xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนหวั่น"ต้มยำกุ้ง2" หนี้รัฐส่อวิกฤตฟองสบู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคเอกชนเตือนนโยบายบริหารจัดการรัฐจะก่อให้เกิดวิกฤตฟองสบู่ครั้งใหม่ได้ หลังเห็นสัญญาณจากการก่อหนี้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและรถคันแรก แนะรัฐหารือร่วมกับภาคธุรกิจก่อนประกาศใช้นโยบาย เผยวันนี้แบงก์ไทยไม่ปล่อยกู้Real Sector แต่หันมาขูดรีดเงินค่าบริการต่างๆ

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนาเสวนา “ถอดบทเรียนฝ่าวิกฤติต้มยำกุ้ง “ จัดโดยฐานเศรษฐกิจ วานนี้ (4 ก.ค.)ว่า สิ่งที่กังวลในขณะนี้ คือ การบริหารจัดการของภาครัฐที่มีการใช้เงินจำนวนมากลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟฟ้าสายต่าง ๆ และรถไฟความเร็วสูง หลังจากปีก่อนรัฐมีนโยบายบ้านหลังแรกและรถคันแรก ทำให้หนี้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น การออมของภาคประชาชนน้อยลง ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าอาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่ ซึ่งจะต่างจากปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งเกิดจากปัญหาหนี้ภาคเอกชน แต่ครั้งนี้อาจจะเกิดจากการล้มเหลวจากรัฐบาล (Government Collapse) เพราะการบริหารงานประเทศจะต้องทำมากกว่านี้

โดยยอมรับว่า บทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเข้มแข็งขึ้น เชื่อว่าแม้จะเกิดวิกฤตฟองสบู่ขึ้นอีกครั้งก็คงไม่รุนแรงสำหรับภาคเอกชน เนื่องจากที่ผ่านมา ภาคการผลิตที่แท้จริง (Real Sector)ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ เหมือนที่รัฐบาลหลายประเทศทำกัน ทำให้ธุรกิจต้องแข็งแกร่งเพื่ออยู่รอดให้ได้

ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็น คือ ภาครัฐมีการหารือหรือปรึกษากับภาคเอกชนก่อนจะตัดสินใจมีนโยบายใดที่มีผลกระทบในวงกว้างออกมาออก โดยภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาครัฐตระเตรียมนโยบายให้สอดคล้อง ไม่ใช่ไปคนละทิศละทาง โดยยึดนโยบายตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
เป็นกรอบชองประเทศที่จะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

“วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 16ปีก่อน ทำให้ตนต้องเฉือนขายธุรกิจออกไป ซึ่งก็ไม่ได้โทษต่างชาติที่เข้ามาซื้อกิจการไทย แต่โทษคนที่เป็นผู้ปกครองเราทั้งรัฐบาล กระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ ที่ไม่ดูแลภาคเอกชนให้ดีกว่านี้ “

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บทเรียนจากวิกฤติปี 2540 เกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาลทั้งกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ดังนั้นรัฐบาลควรเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดดังกล่าวให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทฯนั้นๆ และทำให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใหญ่ธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งโครงการตั้งโรงปูนไลน์ที่ 4 ขนาดกำลังผลิตประมาณ 4 ล้านตัน นั้นพบว่าธนาคารพาณิชย์ไทยปล่อยกู้ไม่ถึง 20% ที่เหลือเป็นการปล่อยกู้เครื่องจักรจากต่างชาติทั้งเยอรมันี และเบลเยี่ยม เนื่องจากปัจจุบันแบงก์ไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือต่างชาติ เน้นให้สินเชื่อให้กับโครงการต่างชาติด้วยกันหรือบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลควรอนุญาตให้มีการตั้งแบงก์ของคนไทยขึ้นใหม่ได้ เพื่อช่วยเหลือภาค Real Sector ของไทยด้วยกัน

นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เหมราช พัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ปล่อยกู้โครงการขนาดใหญ่เพื่อรับดอกเบี้ยแล้ว แต่หันไปเก็บเงินจากค่าบริการต่างๆแทน ทำให้โอกาสที่คนรุ่นใหม่จะสร้างธุรกิจโดยกู้เงินเองเป็นไปได้ยาก ขณะที่ภาครัฐก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อใช้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยคิดอัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงในอัตราถูก แต่ไม่ได้คำนึงต้นทุนการก่อสร้างและโอเปอเรท สุดท้ายคนที่รับภาระหนี้ตรงนี้ก็คือประชาชนทุกคน แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้เสียภาษี เพราะทุกวันนี้สินค้าและบริการต่างๆถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)ด้วยกันทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น