xs
xsm
sm
md
lg

“เพ้ง”โวย!ปรมาณูยังแค่ 21 เท่า ครม.จวกสารปรอท29เท่า"อ่าวพร้าว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(20 ส.ค.)แหล่งข่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการนำเสนอรายงานผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม บริเวณอ่าวพร้าว จ.ระยอง หลังจากที่เกิดเหตุน้ำมันรั่ว ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษรายงานว่าตรวจพบค่าสารปรอทเกินค่ามาตรฐานถึง 29 เท่า
ทำให้นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงานที่ร่วมประชุมอยู่ด้วยนั้นถามถึงตัวเลขดังกล่าวว่า มาจากที่ไหน เพราะตัวเลขนั้นไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากในการวัดค่าสารปรอทในน้ำมันดิบจากต่างประเทศปรากฎว่ามีค่าปรอทเกินค่ามาตรฐานเพียง 20 เท่า และไม่เคยเกินไปกว่า 28 เท่า ดังนั้นการที่มีน้ำมันรั่วก็ต้องละลายไปกับน้ำจนเจือจาง และต้องมีค่าน้อยกว่าที่ระบุไว้แน่นอน จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดกรมควบคุมมลพิษของไทยจึงวัดได้ผลเช่นนั้น มีความผิดพลาดในกระบวนการตรวจวัดอย่างไรหรือไม่ เช่นเดียวกันที่อ่าวทับทิมที่มีการตรวจพบสารปรอททั้งที่ไม่ใช้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้นจึงขอให้มีการตรวจสอบกระบวนการว่าการตรวจวัดแล้วได้ตัวเลข 29 เท่านั้นมาได้อย่างไร และหลังจากที่ตนสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญทั้งจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ระบุเช่นเดียวกันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุระเบิดปรมาณูที่นางาซากิยังวัดค่าสารปรอทได้ว่ามีค่าปรอทเกินค่ามาตรฐานไป 21 เท่า
ขณะที่ นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับค่าสารปรอทมาก่อน จึงระบุไม่ได้ว่าตัวเลข 29 เท่านั้น มีอยู่ก่อนแล้วจากปัจจัยอื่นหรือไม่ จึงแนะว่าจะต้องมีสถิติเพื่อตรวจหาระดับสารปรอทในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจปัสสาวะของอาสาสมัครในพื้นที่พบว่ามี 1 รายที่มีค่าปรอทในร่างกายสูงกว่าปกติ แต่ไม่แสดงอาการ จึงเชื่อว่ามีการสะสมในร่างกายอยู่แล้ว จึงตั้งข้อสังเกตว่าเกิดมาจากสาเหตุใด
ด้าน นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์รมว.ท่องเที่ยวและการกีฬาระบุว่า ตนเห็นด้วยกับรมว.พลังงาน และไม่ควรปล่อยให้สังคมเกิดความสับสน เพราะจะกลายเป๋นการซ้ำเติมคนในพื้นที่และเป็นการทำลายเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย ตนจึงขอเสนอว่าก่อนมีการแถลงข่าวใดๆ จะต้องมีการปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
อย่างไรก็ตาม การนำเสนอรายงานโดยกระทรวงทรัพย์ฯนั้น ได้ถูกถอนออกจากการประชุม โดยจะไปตรวจสอบถึงกระบวนการตรวจวัดและที่มาต่างๆ ให้ถูกต้องตามหลักความเป็นจริงก่อน แล้วจะนำมาเสนอใหม่อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น