xs
xsm
sm
md
lg

'แบล็กเบอร์รี'วิกฤต'จ่อ'ขายกิจการ นักวิเคราะห์สำทับยากจะหาคนซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ – “แบล็กเบอร์รี” ตั้งคณะกรรมการพิจารณา “ทางเลือกทางยุทธศาสตร์” สำหรับอนาคตของบริษัท ที่อาจรวมถึงการขายกิจการด้วย ขณะที่พวกนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตปัญหายอดขายเข็นไม่ขึ้น ยุทธศาสตร์“แป้ก” และผลิตภัณฑ์ขาดความเร้าใจ อาจทำให้แบล็กเบอร์รี “ขายยาก” กระนั้น มีการพาดพิงถึงไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ก อเมซอน เลโนโว และหัวเว่ย ในบรรดารายชื่อผู้ที่อาจสนใจเกี่ยวดองกับผู้บุกเบิกสมาร์ทโฟนแห่งแคนาดารายนี้
บริษัทยักษ์ใหญ่จากแคนาดาซึ่งเคยเป็นผู้นำหน้าในด้านเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (12) ว่า คณะกรรมการที่จะมีทิโมธี แดตเทลส์ อดีตผู้บริหารระดับสูงของโกลด์แมน แซคส์ เป็นประธาน จะพิจารณาทางเลือกต่างๆ เป็นต้นว่า การร่วมทุน การเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ การขายกิจการ หรือการทำธุรกรรมรูปแบบอื่นๆ
ขณะที่ เปรม วัตซา ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของแฟร์แฟกซ์ ไฟแนนเชียล ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของแบล็กเบอร์รี ประกาศลาออกจากคณะกรรมการบริหารเพื่อป้องกันผลประโยชน์ขัดแย้งในระหว่างกระบวนการสรรหาทางเลือก
จากข้อมูลของอินเตอร์เนชันแนล ดาตา คอร์เปอเรชัน (ไอดีซี) ส่วนแบ่งตลาดโลกของแบล็กเบอร์รีหดเหลือ 3.7% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนับจากมีการเก็บข้อมูล ขณะที่สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 80%
แม้เป็นผู้บุกเบิกวัฒนธรรมการใช้สมาร์ทโฟนตั้งแต่ปี 1999 แต่ผู้ใช้แบล็กเบอร์รีมากมายได้ปันใจไปหาไอโฟนของแอปเปิลนับจากเปิดตัวในปี 2007 และทำให้ผู้ใช้รู้ว่าสมาร์ทโฟนทำอะไรได้มากมายกว่าการจัดการกับอีเมลหรือโทรศัพท์มาก นอกจากนั้นพวกเขาจำนวนมากยังย้ายค่ายไปอยู่กับผู้ผลิตอื่นๆ เช่น ซัมซุง โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
แบล็กเบอร์รีพยายามกู้ชื่อด้วยการออกระบบปฏิบัติการใหม่เมื่อวันที่ 30 มกราคม พร้อมกับเลิกใช้ชื่อบริษัท รีเสิร์ช อิน โมชัน โดยเปลี่ยนมาเป็นบริษัทแบล็กเบอร์รีแทน รวมทั้งลดราคาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ แต่สถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้น
บริษัทเพิ่งเปิดตัว “แซด10” สมาร์ทโฟนระบบทัชสกรีนในอเมริกาในเดือนมีนาคม ตามด้วย “คิว10“ ที่เน้นคุณสมบัติการพิมพ์ในช่วงปลายไตรมาสแรก
เจฟฟ์ เคแกน นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีชี้ว่า ปัญหาของแบล็กเบอร์รีมาจากความล้มเหลวในการสร้างการประชาสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและการโฆษณาภาพลักษณ์เพื่อสนับสนุนแบรนด์แต่เนิ่นๆ นอกจากนั้น บริษัทแห่งนี้ยังโดดเดี่ยวลูกค้าเดิมที่ต้องการคุณสมบัติและฟังก์ชันแบบเก่าผสมกับลูกเล่นใหม่ๆ ในโทรศัพท์รุ่นใหม่ แต่หันไปเอาใจลูกค้าใหม่ด้วยระบบปฏิบัติการใหม่ถอดด้าม
นักวิเคราะห์มองข้ามช็อตว่า หากคณะกรรมการเลือกขายกิจการ ใครจะสนใจซื้อแบล็กเบอร์รีบ้าง
โจ รันเดิล จากอีทีเอ็กซ์ แคปิตอล ตั้งข้อสังเกตว่า แม้มีเครือข่ายการรักษาความปลอดภัยและสิทธิบัตรจำนวนมากเป็นจุดขาย แต่คงหาคนสนใจแบล็กเบอร์รีได้ยาก เนื่องจากมีจุดอ่อนที่ไม่อาจมองข้ามได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องยอดขายตก ยุทธศาสตร์ไม่ประสบความสำเร็จ และผลิตภัณฑ์ขาดความเร้าใจ
รันเดิลมองว่า ทางเลือกที่เป็นไปได้มากกว่าคือการร่วมทุนหรือการประมูลซื้อโดยเฟซบุ๊ก ซึ่งเล็งเปิดตัวสมาร์ทโฟนของตัวเอง หรือไม่ก็ อเมซอน เจ้าวงการค้าปลีกออนไลน์ ที่กำลังมองหาทางขยับขยายหลังจากประสบความสำเร็จจากแท็บเล็ตคินเดิล
ผู้ที่อาจสนใจซื้อแบล็กเบอร์รียังรวมถึงไมโครซอฟท์ หัวเว่ย เลโนโว อย่างไรก็ดี สองรายหลังอาจถูกขัดขวางจากรัฐบาลแคนาดาด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ
แหล่งข่าวเผยว่า ก่อนหน้านี้นายแบงก์ในวอลล์สตรีทพยายามจับคู่แบล็กเบอร์รีกับบริษัทต่างๆ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงเอชทีซี และซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ทว่า ไม่ประสบความสำเร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น