 17.30 น. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การสาธารณสุขชุมชน หลังจากที่คณะกรรมาธิการร่วม ส.ส.และส.ว. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งเลื่อนร่างพ.ร.บ.ขึ้นมาพิจารณาในครั้งนี้ เนื่องจากแรงกดดันจากกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) จากทั่วประเทศ ที่เดินทางมาชุมนุม รอการพิจารณาร่างฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และที่รัฐสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สภาเคยผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บงดังกล่าว แต่ปรากฏว่า วุฒิสภาได้มีมติไม่เห็นชอบ จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน โดยคณะกรรมาธิการร่วม ได้มีการแก้ไขถ้อยคำ จากร่างฯเดิม ที่ให้ อสม. สามารถทำการตรวจ และวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ เปลี่ยนเป็น "การบำบัดโรคเบื้องต้น" เป็นไปตามที่กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญท้วงติงว่า อสม.ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเหมือนแพทย์และพยาบาล ที่ผ่านหลักสูตรการเรียนและฝึกอบรมเฉพาะด้านมาแล้ว ขณะที่อสม.เป็นกลุ่มอาสาสมัคร ความเชี่ยวชาญจึงไม่เทียบเท่า จึงควรใช้คำว่า บำบัดโรคเบื้องต้นก่อนส่งให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจวินิจฉัยต่อไป
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่สมาชิกได้พิจารณา กลุ่มอสม. ที่เดินทางมาคอยฟังผลการพิจารณาที่บริเวณอาคารรัฐสภา1 อย่างใจจดจ่อ จนเมื่อที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนนเอกฉันท์ 382 เสียง ทำให้กลุ่มอสม.ต่างส่งเสียงเฮ ด้วยความดีใจ และขั้นตอนหลังจากนี้ จะนำส่งให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรามาภิไธย ให้มีผลบังคับใช้หลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น