xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ขู่แก๊งฟันมาร์ค-เทือก ไม่หยุดบ้านเมืองวุ่นวายแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"องอาจ" ชี้ 4 พิรุธ มัด ดีเอสไอ-ตำรวจ-อัยการ เล่นงาน"มาร์ค-เทือก" ตามใบสั่งการเมือง เตือนขืนเดินหน้าต่อบ้านเมืองวุ่นวาย แน่ แฉแผนอำมหิตเพิ่มข้อหาให้มากที่สุด จวกรัฐแก้แค้น ไม่ใช่แก้ไข ด้าน"เด็จพี่" อัดปชป.เลิกข่มขู่"ธาริต" ป้องดีเอสไอทำคดีตรงไปตรงมา ไม่มีตั้งธง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งข้อกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ จากดีเอสไอ ว่า มีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับว่าเป็นการทำตามใบสั่งทางการเมือง มากกว่าการดำเนินคดีตามปกติ

สาเหตุที่ทำให้พรรคมองดีเอสไอ อัยการ ตำรวจ ทำตามใบสั่งทางการเมืองด้วยเหตุผลดังนี้

1. ข้อกล่าวหาที่ตั้งไม่ครอบคลุมรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้งหมด จึงเท่ากับว่า ไม่ครบถ้วน เพราะไม่มีการกล่าวถึงการชุมนุมที่รุนแรง มีอาวุธ จนเป็นสาเหตุที่เกิดคำสั่งตามมา เพราะไม่ใช่อยู่ดี ๆ บุคคลทั้งสอง จะออกคำสั่ง เพราะหากการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ คำสั่งดังกล่าวก็ออกไม่ได้ และศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การชุมนุมดังกล่าวผิดกฎหมาย

ดังนั้นการกล่าวหาต้องมีรายละเอียดให้ครบถ้วน ถึงเหตุการณ์ ไม่ใช่ตัดเป็นตอนๆ ซึ่งจะทำให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องใบสั่งทางการเมือง

2. มีการบิดเบือนข้อกล่าวหาเพื่อให้อำนาจการสืบสวนสอบสวน อยู่กับ ดีเอสไอ ที่รัฐบาลสั่งได้ เพื่อทำสำนวนเกินความจริง

3. เจตนาเพิ่มความผิดให้นายอภิสิทธิ์ กับนายสุเทพ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการทำเป็นรายคดี ถ้าศาลตัดสินว่า มีความผิด ก็จะได้รับโทษมากตามคดีที่มีการดำเนินการ เป็นความพยายามเพิ่มโทษให้ได้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นผลร้ายต่อบ้านเมือง ดังนั้นรัฐบาลจึงควรให้เจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม เพราะถ้าไม่เป็นธรรม เท่ากับรัฐบาลแก้แค้น ไม่แก้ไข ซึ่งไม่เป็นผลดีกับบ้านเมือง

ทั้งนี้ ในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ตนทราบว่า ดีเอสไอ อัยการ และตำรวจ จะมีการประชุมแจ้งข้อหาพยายามฆ่า กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 2 พันราย และแยกสำนวน แยกข้อหาเป็นรายคดีทั้งหมด ทั้งที่การออกคำสั่งของบุคคลทั้งสอง เป็นการออกคำสั่งเพียงครั้งเดียว จึงเป็นการกระทำครั้งเดียว ไม่ใช่นำผลมานับเป็นคดี จึงขอเรียกร้องไปยัง ดีเอสไอ อัยการ และตำรวจ ต้องยึดหลักความเป็นธรรม แก่ผู้ถูกกล่าวหา ดำเนินโดยหลักนิติธรรม เพื่อไม่ให้เป็นการกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายเกินกว่าความเป็นจริง เพราะยิ่งฝ่ายบ้านเมืองพยายามกลั่นแกล้ง หรือยัดเยียดข้อหาเกินความจริง จะทำให้คนเห็นว่า รัฐบาลใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม ดีเอสไอ อยู่ภายใต้การบงการของรัฐบาล ดังนั้น การดำเนินการที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม จะยิ่งก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เพราะผู้ติดตามก็จะรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมไปด้วย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม และหลักนิติรัฐ อย่ายอมให้คำสั่งทางการเมือง กลายเป็นปัญหาของประเทศ

**อัด ปชป.เลิกกดดัน"ธาริต"

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และนายถวิล เปลี่ยนสี อดีตเลขาสมช. ออกมาให้สัมภาษณ์ ว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) น่าจะลาออกจากหัวหน้าพนักงานสอบสวน และพยามดำเนินคดี และฟ้องธาริต กล่าวหาว่า มีการตั้งธงในการดำเนินคดี การสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ว่า น่าจะเป็นลักษณะการกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และนายธาริต เองทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ มา 2 ปี 8 เดือน อยู่กับ ศอฉ.ด้วย และมาทำงานกับรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ เพียงปีเศษ ถามถึงความใกล้ชิด ความคุ้นเคยว่า ใครคุ้นเคยกว่ากัน

ส่วนกรณีที่มองว่า ดีเอสไอ ตั้งธงไว้นั้น เชื่อว่านายธาริต ทำงานตรงไปตรงมา ประชาชนเข้าใจได้ เรื่องนี้ไม่มีธงและไม่กลั่นแกล้ง เพราะศาลชั้นต้นก็ตัดสินแล้วว่า เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งพ.ร.บ.คุ้มครองเจ้าหน้าที่ แต่หากเกินกว่าเหตุ คนมีอำนาจสูงสุด คือ นายกฯ หรือ ผอ.ศอฉ. ต้องรับผิดชอบ

ดังนั้น อยากให้นายอภิสิทธิ์ เคารพกระบวนการยุติธรรม และการทำงานของดีเอสไอ ตอนเป็นรัฐบาลก็ให้ความเชื่อมั่น และเคารพกระบวนการยุติธรรม แต่พอวันนี้ เมื่อถูกตรวจสอบดำเนินคดี ก็มองว่า ไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ควรให้สมาชิกพรรคเลิกข่มขู่ คุกคาม เจ้าหน้าที่ได้แล้ว ทำให้ประชาชนมองว่า เป็นพวกขี้แพ้ชวนตี แม้เรื่องภาพพิมพ์ลายนิ้วมือ ก็ออกมาจี้ให้เอาผิดเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ ทำไมแค่รูปพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำเป็นเรื่องใหญ่ ไปได้

**ศาลนัดไต่สวนการตาย"อากง"17ธ.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 17 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนการตายของ นายอำพล หรือ อากง ในคดีที่ อช.10/2555 ซึ่งเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.55

นายอำพล หรืออากง ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยการส่งข้อความสั้น 4 ครั้ง ไปยัง นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการนายกรัฐมนตรี สมัยนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 และศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี โดยนายอำพล ถูกคุมขังนับตั้งแต่วันฟ้องตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 54 และไม่ได้รับสิทธิในการขอปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากความพยายามยื่นขอปล่อยตัวทั้งหมด 8 ครั้ง จนกระทั่งนายอำพล เสียชีวิตในระหว่างการเตรียมการเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ณ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันที่ 8 พ.ค. สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ระบุ สาเหตุการตายในรายงานการตรวจศพว่า ตายเนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิต และการหายใจล้มเหลว สันนิษฐานจากมะเร็งตับระยะลุกลาม

สำหรับคดีไต่สวนการตายนายอำพล เนื่องจากเป็นการตายระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และให้ศาลไต่สวนคำร้อง และทำคำสั่งเพื่อแสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด สาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ศาลอาญาจึงได้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 17ธ.ค. นี้ โดยญาตินายอำพล จะยื่นขอเข้าเป็นผู้ร้องคัดค้าน ในวันดังกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น