xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานพม่าสร้างเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ข้อมูลเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ระบุเมื่อต้นปี 2556 ได้ประมาณการแรงงานข้ามชาติจำนวน 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา ในประเทศไทย ปัจจุบันมีประมาณ 2-2.5 ล้านคนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เคยได้รับการจดทะเบียนและเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมายในช่วงต้นปี 2555 โดยเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าประมาณ 80% เหตุปัจจัยหนึ่งของแรงงานข้ามชาติที่ทะลักเข้าสู่ประเทศไทยคือนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับกลุ่มสิทธิแรงงานพม่าอำเภอแม่สอด ชี้ว่า กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำอาจจูงใจให้ชาวพม่าเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น และสัมพันธ์กับข้อมูลของทางการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ผลจากการที่รัฐบาลประกาศปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวชาวพม่าหลายโรงงาน ประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือได้รับอัตราเงินค่าจ้างวันละ 300 บาท หรือเดือนละ 9,000 บาท ในขณะที่ค่าจ้างในพม่าปัจจุบันตกวันละ 30 บาท หรือเดือนละ 900 บาท จากผลอัตราค่าจ้างที่ต่างกันถึง 10 เท่าตัว จะทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทยอีกนับล้านคน โดยเฉพาะหัวเมืองทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ในปัจจุบันเมืองเศรษฐกิจทางภาคใต้อย่างจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะเขตอำเภอหาดใหญ่ ได้มีการแข่งขันภาคอสังหาริมทรัพย์สูงมากพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาคการบริการมหาศาล ส่งผลให้มีการจ้างงานการก่อสร้างโดยใช้แรงงานพม่าซึ่งทำงานสู้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับเพื่อนบ้านแรงงานชาวพม่าบางคนซึ่งพูดภาษาไทยได้บ้าง เพื่อทราบถึงสาเหตุการมาทำงานในเมืองไทย เพราะหวังว่าจะได้รับค่าจ้างเป็นกอบเป็นกำ เพื่อจะนำส่งเงินรายได้ไปสู่ครอบครัวในประเทศของตน ทำให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกอย่างหนึ่งการทำงานเมืองไทยนั้น มีอาหารการกินสมบูรณ์เนื่องจากชาวพม่าได้มีโอกาสเลือกซื้อสินค้าอาหารจากตลาดนัดหรือตลาดสดในตัวเมืองและมีโอกาสท่องเที่ยวอย่างอิสระด้วย ซึ่งข้อมูลจากแรงงานชาวพม่าดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเข้ามาขายแรงงานในประเทศไทย

ปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างพม่าที่จะกลายเป็นประเทศอาเซียนด้วยกันในอนาคต ไม่ได้ส่งผลกระทบในทางบวกเพื่อการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ผลกระทบในทางลบ พบปัญหาจากแรงงานต่างด้าวอยู่เสมอ เช่น ปัญหาทางสังคม การแย่งอาชีพของคนไทย ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ผู้เขียนคิดเห็นว่า หากยังปล่อยให้มีการพึ่งพาแรงงานเพื่อนบ้านสู่ระบบแรงงานของประเทศตามความกังวลที่หลายภาคส่วนคิดถึงอนาคตของการพัฒนาประเทศ คงเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของรัฐ ว่า นโยบายประชานิยมที่ใช้คิดหาเสียงครั้งต่อไป มีผลกระทบต่อคนไทยในทางลบมากกว่าทางบวกหรือไม่อย่างไร ผู้บริหารบ้านเมืองคงต้องกลับไปวางแผนทบทวนและหามาตรการป้องกันและแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเข้มข้น เพราะนั่นเท่ากับว่า ได้มีการคิดเชิงอนาคตแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น