xs
xsm
sm
md
lg

เตือนเร่งระบายน้ำรับพายุ เฝ้าระวัง10จ.ใต้ท่วมฉับพลัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 6 ส.ค.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการประสานข้อมูลสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้พื้นที่รับลมมรสุมบริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งที่ผ่านมาบริเวณดังกล่าว มีฝนตกชุกอยู่แล้ว ทำให้หลายพื้นที่ชุ่มน้ำ และแม้บางพื้นที่สถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย
แต่หากมีฝนตกเพิ่มเติม อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย 10 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 7-10 สิงหาคม 2556 ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสาน 10 จังหวัดภาคใต้ และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา เขต 18 ภูเก็ต จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย
ด้านดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ของพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าใกล้ประเทศเวียดนามตอนบน ช่วงวันที่ 7-9 ส.ค. ทำให้มีกลุ่มเมฆปกคลุมหนาแน่นบริเวณตะวันออกของประเทศไทย และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
จากข้อมูลน้ำและสภาพภูมิอากาศคาดการณ์ว่าสถานการณ์ของดีเปรสชั่นจะไม่รุนแรงมากเท่าพายุเซบี แต่ใกล้ประเทศไทยมากกว่า ทำให้ช่วงคืนของวันที่ 6-8 ส.ค. ทำให้พื้นที่ภาคอีสานด้านเหนือ เลาะลงมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี อีกด้านหนึ่งไปถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ น่าน พะเยา เชียงราย ประมาณฝนสูงถึง 80 มิลลิเมตรต่อวัน
ทั้งนี้ หลังจากที่ดีเปรสชั่นขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามจะกลายเป็นพายุโซนร้อน ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำเกิดขึ้นระหว่างประเทศไทยและลาว อย่างไรก็ตามต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงค่ำของวันที่ 6 ส.ค. ว่าดีเปรสชั่นจะกลายเป็นพายุโซนร้อน ลูกที่ 10 ที่ชื่อว่า "มังคุด" หรือไม่
ดร.รอยล บอกว่า สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ภาคอีสานอำนาจเจริญน้ำเริ่มเอ่อ น้ำในแม่น้ำโขงเริ่มสูงมาก ตอนบนบึงกาฬ สกลนคร น้ำเริ่มล้น แม้ว่าอิทธิพลจากดีเปรสชั่นลูกนี้จะไม่มาก แต่น้ำของเดิมที่มีค้างอยู่เยอะ ต้องเร่งระบายออก ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตรียมพร้อมแล้ว
"จังหวัดที่น่ากังวลคือน่านและเชียงรายเร่งระบายน้ำที่ยังค้างอยู่ แต่ก็เชื่อว่าไม่ง่าย ในกรณีของจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ถนนอยู่ระหว่างการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับจังหวัดตรัง"
กำลังโหลดความคิดเห็น