xs
xsm
sm
md
lg

พล นิกร กิมหงวน

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ตอนผมเด็กๆ วันที่หนังสือ พล นิกร กิมหงวน ตอนใหม่ออก ปู่ผมจะนั่งรถไปรอที่เวิ้งนาครเขษม พอหนังสือออกทางโรงพิมพ์ก็รีบนำมาให้ เราจึงได้อ่านก่อน เวลานั้นผมคงอายุสัก 7-8 ขวบเท่านั้น

​สมัยก่อนทีวียังไม่มี ดังนั้นหนังสือจึงเป็นสิ่งเดียวที่คนใช้ในการหาความสุข พล นิกร กิมหงวน นี้ผู้เขียนคือ ป.อินทรปาลิต ผู้เคยเป็นนักเรียนนายร้อย ดังนั้นจึงรู้เรื่องทหารและการใช้อาวุธดี เรื่อง พล นิกร กิมหงวน หลายตอนจึงมีเรื่องการรบ

​ป.อินทรปาลิต เข้าใจเลือกตัวละคร พลและนิกรเป็นลูกขุนนางสมัยเก่าคือ เป็นพระยา ตัวละครพระยาปัจจนึกพินาศ ศีรษะล้าน จึงเป็นที่ล้อเลียนของสามสหาย เมียพระยาปัจจนึกและพระยาประสิทธิ์ก็เปิดบ้านเล่นไพ่ตองเป็นประจำ ที่บ้านมียามเป็นอาบัง และมีคนใช้หลายคนที่เป็นตัวชูโรงคือ นายแห้ว โหระพากุล

​นอกจาก พล นิกร กิมหงวน แล้ว ตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่งก็คือ ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ ซึ่งเป็นทั้งหมอ และนักวิทยาศาสตร์ เคยอยู่อินเดีย และอวดโม้อยู่เสมอว่าได้รักษามหาราชาหลายพระองค์ ดิเรกเป็นตัวแทนของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เขามีความสามารถในการสร้างหุ่นยนต์

​ครอบครัวของสี่สหายเป็นคนชั้นกลางระดับสูง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สบาย โดยเฉพาะเสี่ยกิมหงวนไทยแท้ที่ร่ำรวยมาก การแสดงความร่ำรวยของกิมหงวนคือ การฉีกแบงก์

​ป.อินทรปาลิต วางตัวละครให้มีอุปนิสัยเฉพาะตัว พระเอกรูปหล่อคือ พล นิกร เป็นคนสุขุม แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันก็คือ การกลัวเมีย และทุกคนกินเหล้าเที่ยวบาร์

​พล. นิกร กิมหงวน เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ และคนทุกวัยแม้แต่ปู่ผมก็ยังติด กล่าวได้ว่าหัสนิยายชุดนี้ นอกจากสะท้อนสภาพสังคมไทยหลังสงครามแล้ว ก็ยังช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องของผู้ใหญ่หลายเรื่อง

​เราลองมาคิดดูว่า หัสนิยายชุดนี้ให้อะไรกับคนรุ่นก่อนบ้าง ที่พอคิดได้ก็คือ

​1. ได้สร้างความรู้สึกรักชาติ เพราะในเรื่องมีหลายตอนที่ไทยเข้าสงคราม หรือไม่ก็เป็นการเชียร์มวยชิงแชมป์โลก
​2. ให้ความบันเทิง เพราะเรื่องทุกตอนเป็นเรื่องตลกมีมุกขำขันมากมาย
​3. ก่อให้เกิดคำใหม่ๆ เช่น “เชย” ตามตัวละครลุงเชยที่มาจากบ้านนอก
​4. แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไทยกับคนจีน ผ่านตัวละครกิมหงวน
​5. เป็นการฉายภาพครอบครัวไทยยุคก่อน ซึ่งเป็นครอบครัวขยายมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายอยู่ร่วมกัน
​6. ให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แผนใหม่ ผ่าน ดร.ดิเรก
​7. บรรยายความเป็นอยู่ของคนในกรุงเทพฯ ยุคหลังสงครามมีสถานที่หลายแห่งซึ่งเป็นแหล่งบันเทิง และร้านอาหาร
​8. เป็นหนังสือที่ให้แต่ความสนุกสนาน ไม่มีเรื่องที่เป็นพิษเป็นภัย

​สมัยก่อนย่านบันเทิงไทยยังไม่มีมากมายเหมือนสมัยนี้ ย่านเยาวราช ราชวงศ์เป็นถิ่นที่คนชอบไปทานอาหาร ต่อมาจึงมาแหล่งบันเทิงคือ โรงภาพยนตร์คิงส์ ควีนส์ และแกรนด์ โดยอยู่ใกล้สะพานหัน รอบๆ โรงหนังมีร้านขายเสื้อผ้า และอาหาร เซ็นทรัลร้านแรกก็อยู่ในซอยข้างๆ โรงหนัง วันหยุดจะเป็นวัยรุ่นไปเดินกันมากมาย ค่าดูหนังแต่ก่อนก็แค่ 15-20 บาทเท่านั้น ชั้นต่ำสุดคือ 7 บาท

​หลังจากยุควังบูรพาซึ่งเป็นโครงการของคุณโอสถ โกศิน แล้ว ก็เป็นยุคแหล่งชอปปิ้งถนนเกสร ที่นี่มีโรงโบว์ลิ่งที่วัยรุ่นชอบไป มีไนต์คลับชานิชาโต และร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยคือ ร้านกัว มีห้างไดมารูและตรงกันข้ามก็มีร้านโกลเด้นเอ็ก เป็นร้านอาหารสมัยใหม่

​สถานที่หย่อนใจยอดฮิตอีกแห่งหนึ่งก็คือ สวนลุมพินีซึ่งมีปลาหมึกย่าง และเย็นตาโฟอร่อย วิธีการก็คือขับรถไปนั่งกินกันในรถ ตอนกลางคืนก็ไปกินไอติมราชวงศ์ ซึ่งมีการคิดถาดติดรถมาให้คนกินบะหมี่ นอกจากนั้นแถวๆ วรจักรก็มีก๋วยเตี๋ยวไก่วังแดง คนชอบไปกินหลังดูหนังรอบดึกจบแล้ว

​หัสนิยายพล นิกร กิมหงวน ทำให้เด็กๆ รู้เรื่องของผู้ใหญ่หลายเรื่อง โดยเฉพาะการไปเที่ยวผู้หญิง มีบ้านเจ๊หนอม สมัยก่อนอาบ อบ นวด ยังไม่มี พวกสี่สหายจะชอบไปกินเหล้าที่บาร์ด้วย จนทำให้เราคิดว่าการกินเหล้าเที่ยวผู้หญิงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ชายสมัยก่อน

​พอ ป.อินทรปาลิตตายไป พล นิกร กิมหงวนก็ยังมีออกมาขาย แต่ผมซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้อ่านแล้วก็คิดว่าคงมีคนเขียนแทนไม่สนุกเท่ากับของแท้

​ผมไม่แน่ใจว่าเด็กสมัยนี้จะยังชอบ พล นิกร กิมหงวนหรือไม่ รุ่นลูกชายคนโตของผมยังอ่านอยู่ แต่มาถึงลูกชายคนเล็กก็ไม่อ่านเสียแล้ว พล นิกร กิมหงวนได้กลายเป็นตำนานไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น