xs
xsm
sm
md
lg

กระจายอำนาจแก้ปัญหาชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: “สันติชน”

ถึงเวลาคนไทยทั้งประเทศต้องสนใจชีวิตของเพื่อนร่วมชาติ เพราะปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สะสมมาร่วมร้อยปีและเฉพาะเพียง 9 ปี (2547 – 2555) พี่น้องของเราเสียชีวิตไปมากกว่า 5,000 คน เหตุการณ์กลุ่มคนร้ายนับสิบพร้อมอาวุธปืนสงครามบุกค่ายทหารนาวิกโยธิน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อตี 1 คืนวันที่ 13 ก.พ. 2556 หวังสังหารเจ้าหน้าที่ทหารและปล้นอาวุธปืนอย่างที่เคยทำสำเร็จหลายครั้งตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 คราวนี้พลาดและต้องเสียชีวิตกว่า 16 ศพ ผมคิดว่าเป็นเรื่องเศร้าสลดของสังคมไทยที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดที่มีมานานได้

การทำลายชีวิตของคนไทยด้วยกันมากกว่า 5,000 ศพ รวมถึงเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งในช่วง 10 ปีนี้ ควรเป็นบทเรียนให้รัฐบาลทบทวนหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองว่ามีมากน้อยเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะคนเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซึ่งทางจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ควรปัดความรับผิดชอบให้ใคร แม้ทำได้ในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะขณะพี่น้องประชาชนต้องตายเป็นใบไม้ร่วง แต่ตัวท่านยังมีงานรื่นเริงผ่านทางสื่อมวลชนทุกวัน

คนไทยควรหาเวลาติดตามค้นหาสาเหตุทำให้เกิดปัญหา ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจทั้งเป็นบุคคลและกลุ่มบุคคลทั้งคนธรรมดาสามัญ จนถึงนักวิชาการและผู้มีอำนาจหน้าที่ในวงราชการและรัฐสภาให้คำอธิบายไว้แล้วมากมาย เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ กอ.รมน. ศอ.บต. มหาวิทยาลัยหลายแห่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา เป็นต้น

สำหรับผู้เขียนเห็นว่า สาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงมาจาก 3 สาเหตุหลัก (1) ทุกรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงสาเหตุ (ยกเว้นรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 2521 – 2531 ซึ่งเข้าใจประชาชนดี) (2) ประชาชนไม่แสดงความต้องการให้เห็นชัดเจน และ (3) รัฐบาลกระจายอำนาจให้ประชาชนหรือตัวแทนประชาชนน้อยไป

สาเหตุข้อแรกผมคิดว่าตราบใดรัฐบาลยังแก้ปัญหาแบบทุกวันนี้ ก็จะได้ผลเท่านี้ เพราะรัฐบาลรวมอำนาจไว้ที่รัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหาร ผู้บัญชาการตำรวจ อธิบดีและผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าลักษณะ “ตาบอดคลำช้าง” ส่วนสาเหตุข้อที่ 2 ควรยอมรับว่าประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถแสดงออกความต้องการโดยตรงได้เพียงเท่านี้ เพราะมีโอกาสหรือเวทีแสดงน้อย การพูดภาษาไทยก็ลำบาก การที่หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรใดจะรู้ความต้องการ (Need) จริงๆ ของประชาชนจึงทำได้ยากมาก อย่างดีก็แค่ “งูๆ ปลาๆ” เช่นที่ปรากฏในแผนพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ ถึงจะใช้เงินงบประมาณเป็นหมื่นล้านแสนล้านก็เหมือน “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ส่วนสาเหตุข้อที่ 3 กระจายอำนาจ เป็นประเด็นถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาได้ดีกว่า แต่รัฐบาลไม่ทำหรือทำน้อยไป

ผู้เขียนเห็นด้วยกับกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลกระจายอำนาจ (Decentralization) หรือให้สิทธิปกครองตนเอง (Autonomy) มากขึ้น แต่รายละเอียดของผู้เขียนแตกต่าง โดยผู้เขียนมองว่าการกระจายอำนาจ อาจทำได้อย่างน้อย 6 วิธี/รูปแบบ ตามภาพ

6. กระจายโดยวิธีอื่นๆ ในอนาคตหากคิดได้ว่าเหมาะสม
5. กระจายผ่านองค์กรบริหารของรัฐ เช่น ศอ.บต. (ควรเพิ่มอีก)
4. กระจายผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้านให้หมู่บ้านเข้มแข็ง (ควรเพิ่มอีก)
3. กระจายผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เลือกตั้งหมดแล้ว)
2. กระจายผ่านทางศาสนา เช่น ศาล (ดะโต๊ะยุติธรรม)
1. กระจายถึงประชาชนโดยตรง (สิทธิเสรีภาพ)


รัฐบาลวันนี้ (หลังเหตุการณ์วันที่ 13 ก.พ. 2556) ควรรณรงค์ให้ภาครัฐ และประชาชนคนไทยทั้งประเทศเดินหน้าสู่แนวทาง “สันติวิธี” ซึ่งเป็นวิธีที่ทุกรัฐบาลพยายามพูดแต่ไม่ได้ทำจริงจัง โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงเท่าที่จำเป็นและพยายามผ่อนคลาย เช่น ใช้กำลังทหารน้อยลงในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบลที่มีเหตุการณ์รุนแรงไม่มากหรือส่งมอบพื้นที่ทหารให้ฝ่ายพลเรือนและตำรวจดูแล เช่น ฝ่ายทหารได้ส่งมอบพื้นที่ อ.จะนะ และ อ.นาทวี จ.สงขลา เมื่อเดือนมกราคม 2556 และน่าพิจารณาส่งมอบ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และอ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ได้อีก เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ประชาชนเครียดกับเหตุการณ์ตลอด 9 ปี เด็กๆ วันนั้นอายุ 7 ขวบ เริ่มไปโรงเรียนได้เห็นอาวุธสงครามทุกวัน บัดนี้ลูกหลานของเราอายุ 16 ปีแล้ว จิตใจของเขาจะเป็นอย่างไรหนอ แข็งกร้าวหรืออ่อนโยน รุนแรงหรือสันติ

“สันติวิธี” คือ การกระจายอำนาจ

ควรกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2 วิธี หนึ่งผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 รูปแบบ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เช่นในเรื่อง (1) ส่งเสริมการท่องเที่ยว (2) การกีฬา (3) กิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (4) ส่งเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้สูงอายุ (5) สวัสดิการสังคม (6) ส่งเสริมสหกรณ์ (7) ส่งเสริมการเกษตร (8) ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (9) ส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง (10) ส่งเสริมการมีงานทำ (11) พัฒนาฝีมือแรงงาน (12) การศาสนาทุกศาสนา (13) การปฏิบัติศาสนกิจตามคัมภีร์อัลกุรอาน เช่น การไปทำฮัจญ์ การประกอบศาสนพิธีในวันสำคัญ (14) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี (15) ส่งเสริมสุขภาพและอนามัยของประชาชน เป็นต้น

สอง ผ่านทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ และเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ผ่านทางนายอำเภอ โดยควรจัดสรรงบประมาณและมอบอำนาจของราชการส่วนกลางบางอย่างโดยเฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้หมู่บ้านเข้มแข็ง สามารถจัดการดูแลตนเองได้มากขึ้น เช่น (1) การจัดชุด ชคบ. และ ชคต. (2) การปฏิบัติหน้าที่ของ อส (3) การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน (4) การปฏิบัติหน้าที่ของ ชรบ. (5) การปฏิบัติหน้าที่ของ อปพร. (6) การปฏิบัติหน้าที่ของอาสาพัฒนาชุมชน (7) การทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย และญาติพี่น้อง ให้ยุติการก่อการเหตุร้าย (8) รายงานปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับตำบล หมู่บ้าน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบ (9) การทำการแทนตามที่นายอำเภอมอบหมาย เป็นต้น

การกระจายอำนาจเป็นสันติวิธีในตัวเอง ระยะแรกนักการเมืองและข้าราชการประจำอาจรู้สึกสูญเสียอะไรไปบ้าง โดยเฉพาะรายได้ ทรัพย์สิน เงินทองที่เกิดจากคอร์รัปชัน แต่ขอให้ท่านคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การกระจายอำนาจอาจไม่ทำให้หยุดก่อเหตุร้ายทันที เพราะกลุ่มก่อเหตุร้ายยังไม่เชื่อมั่นฝ่ายรัฐมีความจริงใจ แต่นานวันสถานการณ์จะดีขึ้น จนถึงสภาพที่คนต่างวัฒนธรรมมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้แบบพหุสังคม เช่นที่มาเลเซียประเทศเพื่อนบ้านที่ดีของเราทำสำเร็จในระดับน่าพอใจทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น