xs
xsm
sm
md
lg

ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กเล็ก พัฒนาสุขภาพกายสุขภาพจิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงโครงการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลคุณภาพ –ปลอดโรค ปี 2556 ว่า รัฐบาลมีนโยบายดูแลประชาชนชาวไทยตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กปฐมวัย วัยเรียน วัยทำงาน และวัยสูงอายุ โดยในกลุ่มเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีปีละประมาณ 6 ล้านคน เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของการเจริญเติบโต และพัฒนาการทุกๆด้าน ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานคุณภาพชีวิต จิตใจ ของบุคคลเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ให้เป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศสืบไป จึงมีนโยบายเร่งยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กกลุ่มนี้ ให้ได้รับการพัฒนาครอบคลุม ครบทุกด้านทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ คุณธรรม จริยธรรม อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง เปรียบเสมือนเป็นการลงทุน เพื่ออนาคตของประเทศ
ทั้งนี้รัฐบาลจะเร่งยกมาตรฐานศูนย์เด็กเล็ก ที่มีประมาณ 20,000 แห่ง และโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศที่มีประมาณ 26,000 แห่ง รวม 46,000 แห่ง เป็นสถานที่ปลอดโรคติดต่อ มีความปลอดภัยต่อเด็ก เด็กได้รับการดูแลเลี้ยงดูตามหลักวิชาการ ทั้งเรื่องโภชนาการ ความสะอาด พัฒนาการสติปัญญา อารมณ์สังคม สร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครอง ในการนำบุตรหลานเข้ามาสู่ระบบศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ระบบการศึกษาสมบูรณ์แบบ โดยได้ให้ 3 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ ทำงานบูรณาการกันอย่างต่อเนื่อง
ด้านนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลต่างๆ ให้ปลอดโรคและน่าอยู่ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นมาก เนื่องจากถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็ก และเด็กใช้ชีวิตช่วงกลางวันร่วมกัน หากเด็กคนใดคนหนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ เช่น โรคไข้หวัด โรคมือ เท้า ปาก โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น จะติดกันง่ายและรวดเร็ว ทำให้เด็กต้องหยุดเรียน และอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตร่างกายและสมองได้ ในการพัฒนาครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้บูรณาการงาน 3 กรม ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต เพื่อดูแลเด็ก ทั้งเรื่องความสะอาดสถานที่ โภชนาการ เครื่องเล่นเด็กที่กระตุ้นพัฒนาเด็ก การป้องกันโรค โดยเน้น 5 โรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก ได้แก่ ไข้หวัด ซึ่งเด็กป่วยบ่อยที่สุด
และในเขตเมืองพบเฉลี่ยคนละ 5-8 ครั้งต่อปี ในเขตชนบทเฉลี่ยละ 3-5 ครั้งต่อปี รองลงมาคือ โรคมือเท้าปาก โรคสุกใส โรคตาแดง และโรคอุจจาระร่วง โดยอบรมครูพี่เลี้ยงและจัดทำคู่มือการดูแลเด็กเบื้องต้น ในปี 2556 นี้ ดำเนินการในศูนย์เด็กเล็กครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว จะเริ่มดำเนินการในโรงเรียนอนุบาลต่อไป ตั้งเป้าครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายใน พ.ศ. 2563
กำลังโหลดความคิดเห็น