xs
xsm
sm
md
lg

บาทแข็งสุดรอบ16ปี! 'ประสาร'รับแข็งเร็วขึ้น ส.อ.ท.จ่อถกธปท.รับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ค่าเงินบาทแตะ 29.33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งสุดรอบ 16 ปี หรือตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ผู้ว่าแบงก์ชาติยอมรับเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว ยันดูแลตามความเหมาะสม ไม่พูดแทรกแซงหรือไม่ แต่ไม่กังวล ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมและไม่ต้องประชุมบอร์ด กนง.เร่งด่วน มั่นใจกลไกอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันเหมือนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลเงินบาทอยู่แล้ว ด้านส.อ.ท.ตอกย้ำ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯก.พ. 56 วูบและต่ำกว่า 100 ติดต่อเป็นเดือนที่ 8 เผยหากบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องจ่อถกธปท.รับมือ

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เงินบาทเปิดตลาดช่วงเช้าอยู่ที่ระดับ 29.39-29.41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่ช่วงบ่ายจะปิดตลาดแข็งค่ามากสุดที่ระดับ 29.33-29.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ทำสถิติแข็งค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2540 หรือแข็งสุดในรอบ 16 ปี

นักบริการเงินธนาคารพาณิชย์ระบุว่า ปัจจัยการแข็งค่ามาจากเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาขายดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งอย่างต่อเนื่องดังกล่าว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้เงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะและรวดเร็ว แต่เงินบาทแข็งค่าขณะนี้ไม่ได้สร้างความกังวลอะไร เพราะเป็นการแข็งค่าเพียงวันเดียว อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม นอกจากติดตามเป็นรายวัน เนื่องจากตามปกติอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง ซึ่งหมายถึงเมื่อแข็งค่าในระดับหนึ่งก็จะอ่อนค่าลงมาเอง จึงขอรอดูอีกสักระยะหนึ่ง

“การแข็งค่าเงินบาทในช่วงนี้ไม่มีความจำเป็นต้องนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แบบเร่งด่วน ส่วนกระแสข่าวที่ว่าธปท.ไม่มีเงินเข้าไปดูแลค่าเงินนั้นขอปฏิเสธข่าวนี้ เพราะความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราทำตามความเหมาะสม”ผู้ว่าการธปท.กล่าวและว่า ช่วงนี้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไทย เพราะมีข่าวคราวเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดีและพื้นฐานเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่ง ทำให้มีต่างชาติเข้ามาลงทุนต่างๆ ในไทยค่อนข้างมาก

ด้านนางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านบิรหาร ธปท. กล่าวว่า แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินปี 55-59 สำหรับด้านการพัฒนาบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ระยะแรกจะส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตมากขึ้น โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับสรรพากรว่าจะสร้างแรงจูงใจด้านภาษีมาใช้แบบเดียวกับเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันการใช้บัตรเดบิตถอนเงินสดเป็นหลัก ส่วนปริมาณการใช้บัตรเดบิตเพื่อรูดซื้อสินค้าและบริการแค่ 1%ของจำนวนบัตรเดบิตทั้งระบบ จึงส่งผลให้ร้านค้าที่เป็นผู้รับบัตรและผู้ใช้บัตรเดบิตจะได้ลดค่าภาษีและมูลค่าผ่านบัตรเดบิตที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลดีต่อสรรพากรเช่นกัน

“ธปท.ได้เสนอแบบต่างๆ และหลักการให้แก่สรรพากรพิจารณา ซึ่งเขาก็เห็นด้วยและมีการหารืออย่างต่อเนื่อง โดยหลักการเขายังต้องการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินในการรับ-ส่งข้อมูลเหล่านี้ หรือยินยอมให้ผู้ใช้บริการกับร้านค้าส่งแผนเป็นแบบ Real-Time หรือทำแบบสรุปข้อมูลต่างๆ หรือประชาชนขอใบรับรองภาษี เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้รับ-จ่ายเงินจากประชาชนค่อนข้างมาก ทำให้ตอนนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางขอลดหย่อนค่าบริการ e-Payment แทนการใช้เงินสดหรือเช็ค”

ทั้งนี้ วันที่ 1 ก.ย.นี้ ได้กำหนดผู้ให้บริการบัตรเดบิตที่ออกและใช้จ่ายภายในประเทศไทยต้องใช้เครือข่ายภายในประเทศ(Local Switching) เท่านั้น ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าการอาศัยเครือข่ายในต่างประเทศอย่างปัจจุบัน เช่น วีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ด ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้แก่เครือข่ายต่างชาติประมาณ 1,000 ล้านบาทในแต่ละปีและการกำกับดูแลเครือข่ายต่างชาติทำได้ยาก เพราะข้อมูลอยู่นอกประเทศ ฉะนั้นในระยะแรกจะใช้ Local Switching เฉพาะบัตรเดบิตก่อน หลังจากนั้นจะพัฒนาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่นต่อไป

**ดันใช้ กม.บัตรเครดิตคลุมนอนแบงก์**

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิต ขณะนี้กำลังร่างพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเป็นรายมาตรา โดยหากพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านภาพของธุรกิจบัตรเครดิตจะเปลี่ยนแปลงไป โดยจะกำหนดสถาบันการเงินไทยและบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่ประกอบธุรกิจนี้จะใช้กฎหมายฉบับเดียวกันในการกำกับและดูแล จากปัจจุบันที่แยก พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินจะดูแลผู้ให้บริการบัตรเครดิตของสถาบันการเงิน ขณะที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 จะดูแลนอนแบงก์

**ส.อ.ท.ถกธปท.แก้บาทแข็ง

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (TISI) ในเดือนกุมภาพันธ์ 56 จำนวน 1,076 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ระดับ 95.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.3 ในเดือน ม.ค.56 และยังคงเป็นค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 8 เนื่องจากเดือน ก.พ.มีวันทำงานน้อยและอยู่ในเทศกาลตรุษจีน โรงงานบางแห่งได้หยุดดำเนินการ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังมีความกังวลและได้รับผลกระทบต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งจากค่าแรง 300 บาทต่อวัน ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้น รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท

“ ขณะนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นทั้งค่าแรง ราคาวัตถุดิบและยังมีความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ กลับมีค่าเงินอ่อนค่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตรงข้ามกับไทยที่แข็งค่ามาเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย
หากบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องเราอาจจะต้องไปขอหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อีกครั้ง” นายพยุงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือน ก.พ.คือ ต้องการให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือ อีกทั้งเร่งหามาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมทั้งกำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ และสนับสนุนให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องของกิจการ รวมถึงสามารถถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น